ยะห์ อาลี...อีกหนึ่ง“พลังสตรี”ปกป้องสิทธิมนุษยชนชายแดนใต้
วันสตรีสากลปีนี้ ไม่แน่ว่าเป็นเพราะบ้านเมืองอยู่ในภาวะไม่ปกติหรือไม่ จึงมีการเคลื่อนไหวจัดกิจกรรมกันค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะสตรีจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พื้นที่ขัดแย้งที่เต็มไปด้วยความรุนแรง ซึ่งทุกปีมักถูกพูดถึงตลอด
สปอตไลท์กลับไปฉายจับที่ประเด็น “ป้ามล” ทิชา ณ นคร ลาออกจากคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ จากความผิดหวังที่ผลักดันบทบาทสตรีในทางการเมืองไม่สำเร็จ เพราะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเสียส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย
ชะตากรรมของทิชา ในบริบทของการจัดทำกติการะดับประเทศเพื่อเปิดพื้นที่ให้ “ผู้หญิง” ทำให้หลายคนมองอนาคตบทบาทหญิงไทยอย่างสิ้นหวัง
ทั้งๆ ที่ผู้หญิงบ้านเรามีความสามารถเป็นที่ยอมรับ แม้แต่ผู้หญิงในพื้นที่ขัดแย้งและรุนแรงอย่างสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งดังที่พูดไปตอนต้นว่าข่าวคราวปีนี้ถึงจะไม่เปรี้ยงปร้างเพราะบรรยากาศไม่เอื้อ แต่ผู้หญิงจากปลายด้ามขวานก็ฝากฝีไม้ลายมือไว้ให้ได้โจษขานกันตลอด
ที่ต้องบันทึกไว้คือ ยะห์ อาลี ประธานเครือข่ายสตรีชายแดนใต้เพื่อสันติภาพ นักจัดรายการวิทยุชุมชนจากเครือข่ายวิทยุชุมชนจังหวัดปัตตานี ซึ่งเธอได้รับรางวัลบุคคลและองค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2556 ประเภทบุคคลภาคสื่อมวลชน จากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ซึ่งเป็นรางวัลปีล่าสุดของ กสม.
“ดีใจและภูมิใจมากที่ได้รับคัดเลือกให้ได้รับรางวัลนี้ เพราะไม่เคยคิดมาก่อน และที่ผ่านมาก็ทำงานโดยไม่ได้หวังรางวัลใดๆ” ยะห์ อาลี เผยความรู้สึกต่อรางวัลแห่งเกียรติยศจากการพากเพียรทำงานของเธอ
ยะห์ อาลี เป็นผู้จัดรายการ “เสียงจากเครือข่ายสตรีเพื่อสันติภาพ” ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย (สวท.) จ.ปัตตานี และผู้จัดรายการวิทยุชุมชน ช่วงเวลา 19.35-20.00 น.ของทุกวัน รวมทั้งรายการเสียงวานิตา ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 16.10-17.00 น. ผลิตโดยกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี จ.ปัตตานี โดยทั้งสองรายการเผยแพร่ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เอฟเอ็ม 107.25
นอกจากนั้น เธอยังทำงานเป็นประธานเครือข่ายสตรีชายแดนใต้เพื่อสันติภาพ ที่สนับสนุนโดย โครงการสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นเพื่อฟื้นฟูชายแดนภาคใต้ ระยะขยาย(ช.ช.ต.) สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (แอลดีไอ) อีกด้วย
ยะห์ อาลี บอกเล่าถึงประสบการณ์การจัดรายการวิทยุว่า เริ่มเรียนรู้กระบวนการจัดรายการวิทยุจากการเป็นผู้ประสานงานวิทยุชุมชน และลงพื้นที่จัดเวทีในชุมชนต่างๆ ทั้งจุดเตราะบอน ทรายขาว และจุดเมือง (ใน จ.ปัตตานี) ทำเรื่องสวัสดิการชุมชน จัดตั้งสวัสดิการผู้นำจากองค์กรต่างๆ ของปัตตานี จัดตั้งเครือข่ายวิทยุชุมชน จ.ปัตตานีเมื่อปี 2549 จัดเวทีอบรมผลิตรายการให้ความรู้เรื่องธรรมรัฐท้องถิ่น ให้ความรู้เรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การบริหารจัดการท้องถิ่น การเมืองรากหญ้า เขียนบทรายการวิทยุนำเสนอเป็นภาษาไทยและภาษายาวี
แต่เมื่อการเมืองเปลี่ยน คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามามีอำนาจ และสั่งปิดวิทยุชุมชนทั่วประเทศ ก่อนจะผ่อนคลายให้กับบางสถานี ทว่าช่วงนั้นเธอก็ไม่ได้หวั่นไหว ยังคงทำหน้าที่สื่อมวลชนอย่างมุ่งมั่นตั้งใจ
“ผลกระทบจากการปิดวิทยุชุมชนที่เห็นได้ชัดในพื้นที่ชายแดนใต้ก็คือ ชาวบ้านไม่ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารในเรื่องศาสนาและอื่นๆ ที่สำคัญในชีวิตประจำวัน เพราะวิทยุเป็นสื่อที่เข้าถึงง่ายและมากที่สุดในพื้นที่นี้ ขณะเดียวกันผู้ที่เกี่ยวข้องในวิทยุชุมชนก็ต้องพากันตกงาน แต่ก๊ะ (คำเรียกแทนตัวเองของหญิงมุสลิม) ไม่เคยท้อ มีสถานีวิทยุอื่นที่เสนอให้จัดรายการ และทำมาจนทุกวันนี้”
ในด้านการทำงานเพื่อสังคม ยะห์ อาลี บอกว่าผู้หญิงต้องพัฒนาด้านการสื่อสารอีกมาก เพราะผู้หญิงสามารถเป็นคนสร้างและถ่ายทอดเรื่องราวดีๆ ในพื้นที่ออกสู่สังคมภายนอกได้อีกมาก
“ด้วยวิธีการสื่อสารที่มีมากในปัจจุบัน ต้องเตรียมและสร้างคนในพื้นที่ให้พร้อม ให้เป็นกลไกการขับเคลื่อนในอนาคตที่จะมีสถานีโทรทัศน์ชุมชน”
ด้านการทำงานกับเครือข่ายสตรีชายแดนใต้เพื่อสันติภาพ ยะห์ อาลี บอกว่า เน้นบทบาทการให้ความช่วยเหลือ ให้คำปรึกษา และเป็นตัวเชื่อมไปยังหน่วยงานต่างๆ เช่น การลงพื้นที่ร่วมกับศูนย์ทนายความมุสลิมในการช่วยเหลือผู้ต้องสงสัยในคดีความมั่นคง พูดคุยกับตัวผู้ต้องสงสัยหรือรับทราบความคาดหวังของครอบครัวผู้ต้องสงสัย เป็นสื่อกลางนำความช่วยเหลือ ติดตามความคืบหน้า ประสานงาน รวมทั้งนำสิ่งที่ได้รับรู้ในการลงพื้นที่ในแง่มุมต่างๆ มาสื่อสารในรายการวิทยุอีกทอดหนึ่ง
นี่คือบทบาทของหญิงเก่งจากชายแดนใต้ที่สมควรบันทึกไว้ในวันที่ใครๆ ต่างเพรียกหาพลังแห่งสตรี!