“ถ้าการศึกษาไม่ดีขึ้น ประชาธิปไตยเต็มใบก็ถูกกัดกร่อน”
“…ผมคิดว่าถ้าไม่แก้เที่ยวนี้ จะเป็นรถด่วนเที่ยวสุดท้าย ต้องรีบทำ ทั้งเรื่องการศึกษาและเรื่องสำคัญอื่นๆ”
สุดสัปดาห์นี้ สำนักข่าวอิศรา จับเข่าคุยกับ “มีชัย วีระไวทยะ” สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ด้านการศึกษา หนึ่งในคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ประธานอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนเยาวชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทยและการจัดทำรัฐธรรมนูญเพื่ออนาคตที่ดีกว่า เกี่ยวกับยุทธศาสตร์ มุมมองและความคืบหน้าด้านงานปฏิรูปการศึกษา หนึ่งในนโยบายที่รัฐบาลคสช.ประกาศให้ความสำคัญเป็นเรื่องเร่งด่วน
.........................
@ การปฏิรูปการศึกษาในสปช. มีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง
ภาพรวมเราอยากให้เน้นมุมมองของเด็กและเยาวชน ผู้ใหญ่คิดอย่างไรเป็นเรื่องรอง ซึ่งส่วนใหญ่เห็นว่าควรเปลี่ยนแปลง ในสปช.ก็เห็นว่าต้องเปลี่ยนแปลง ส่วนไอเดียจะเป็นอย่างไรก็จะมีข้อสนอแนะมาจากหลายกลุ่ม
ในคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญก็มีการเสนอเรื่องการศึกษา บางคนบอกว่าอย่าเพิ่งไปแตะโครงสร้างการศึกษา แต่ก็มีความเห็นต่างว่าไม่แตะไม่ได้ ผมคิดว่าถ้าไม่แก้เที่ยวนี้ จะเป็นรถด่วนเที่ยวสุดท้าย ต้องรีบทำ ทั้งเรื่องการศึกษาและเรื่องสำคัญอื่นๆ
@ ในร่างรัฐธรรมนูญใหม่ จะผลักดันการปฏิรูปการศึกษาได้มากน้อยแค่ไหน
ทุกคนเห็นความสำคัญ อย่างที่บอกครับ ต้องแตะโครงสร้าง ไม่แตะไม่ได้
@ ยุทธศาสตร์ปฏิรูปการศึกษาในมุมมองอาจารย์ ควรจะเป็นอย่างไร
อย่าไปเน้นเรื่องท่องจำ และทำให้เกิดความเสมอภาค เพราะขณะนี้ไม่เสมอภาค เหลื่อมล้ำมากโรงเรียนปลายทางแย่ โรงเรียนในเมืองดี เงินโรงเรียนขนาดเล็กได้น้อยกว่าโรงเรียนขนาดใหญ่ ฉะนั้นต้องเปลี่ยนระบบ ขนาดเล็กต้องได้ต่อหัวมากกว่า ซึ่งก็โยงไปถึงเรื่องแก้งบประมาณ
อีกข้อเสนอคือ การกระจายอำนาจ ลดบทบาทของรัฐ กระทรวงศึกษาจากเป็นผู้จัดการศึกษาให้เป็นผู้สนับสนุนการศึกษา โดยมีการกระจายอำนาจกลับไปสู่ภูมิภาค ให้มีสภาการศึกษาประจำจังหวัด จุดไหนที่เข้มแข็งก็เดินหน้าได้เลย ทุกวันนี้มีหลายจังหวัดเข้มแข็งมาก
ขณะที่ส่วนกลางดูเรื่องหลักสูตร แต่หลักสูตรต้องเหมือนอาหาร เช่น เรามีข้าว ผัก แต่ให้เขาทำน้ำพริกเอง ให้พื้นที่ชุมชนมีสิทธิเลือก ฉะนั้นการศึกษาจะต้องลดบทบาทการคุมงบประมาณ แล้วให้คนในพื้นที่มีส่วนร่วมมากขึ้น
@ แต่ที่ผ่านมา เปลี่ยนรัฐบาล นโยบายก็เปลี่ยน เปลี่ยนรัฐมนตรีการศึกษาเป็นว่าเล่น จะว่ากันอย่างไรดีครับในระยะยาว
จะเสนอให้มีสภาพัฒนาการศึกษา ขึ้นกับสำนักนายกฯ ไม่ได้ขึ้นกับกระทรวงศึกษา ใส่เข้าไปในรัฐธรรมนูญให้แตะอะไรไมได้ภายใน 10 ปีแรก เพื่อให้เกิดการทำงานในระยะยาว แล้วป้องกันการคอร์รัปชั่นในระบบการศึกษา
@ ประเด็นที่ไม่ต้องแก้ไขมีอะไรบ้าง
ผมยังไม่แน่ใจในใจความ แต่ปัจจัยสำคัญคือ เราขออย่าให้มีการเปลี่ยนแปลงใน 10 ปีแรก หากเห็นว่า 10 ปีแรกไปได้ดี ก็คงสามารถจัดการเปลี่ยนแปลงอะไรได้
@ อะไรที่จะทำให้การศึกษาไทยแข่งขันกับนานาชาติได้
จุดสำคัญผมมองว่า รัฐอย่าทำเองทุกอย่างทั้งหมด ควรจะดึงเอกชนที่รวยกว่ารัฐมาช่วย ไม่คิดเงินเด็ก แต่ให้เด็กจ่ายด้วยการทำความดี ช่วยเหลือสังคม ตั้งคณะทำงานและบอกให้เอกชนมาช่วยเรื่องการศึกษาเถิด เพราะผู้ได้รับผลประโยชน์ส่วนหนึ่งก็คือภาคธุรกิจเอกชน
@ ทำได้จริงหรือครับ ทุกวันนี้คนมีเงิน ปัญญาชน นักการเมือง ส่งลูกเรียนโรงเรียนอินเตอร์ แล้วส่งไปเรียนต่อเมืองนอก
ต้องทำให้โรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นศูนย์กลางการพัฒนา สิ่งที่หลายคนมองข้ามไปคือ เด็กที่จบประถม มัธยมและมหาวิทยาลัย แค่ 30% เท่านั้นที่มีนายจ้าง อีก 70% ไม่มี และเราไม่ได้สอนอะไรเขาเลย ในระหว่างที่เขาเรียนหนังสือ
เป็นการเรียนรู้แนวใหม่ ให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการบริหารโรงเรียน ไม่ใช่ท่องจำ เช่น โรงเรียนจะซื้ออะไร ประชุมกับนักเรียน นักเรียนเป็นผู้ตรวจสอบ สอนให้นักเรียนฝึกเรื่องธุรกิจ ให้นักเรียนประเมินครูด้วย
จุดสำคัญคือทำให้ เปลี่ยนโรงเรียนแบบจืดๆ ครูยืนพูดแต่หน้าห้อง เปลี่ยนซะ ตั้งคำถามกับครูบ้าง สอนให้เด็กเล่นดนตรี ออกไปช่วยเหลือสังคมให้เป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่ปีละหน มีวินัย เล่นดนตรี มีความเสมอภาคทุกคน ครูต้องสอนให้สนุก อย่าไปให้คำตอบหมด คิดนอกกรอบ
@ แต่ครูสอนสนุกส่วนใหญ่อยู่ในโรงเรียนกวดวิชาหมดแล้ว เด็กก็อยากไปเรียน
ก็อย่าสอนให้เด็กท่องจำสิ ทำครูในโรงเรียนให้ดีขึ้น สอนให้ดีเท่าหรือดีกว่าโรงเรียนกวดวิชา จุดสำคัญคือ ก็ต้องปรับทั้งกระบวนการ ทั้งหลักสูตร ครู โรงเรียน โครงสร้าง ผมมองว่านี่เป็นโอกาสที่ดีโอกาสสุดท้ายที่จะทำให้ดีขึ้น ถ้าไม่ทำตอนนี้ก็หมดโอกาส
@ ในเชิงปฏิรูปประเทศไทย คิดว่ามาถูกทางหรือยังครับ
ผมคิดว่าถูกทางนะ แต่อยากให้ความสำคัญกับเพศหญิงเพิ่มขึ้น เพราะข้อเท็จจริงผู้หญิงทำอะไรได้มากมาย ต้องให้ผู้ชายเกิดความเข้าใจ ผมไม่รู้ว่าจุดบอดเรื่องนี้คืออะไร แต่อยากให้เข้าใจว่าผู้หญิงทำได้ ให้ผู้หญิงมีบทบาทมากขึ้น สังคมจะได้ดีขึ้น
@ ขณะนี้เริ่มมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญในเชิงลบมากขึ้นเรื่อยๆ
อยากให้คนที่อยู่กมธ.ร่างรัฐธรรมนูญได้ฟังเสียงประชาชน ผมคิดว่าเรื่องนี้เรามองข้ามไป เราไปถามเรื่องการศึกษา คอร์รัปชั่น แต่ไม่ได้ถามเรื่องความเสมอภาค จึงอยากฝากสื่อช่วยถามมุมมองตามโรงเรียน คนตามถนน ว่าเห็นด้วยมั๊ย
สื่อจะเล่นบทบาทที่สำคัญมาก ถ้าทำตรงนี้ได้ ถามความเห็นคนต่างจังหวัด ให้พวกเราซึ่งเป็นผู้ชายได้รับทราบความรู้สึกนึกคิดของคนภายนอก อาจจะทำให้เราเปลี่ยนใจได้
@ มีการเปรียบเทียบว่าร่างรัฐธรรมนูญใหม่ถอยหลังเข้าคลองบ้าง ประชาธิปไตยครึ่งใบบ้าง
ไม่นะ ผมไม่คิดอย่างนั้น เราเห็นแล้วว่าในอดีตมีคนจำนวนหนึ่งที่พยายามหลีกเลี่ยงทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วในที่สุดก็จบด้วยการโกง ความไม่สงบ เป็นที่กล่าวขานกันทั่วโลก
เราก็ต้องมาดูว่าจะทำอะไรให้ดีขึ้น ใครจะมาสมัครเป็นผู้แทนประชาชน เป็นผู้แทนในการใช้เงินของประเทศ ต้องเป็นคนที่มีคุณภาพ ก็ต้องมีอะไรที่ไม่ทำให้รถตกถนนได้ง่ายๆ เช่น การเสนอให้เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินก่อนเลือกตั้ง
หรือให้ประชาชนมีสิทธิเรียกร้องหลายอย่างในความซื่อสัตย์ของส.ส. ดังนั้นผมว่าไม่ใช่ครึ่งใบ เมื่อก่อนต่างหากที่เกือบไม่ถึงครึ่งใบ ปล่อยให้ใครอยากแทะใบก็ปล่อยให้แทะตามใจชอบ
แล้วต้องทำให้คนหวงแหนประชาธิปไตย ให้สนใจสิทธิของตนเองเพิ่มขึ้น ต้องสอนให้เด็กอย่าเชื่อคนง่ายๆ ตั้งคำถามให้เป็น ไม่ใช่เชื่อคนง่ายๆ บ้านเราทุกวันนี้ความรู้สึกที่เป็นบุญคุณเป็นตัวทำลายความซื่อสัตย์เหมือนกัน
สมมุติว่าใครมาให้อะไรผม ผมก็ต้องมองว่าเขาสร้างบุญคุณ ผมก็ต้องตอบแทนเขา ลงคะแนนให้เขา ก็จบ ดังนั้นต้องตั้งคำถามว่า ทำไมเขาถึงให้ และเงินมาจากไหน สิ่งเหล่านี้ต้องสอนให้เด็กตั้งคำถามเป็น
เพราะฉะนั้น ถ้าการศึกษาไม่ดีขึ้น ประชาธิปไตยจะเต็มใบยังไงก็ถูกกัดกร่อน เพราะคนก็จะหาทางหลีกเลี่ยงตลอดเวลา
@ ปัญหาหลักๆของสังคมไทย ในมุมมองอาจารย์มีอะไรบ้าง แล้วจะแก้อย่างไรดี
ผมมองว่า การที่เราเป็นเจ้าของประเทศ ก็ต้องปกป้องประเทศของเรา พื้นที่ของเรา เงินของเรา สิทธิของเราให้เกิดความยุติธรรมโปร่งใส ด้วยการแสดงความเป็นเจ้าของของประเทศ ของพื้นที่ ของทรัพย์สิน
นั่นแหละผมว่าก็จะมีคำถาม ฉะนั้นคนไทยต้องกล้าขึ้น ก็ต้องสอนกับเด็กนักเรียน โตเป็นผู้ใหญ่เขาก็จะกล้าขึ้น เราก็ต้องเปลี่ยนแปลงหาครูรุ่นใหม่
แต่หากการไม่มองว่าเราเป็นเจ้าของ แต่มองว่าฉันเป็นเจ้าของ ฉะนั้นฉันจะเอา ฉันอยากได้ โดยไม่มองส่วนรวม ทุกคนหนาวก็ต้องมีผ้าห่มเหมือนกัน ไม่ใช่ฉันดึงผ้าห่มมาห่มคนเดียว เราไม่สอนให้แบ่งปันในระบบโรงเรียนส่วนใหญ่
ดังนั้นต้องสอนให้เกิดความรู้สึกความพอเหมาะพอควร สอนให้แบ่งปัน สอนให้สนับสนุนความเสมอภาคในทุกเรื่อง