‘บวรศักดิ์’ แจงภาพรวมยกร่างรธน. สร้าง ‘พลเมือง’ เป็นใหญ่ ก้าวหน้ากว่าเก่า
ปธ.กมธ.ยกร่างฯ แจงภาพรวม รธน.ฉบับใหม่ ยันสร้าง ‘พลเมือง’ เป็นใหญ่ชัดเจน เน้นหลักสิทธิมนุษยชน-สิทธิพลเมือง ไม่ว่าคนสัญชาติใด อยู่เมืองไทย มีสิทธิเท่าเทียมกัน เพิ่มอำนาจ ปชช.เข้าชื่อเสนอร่าง กม. ระบุแม้ยุบสภา พิจารณาต่อได้ ไม่ต้องขอความเห็นสภา
วันที่ 10 มีนาคม 2558 ที่รัฐสภา นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ชี้แจงภาพรวมเกี่ยวกับการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ตอนหนึ่งเกี่ยวกับการทำให้ราษฎรเป็นพลเมือง (citizen) ว่า จะต้องสร้าง ไม่ใช่เกิดขึ้นเอง ดังนั้น ร่าง รธน.ฉบับนี้จึงพูดถึงความเป็นพลเมืองที่ดี และกำหนดหน้าที่ต้องสร้างความเป็นพลเมือง ให้เห็นกิจการบ้านเมืองเป็นเรื่องของตัวเอง เห็นการบ้านการเมืองสำคัญเหมือนการบ้านที่ตัวเองต้องทำ เข้ามามีส่วนร่วมทุกระดับ มีหน้าที่ต่อสังคมและบ้านเมือง เข้ามามีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการบริหารบ้านเมือง
“เนื่องจาก รธน.ฉบับนี้ตั้งองค์กรพลเมืองขึ้นมาก เราก็เขียนไว้ชัดเจนว่า การเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในสมัชชาคุณธรรม สมัชชาพลเมือง และสภาตรวจสอบภาคประชาชน ของพลเมืองทั้งหลาย เป็นหน้าที่มีเกียรติ เสียสละ ที่พึงทำด้วยความเต็มใจ เพราะฉะนั้นประโยชน์ตอบแทนทั้งหลายจึงไม่ใช่สิ่งสำคัญ”
นอกจากยกระดับราษฎรเป็นพลเมืองแล้ว ประธาน กมธ.ยกร่างฯ กล่าวต่อว่า ร่าง รธน.นี้ที่มีเจตนารมณ์สร้างพลเมืองเป็นใหญ่ จึงต้องขยายและเพิ่มสิทธิต่าง ๆ เพราะเป็นร่าง รธน. ฉบับแรกที่พูดถึงหลักสิทธิมนุษยชน และสิทธิพลเมือง
ทั้งนี้ สิทธิมนุษยชน แปลว่า คนที่เกิดเป็นคนทุกคน เป็นสัญชาติไทยหรือไม่ก็ตาม ย่อมมีสิทธิเช่นเดียวกันหมด สิทธิเสรีภาพเหล่านี้ เช่น สิทธิในชีวิต สิทธิในร่างกาย สิทธิในความเชื่อ สิทธิในการนับถือศาสนา ไม่ว่าจะเป็นคนสัญชาติไทย เวียดนาม ลาว กัมพูชา พม่า ที่อยู่ในเมืองไทยจะมีเหมือนกันหมด เพราะเป็นมนุษย์
สิทธิพลเมือง สังกัดไว้เฉพาะสัญชาติไทย
นายบวรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันต้องกำหนดสิทธิพลเมืองไว้ ซึ่งสิทธิพลเมืองนั้นเป็นสิทธิที่จะให้แก่คนที่มีสัญชาติไทย จะโดยการเกิดหรือแปลงสัญชาติก็แล้วแต่ จะเป็นสิทธิที่สังกัดไว้เฉพาะสัญชาติไทย โดยเฉพาะสิทธิทางการเมือง สิทธิทางเศรษฐกิจ สิทธิทางสังคม ซึ่งมีการเพิ่มเติมขึ้นมากมาย เช่น สิทธิในครอบครัว
กระนั้นถือเป็นร่าง รธน.ฉบับแรกที่กำหนดว่า พลเมืองมีสิทธิเป็นครอบครัวที่เป็นปึกแผ่นและเป็นสุข รัฐมีหน้าที่ต้องจัดหาที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม อาหารที่จำเป็นให้ และเป็น รธน.ฉบับแรกที่กำหนดว่า มารดาต้องได้รับการคุ้มครองทั้งก่อนคลอดและหลังคลอด เด็กและเยาวชนต้องได้รับการดูแล อย่างดีตามความเหมาะสมจากรัฐ
“ร่าง รธน.ฉบับนี้ยังขยายการศึกษา ตั้งแต่ระดับประถมวัยถึงมัธยมศึกษา ไม่ใช่ 12 ปี เหมือน รธน.ปี 2540 และ 50 แต่ขยายเป็น 15 ปี” ประธาน กมธ.ยกร่าง กล่าว
ขณะเดียวกันนายบวรศักดิ์ กล่าวถึงการประมูลคลื่นความถี่หรือกำกับวิทยุโทรทัศน์นั้น ต้องคำนึงถึงบริการที่มีคุณภาพทั่วถึงและประชาชนเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุดเป็นเงื่อนไขการประมูล ไม่ใช่ให้มุ่งหารายได้เป็นเงินมหาศาลเข้ารัฐ และให้ประชาชนแบกรับภาระการเสียค่าสื่อสารมากเหมือนปัจจุบัน
นอกจากนั้นยังกำหนดให้ทรัพยากรธรรมชาติทุกประเภทเป็นทรัพยากรของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ จะเป็นปิโตรเลียม ป่าไม้ หรืออะไรก็แล้วแต่ ไม่ใช่กำหนดเพื่อประโยชน์ของเอกชน หรือกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่งอีกต่อไป
คำถามที่ตามมา คือ ถ้าเช่นนั้นจะนำเงินที่ไหนมาจ่าย ซึ่ง กมธ.ยกร่างฯ ตระหนักดี จึงกำหนดว่า การที่ให้พลเมืองมีสิทธิ แปลว่า รัฐมีหน้าที่ต้องทำให้เกิดผลขึ้น เมื่อรัฐต้องใช้เงิน การทำให้เกิดขึ้นต้องเป็นไปตามความสามารถทางการคลังของรัฐเวลานั้น
ยกตัวอย่าง การจัดการศึกษา 15 ปี ตั้งแต่ระดับชั้นประถมวัยถึงมัธยมศึกษา ถ้าวันนี้ความสามารถทางการคลังของรัฐมีไม่ถึง 15 ปี ก็ให้เป็น 13 ปี ไปก่อน จนเมื่อรัฐมีความสามารถทางการคลังถึงระดับหนึ่งแล้ว จึงขยายต่อได้ เรียกว่า การให้สิทธิเพิ่มขึ้นตามลำดับความเหมาะสมตามความสามารถทางการเงินการคลัง
มาตรการต่อมา นายบวรศักดิ์ ระบุว่า การสร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่ ต้องเพิ่มส่วนร่วมของพลเมืองทางการเมืองและบริหาร ซึ่งร่าง รธน. ฉบับนี้เพิ่มส่วนร่วมพลเมืองและชุมชนในการกำหนดนโยบายสาธารณะ ในการได้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และในการดำเนินโครงการต่าง ๆ อีกมากมาย
“ร่าง รธน.ต้องการเพิ่มการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนสามารถจัดทำร่างกฎหมายของประชาชนเสนอได้ กำหนดไว้ในร่าง รธน. เลยให้หน่วยงานของรัฐมีหน้าที่ต้องช่วยประชาชนในการจัดทำร่างกฎหมาย และเมื่อประชาชน เข้าชื่อ 1 หมื่นคน จัดทำร่างกฎหมายสภาผู้แทนราษฎรแล้ว แม้ยุบสภาหรือสภาสิ้นอายุ ก็พิจารณาต่อไปได้ โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา” ประธาน กมธ.ยกร่างฯ กล่าว และว่าขณะที่ร่างกฎหมายของคณะรัฐมนตรีชุดก่อนหรือสภาชุดก่อนเป็นเรื่องของพรรคการเมืองที่แล้ว จะต้องขอความเห็นชอบต่อรัฐสภาชุดใหม่ แปลว่า ร่างกฎหมายที่ประชาชนเสนอนั้น มีความยืนยงคงกระพันชาตรียิ่งกว่าร่างกฎหมายของคณะรัฐมนตรีและสภาฯ
นายบวรศักดิ์ กล่าวถึงร่าง รธน.กำหนดให้มีสมัชชาพลเมืองเป็นที่รวมขององค์กรชุมชน ประชาชน เอกชน นักวิชาการ ปราชญ์ชาวบ้าน คนทั้งหลายที่มีสิทธิในระดับจังหวัดเป็นสมัชชาพลเมืองขึ้นมาในระดับจังหวัด เพื่อให้ความเห็นต่อผู้ว่าราชการจังหวัด และราชการส่วนภูมิภาค และองค์การบริหารท้องถิ่น และกำหนดให้สภาพลเมืองมีส่วนร่วมในการเลือกสมาชิกวุฒิสภาโดยทางอ้อม
นอกจากนี้แล้ว ประธาน กมธ.ยกร่างฯ ระบุว่า ยังมีสภาตรวจสอบภาคประชาชน ประกอบด้วย ผู้แทนสมัชชาพลเมือง 1 ใน 4 ภาคประชาสังคม 1 ใน 4 และประชาชนครึ่งหนึ่ง แต่สภาตรวจสอบภาคประชาชนนั้นต้องมีกฎหมายรองรับ และ กมธ.ยกร่างฯ จะหยิบยกร่างกม.ขึ้นมา
“กมธ.ยกร่างฯ ตระหนักว่า ถ้าไม่เขียนให้ดี สภานี้จะกลายเป็นมาเฟียระดับจังหวัด จึงมีความคิดว่า ต้องใช้ระบบการเลือกสมาชิกสภาคล้ายการเลือกลูกขุนในต่างประเทศ เลือกกันในระบบสถิติ และให้เป็นวาระสั้นปีเดียว ไม่ต้องตั้งหน่วยงานใหม่มาดูแล อาจต้องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปราบการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)จังหวัด หรือคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่มีอยู่เดิม เป็นฝ่ายเลขานุการ เช่นเดียวกับสมัชชาพลเมืองไม่ต้องหาผู้ดูแลใหม่ แต่ให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ดูแล”
นายบวรศักดิ์ กล่าวด้วยว่า สภาตรวจสอบภาคประชาชนมีหน้าที่ ตรวจสอบความซื่อตรงของพลเมืองและประชาชนในจังหวัด ตรวจสอบทุจริตการจัดซื้อจัดจ้าง การประพฤติผิดจริยธรรมในระดับจังหวัด
ทั้งนี้ ในระดับชาติ วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ตามเอากล้องส่องตลอดเวลา ขยับทางซ้าย ถูกตรวจสอบ ขยับทางขวาถูกตรวจสอบ พูดง่าย ๆ ผู้อยู่ในการเมืองระดับชาติ เหมือนอยู่ในเวทีละครที่ไฟทุกดวงส่องมาที่นั่น
หากคนที่อยู่ระดับจังหวัด เช่น แม่ฮ่องสอน นราธิวาส เป็นต้น ไกลกว่าการตรวจสอบของสื่อมวลชน ฉะนั้น เรื่องหลายเรื่องจึงหลุดรอด การมีสภาตรวจสอบภาคประชาชนจะไม่ทำให้เกิดสภาพ ถี่ลอดตาช้าง ห่างลอดตาเล็น ต่อไป
สำหรับการสร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า มีการจัดทำ เรียกว่า การฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรงของนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งวันนี้เมื่อเกิดขึ้นเรื่องก็เงียบหาย คงระลึกได้ว่าเคยมีการชกต่อยกันในสภาฯ แล้วส่งเรื่องต่อคณะกรรมการจริยธรรมสภาฯ ซึ่งเรื่องก็เงียบ
แต่วันนี้ถ้านายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภา ประพฤติผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรง และสมัชชาคุณธรรมชี้มูลส่งเรื่องให้ กกต. เพื่อให้ประชาชนทั้งประเทศ หรือในภาคที่เลือกตั้งมาถอดถอน
“ถ้าเป็นนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี เมื่อสมัชชาคุณธรรมชี้ว่า ประพฤติผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรง ส่งชื่อไป กกต. เพื่อส่งขึ้นบัญชีไว้ และรอการเลือกตั้งทั่วไป จะได้ลงมติ ถ้าเป็นนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี ต้องลงมติทั้งประเทศ เมื่อพ้นตำแหน่งถอดถอนไม่ได้ แต่ลงมติว่าตัดสิทธิถอดถอน 5 ปี หรือไม่” นายบวรศักดิ์ กล่าว และว่าถ้าเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภา ก็ส่งไปให้ กกต.ขึ้นบัญชีรายชื่อไว้ และในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ประชาชนจะลงคะแนนในภาคที่คนนั้นสังกัด
มีผู้สงสัยเหตุใดจึงรอการเลือกตั้งครั้งต่อไป ประธาน กมธ.ยกร่าง กล่าวว่า รธน.ปี 2550 ผู้ดูแล คือ ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งให้ ป.ป.ช. ซึ่งใช้เวลาในการดำเนินงานนานเหมือนกัน แต่วันนี้แยกระบบเมื่อ กกต.ส่งไปแล้ว ประชาชนจะเป็นผู้ลงมติถอดถอนวันที่มีการเลือกตั้งทั่วไป เพื่อประหยัดงบประมาณ ไม่ใช่ถอดถอนใครทีต้องส่งให้ประชาชนลงคะแนนที
ถ้าร่าง รธน.นี้ผ่านการใช้บังคับ ประชาชนจะมีบัตรในมือ 3 ใบ คือ ใบที่ 1 ลงคะแนนเสียงเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขต ใบที่ 2 ลงคะแนนเสียงเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบัญชีรายชื่อ และใบที่ 3 ลงมติถอดถอนหรือตัดสิทธิทางการเมืองของผู้ถูก กกต.ขึ้นชื่อ
ส่วนฝ่าฝืนเรื่องอื่น เช่น การทุจริต ร่ำรวยผิดปกติ กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ เป็นต้น ให้ ป.ป.ช.ไต่สวนเหมือนเดิม หากถูกชี้มูลความผิดต้องส่งมาให้รัฐสภาและดำเนินคดีอาญาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
เหตุใดบุคคลเหล่านี้จึงไม่ให้ประชาชนถอดถอน เพราะเป็นเทคนิคทางกฎหมาย ต้องดูพยานหลักฐานโดยละเอียด สำนวนหนาหลายพันหน้า ประชาชนคงไม่มาดูหลักฐานหลายพันหน้าเพื่อวินิจฉัยควรมีความผิดหรือไม่ แต่กรณีฝ่าฝืนจริยธรรมประชาชนสามารถตัดสิทธิได้โดยง่าย
“ร่าง รธน.ฉบับนี้จึงมีความก้าวหน้ากว่า รธน. ปี 2540 และ 50 เรื่องการสร้างพลเมืองเป็นใหญ่โดยชัดเจน” นายบวรศักดิ์ ระบุ .
ภาพประกอบ:บวรศักดิ์ อุวรรณโณ-เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์