“ไม่มีใครอยากโดนด่า” หม่อมอุ๋ย ยันจำเป็นต้องเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ
รองนายกฯ ระบุ กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ จะระวังไม่ให้เกิดผลกระทบ หรือเกิดผลกระทบน้อยที่สุด คาดถึงกฤษฎีกาอาจมีข้อยกเว้น ด้านคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. ขอสังคมศึกษา และทำความเข้าใจ ก่อนตัดสินกฎหมายตัวนี้ดี-ไม่ดี
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่กระทรวงการคลังกำลังเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีในช่วงเดือนมีนาคมนี้ รวมถึงกรณีมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า กฎหมายตัวนี้ประเทศไทยจำเป็นต้องมี เพราะงบประมาณรายจ่ายตลอด 10 ปีที่ผ่านมา นับวันมีแต่เพิ่มขึ้น รวมทั้งสูงกว่างบประมาณรายได้ ทำให้รายได้ไม่พอรายจ่ายมาตลอด เป็นหนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่งบลงทุนก็ลดเหลือ 17.5% ของงบประมาณ ในปี 2558 ซึ่งไม่เพียงพอต่อการนำไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ
"ประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ ก็เก็บภาษีจากฐานทรัพย์สิน แต่เมืองไทย เก็บภาษีจากรายได้ กับภาษีการค้า เป็นหลัก ส่วนภาษีที่เก็บจากฐานทรัพย์สินไม่เคยมีการเก็บ เราจำเป็นต้องขยายฐาน แต่ผมจะระวังไม่ให้เกิดผลกระทบ หรือเกิดผลกระทบน้อยที่สุดเพื่อให้ประเทศอยู่ได้"
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า รายได้ที่เก็บจากภาษีไม่เพียงพอกับรายจ่าย และเมื่อไม่พอ รัฐบาลจำเป็นต้องเก็บภาษี ซึ่งไม่มีใครอยากโดนด่า ซึ่งจะพยายามให้กระทบคนมีรายได้ต่ำน้อยที่สุด พร้อมยืนยันการเก็บภาษีที่ดินฯ จะมีบางส่วนเก็บให้ท้องถิ่น และกฎหมายที่ออกมาในอนาคตจะไม่บิดเบี้ยวไปจากเดิมแน่นอน
"กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หลังมีการเสนอผ่านครม. จากนั้นก็จะส่งไปกฤษฎีกา กว่าจะออกมาคาดว่าไม่ต่ำกว่า 7 เดือน และจะมีข้อยกเว้นต่างๆ รวมถึงหากกฎหมายนี้ออกมาแล้ว ก็ยังไม่มีผลใช้บังคับทันทีต้องรอให้มีการทำแผนที่สำรวจที่ดินทั่วประเทศให้เสร็จก่อน"
ขณะที่ศาสตราจารย์ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงกฎหมายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ เมื่อจะเป็นการเพิ่มภาระภาษีให้กับสังคมโดยรวม สิ่งสำคัญทำอย่างไรสร้างความเข้าใจว่า ภาษีตัวนี้ เป็นภาษีที่สะท้อนประโยชน์ที่ได้จากการใช้จ่ายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยตรง และภาระภาษีตัวนี้จะสะท้อนถึงสิ่งที่ประชาชนได้รับ เพราะฐานภาษีตัวนี้เก็บอยู่บนที่ฐานมูลค่าของทรัพย์สิน และฐานนมูลค่าของทรัพย์สินที่เกิดขึ้นได้นั้นก็เกิดจากสาธารณะที่รัฐใส่เข้าไป
"ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ มีความผูกพันโดยตรงระหว่างรายจ่ายกับรายได้ที่จะจัดเก็บ คนไทยต้องพยายามศึกษา และทำความเข้าใจอย่าเพิ่งไปตัดสินว่า ภาษีตัวนี้ดีหรือไม่ดีอย่างไร"
ศ.ดร.สกนธ์ กล่าวด้วยว่า การเก็บภาษีจากฐานรายได้ คือสิ่งที่เราได้รับประจำอยู่ทุกเดือนทุกปีอยู่แล้ว เสียภาษีจากการที่เราขายทรัพย์สิน ไม่ได้ขายจากการถือครอง แต่การเก็บภาษีจากฐานทรัพย์สิน คือสิ่้งที่เราถือครอง เราไม่ได้ใช้ประโยชน์ แต่มูลค่ากลับเพิ่มขึ้นทุกปีๆ นี่คือสิ่งที่แตกต่าง