‘ม.ร.ว.ดิศนัดดา’ แนะรัฐหันมองชนบท หยุดลงทุนใหญ่กทม. หวั่นเหลื่อมล้ำรุนแรง
ครบ 5 ปี ดำเนินงานมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ 5 จว. ต้นแบบ น่าน-อุดรธานี-เพชรบุรี- อุทัยธานี-กาฬสินธุ์ ‘คุณชายดิศนัดดา’ ชี้แผนลงทุนใหญ่ใน กทม. หวังกระตุ้น ศก. ไม่ใช่ทางออก ตั้งคำถามท้องถิ่นได้ประโยชน์อะไร แนะแก้ต้นเหตุยกระดับใกล้เคียงเมือง ยันเมื่อใดชนบทล่มสลาย ไทยจะไม่มีที่อยู่
วันที่ 9 มีนาคม 2558 มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ จัดเสวนา ‘ท้องถิ่นเข้มแข็ง ประเทศยั่งยืน’ เนื่องในโอกาสครบรอบ 5 ปี ของมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ณ สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ กรุงเทพฯ
ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล เลขาธิการมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ และประธานสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ กล่าวว่า เมื่อใดที่ชนบทล่มสลาย ประเทศไทยจะไม่มีที่อยู่ เพราะเรามักไม่ใส่ใจชนบท ทำให้เกิดการกระจุกตัวของประชากรกว่า 10 ล้านคน ในกรุงเทพฯ จนเกิดปัญหาตามมา จึงจำเป็นต้องมุ่งแก้ไขให้ชนบทมีความใกล้เคียงกับเมืองมากขึ้น เพื่อป้องกันการแก้ไขปัญหาปลายเหตุ
ทั้งนี้ ภาพรวมของประเทศ พบว่า ไทยมีหนี้ครัวเรือนขยับขึ้นเป็นร้อยละ 85 ของจีดีพี หากรวมหนี้นอกระบบด้วย เชื่อจะอยู่ที่ร้อยละ 100 ของจีดีพี ฉะนั้น แผนการลงทุนขนาดใหญ่ในกรุงเทพฯ เพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ใช่ทางออกทั้งหมด เพราะทุกอย่างนั้นต้องมองด้วยว่า ชนบทได้รับประโยชน์อย่างไร มิฉะนั้นความเหลื่อมล้ำจะเกิดขึ้นอย่างรุนแรง
เลขาธิการมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ กล่าวต่อว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจต้องไม่ละเลยภาคเกษตรกรรมเด็ดขาด ซึ่งเกษตรกรมีรายจ่ายร้อยละ 89 ของรายรับ ฉะนั้นเมื่ออยู่ไม่ได้ก็ต้องไปเป็นกรรมกร ได้เงินเดือน 1.6 หมื่นบาท/เดือน ยังไม่เพียงพอ เพราะเมื่อออกจากบ้าน แม้พริกเม็ดเดียวก็ต้องซื้อ จึงพบเกษตรกรมีหนี้สินเฉลี่ย 1 แสนบาท/ครัวเรือน
“เกษตรกรเป็นหนี้ ด้วยเหตุผลส่งลูกเรียน แต่เมื่อจบการศึกษา กลับมีความคิดว่า กลับไปทำงานที่บ้านจะเสียเกียรติ กลายเป็นขี้ข้าของคนกรุงเทพฯ เป็นวิธีคิดถูกต้องหรือไม่” ม.ร.ว.ดิศนัดดา กล่าว และว่า เกษตรกร 4.8 ล้านครัวเรือน มีหนี้สินรุงรัง เพื่อป้องกันปัญหาอาชญากรรม ค้ายาเสพติด หรือค้าประเวณี จะต้องใส่ใจชนบทให้แรงมาก ไม่ให้คนเหล่านี้ติดอยู่ในกรอบ
ตลอดเวลา 5 ปี มูลนิธิดำเนินงานโดยน้อมนำศาสตร์พระราชา 5 จังหวัดต้นแบบ เลขาธิการมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ระบุ ได้แก่ จ.น่าน อุดรธานี เพชรบุรี อุทัยธานี และกาฬสินธุ์ และสนับสนุนให้ราชการนำแนวทางขยายไปยัง จ.เชียงใหม่ เชียงราย ยะลา พิษณุโลก และพิจิตร ตามขั้นตอนแนวพระราชดำริ อยู่รอด พอเพียง และยั่งยืน
โดยในพื้นที่ จ.น่าน สามารถสร้างรายได้เพิ่มให้ชาวบ้าน 1.7 พันครัวเรือน มูลค่ารวม 137.6 ล้านบาท และลดหนี้สินครัวเรือนได้ร้อยละ 10 จากเฉลี่ยครัวเรือนละ 38,536 บาท เหลือ 26,894 บาท และมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ปลูกป่าในพื้นที่มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ จ.น่าน ตั้งแต่ปี 2556 จนขณะนี้ ปลูกได้ทั้งป่าอนุรักษ์ ป่าเศรษฐกิจ และป่าใช้สอย 81,690 ไร่ จากเป้าหมาย 250,000 ไร่
“อยากแหย่รัฐบาล และอยากให้ทำแบบนี้ เพื่อไทยเป็นประเทศอู่ข้าวอู่น้ำและประหยัดเงินมหาศาล ประเทศไทยมีน้ำไหลลงจากฟ้า 7.5 แสนล้านลูกบาศก์เมตร/ปี แต่กักเก็บได้เพียง 7.5 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร/ปี คิดเป็นร้อยละ 10 แต่หากทำเหมือนที่กองทัพบกกับมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ร่วมกันทำที่ จ.กาฬสินธุ์ ขุดลอกแก้มลิงหนองเลิงเปือย เชื่อว่าจะกักเก็บน้ำได้ 2.1 แสนล้านลูกบาศก์เมตร/ปี จะได้ไม่มีน้ำท่วม และน้ำแล้ง”
ม.ร.ว.ดิศนัดดา ยังกล่าวถึงการดำเนินงาน 4 ปี ใน จ.อุดรธานี ว่า สร้างรายได้เพิ่มกับชาวบ้าน 214 ครัวเรือน ที่เข้าร่วมโครงการ ประมาณ 8.5 ล้านบาท ส่วน จ.เพชรบุรี จากการดำเนินงาน 2 ปี สามารถสร้างความรู้ อาชีพ และรายได้แก่ชนกลุ่มน้อยในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน 133 ครัวเรือน ได้ 770,000 บาท และ จ.อุทัยธานี ในปีแรกสร้างรายได้ให้ชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่รอยต่อเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จากการปลูกสตรอว์เบอรีทั้งหมด 24 ครัวเรือน รวม 485,000 บาท แทนการปลูกข้าวโพด
ทั้งนี้ มีข้อเสนอต่อรัฐบาลและคณะกรรมการปฏิรูปเกี่ยวกับกรอบแนวทางการพัฒนาชนบทยั่งยืน 9 ข้อ ดังนี้ 1.การพัฒนาเชิงพื้นที่ต้องยึดประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่เป็นหลัก 2.ชาวบ้านต้องมีความพร้อมและมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง 3.การศึกษาข้อมูลภูมิสังคมอย่างละเอียด ถูกต้อง 4.มีแผนพัฒนาอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 6 ปี ตามระดับของปัญหา เพื่อไปสู่อยู่รอด พอเพียง และยั่งยืน
5.สร้างกลไกที่มีเอกภาพ มีความสอดคล้อง กับนโยบายรัฐบาล 6.จัดสรรงบประมาณให้พอ ตรงตามแผนที่มาจากชุมชน 7.ผสมผสานความรู้ทางวิชาการ ภูมิปัญญาท้องถิ่น และแนวพระราชดำริเพื่อพัฒนาและประเมินผล 8.ส่งเสริมทักษะการทำงานให้กับข้าราชการ ท้องถิ่น และชุมชน 9.สร้างความเข้าใจในทั้ง 3 ระดับ คือ รัฐบาลกลาง รัฐบาลท้องถิ่น และชุมชน ให้เกิดการประสานกัน ทั้งแนวราบและแนวดิ่งอย่างต่อเนื่อง
ด้านนายพงศ์โพยม วาศภูมิ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ได้ทำงานร่วมกับเพื่อนข้าราชการ ซึ่งส่วนใหญ่มีความปรารถนาดีจะพัฒนาประเทศ และที่ผ่านมาการพัฒนาจะดีขึ้น แต่ความจริงควรดีขึ้นมากกว่านี้ ซึ่งสาเหตุที่ดำเนินงานไม่ได้ เมื่อกลับมาทบทวนแล้ว พบติดขัดตรงระบบการบริหารราชการรวมศูนย์อำนาจไว้ส่วนกลาง ที่ให้อำนาจตัดสินใจค่อนข้างมาก
ทั้งนี้ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ความสำคัญกับสิทธิประชาชน สิทธิชุมชน สิทธิพลเมือง ค่อนข้างมาก ถึงขนาดยอมให้ชุมชนจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลท้าทายอำนาจรัฐได้ หากดำเนินโครงการไม่มีประสิทธิภาพ ยกตัวอย่าง จัดทำบริการสาธารณะไม่ได้ ชุมชนก็ขอทำเอง อย่างไรก็ตาม ยังไม่เห็นรายละเอียดในกฎหมายลูก แต่เชื่อว่า คงต้องทะเลาะกันพอสมควร
ขณะที่นายธีรศักดิ์ พานิชวิทย์ เลขาธิการสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาครัฐมอบหมายหน้าที่ให้ท้องถิ่นดำเนินการ ส่วนใหญ่เป็นหน้าที่ธุรการ ไม่ใช่การดำเนินงานส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลง และควรลดการแทรกแซงจากนโยบายการเมือง ดังนั้น ต้องทำอย่างไรให้ท้องถิ่นจัดการตนเอง เพราะที่ผ่านมามูลนิธิปิดทองหลังพระฯ และภาคเอกชน ดำเนินงานแทนภาครัฐหมดเลย เลยตั้งข้อสังเกตว่า ภาครัฐไม่มีแนวคิดจะพัฒนาทรัพยากรเหล่านี้หรือ? ทั้งนี้ ในอนาคตตั้งโจทย์ให้ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง ภายใต้องค์ความรู้ที่ส่วนกลางต้องเข้ามาสนับสนุน
คนไทยพร้อมหรือยังจะเป็นพลเมือง เลขาธิการสมาคมฯ เชื่อว่า ประชาชนพร้อมและยอมรับ เพราะประชาชนไม่มีความพึงพอใจระบบราชการส่วนกลางที่มีอยู่ และกำลังอยากให้ท้องถิ่นกลายเป็นกลไกเชื่อมโยงในการจัดการตนเอง .