นักวิชาการชี้เก็บภาษีบ้าน ไม่กระทบชนชั้นกลางเชื่อจ่ายไหว เป็นรายได้ให้ท้องถิ่น
ดร.ดวงมณี เลาวกุล หวั่นรัฐบาลแก้กฎหมายภาษีที่ดินฯ เละเทะ เหตุไม่เข้าใจโครงสร้างที่แท้จริง ยันต้องจัดเก็บภาษีเท่าเทียมกัน ไม่มียกเว้นบ้านหลังแรก เชื่อไม่กระทบชนชั้นกลาง
6 มีนาคม 2558 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดประชุมเวที สกว. (TRF Forum) เรื่อง “การเข้าถึงและการใช้ประโยชน์ที่ดิน การแย่งชิงทรัพยากรที่ดิน และกฎหมายที่ดิน :ประเด็นปัญหาและแนวทางปฏิรูป” ณ ห้องพญาไท โรงแรมเอเชีย
ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยไม่ได้มีระบบภาษีทรัพย์สินอย่างแท้จริง ซึ่งการจัดเก็บภาษีที่ใกล้เคียงกับภาษีทรัพย์สินมากที่สุดก็คือ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่ แต่เนื่องจากภาษีทั้ง 2 อย่างนี้มีข้อบกพร่องอยู่หลายประการจึงส่งผลให้ผู้ถือครองที่ดินไม่มีต้นทุนหรือมีต้นทุนค่อนข้างน้อยในการถือครองที่ดิน รวมถึงราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นต่อปีในขณะนี้มีอัตราที่สูงขึ้น ทำให้มีแรงจูงใจในการซื้อที่ดินกักตุนเพื่อเก็งกำไร
"ตัวอย่างการจัดเก็บภาษีที่ดินในต่างประเทศนั้นส่วนใหญ่จะเก็บภาษีจากฐานมูลค่าของทรัพย์สินก็คือภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ทั้งในส่วนที่เป็นที่อยู่อาศัยและการใช้ประโยชน์ทรัพย์สินในลักษณะอื่น เช่น การเกษตร พาณิชย์ และอุตสาหกรรม และบางประเทศมีการเก็บภาษีเครื่องจักร เช่น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย"
ผศ.ดร.ดวงมณี กล่าวถึงการยกเว้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในต่างประเทศ ว่า ในแต่ละประเทศจะกำหนดเกณฑ์ในการยกเว้นที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการยกเว้นภาษีแบ่งได้ดังนี้ หลักความเป็นเจ้าของ เช่น ทรัพย์สินของรัฐบาลหรือของเอกชน หลักการใช้ประโยชน์ในทรัพย์สิน เป็นต้น
ผู้สื่อข่าวถามเพิ่มเติมกรณีการผลักดันพระราชบัญญัติการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่กำลังมีกระแสต่อต้านในขณะนี้ ดร.ดวงมณี กล่าวว่า ทุกคนเข้าใจว่า เหมือนมีบ้านแล้วต้องมาจ่ายค่าเช่า แต่ความจริงแล้วคือการจ่ายภาษีเพื่อที่จะพัฒนาสาธารณะประโยชน์ต่างๆให้เกิดขึ้น ถ้าเราอยากอยู่ในบ้านเมืองที่ดี สภาพแวดล้อมดี ก็ควรจะต้องจ่าย แต่เพราะที่ผ่านมาทุกคนไม่เคยจ่ายความรู้สึกว่า ทำไมต้องจ่าย ไม่อยากจ่ายก็เลยมี เสียงคัดค้านและหลายคนเป็นกังวลว่า บ้านหรือที่ดินที่ตัวเองมีเมื่อก่อนราคาไม่กี่บาท หากประเมินใหม่จะมีราคาสูงส่งผลให้ต้องจ่ายภาษีตามไปด้วย
“จริงๆการประเมินที่ดินในบ้านเราต่ำกว่าราคาตลาดมาก คนมากังวลกันเรื่องนี้จริงๆ แล้วควรกังวลเรื่องการเก็บภาษีแล้วเอาไปใช้มากกว่าว่าจะเอาไปใช้ได้มากน้อยแค่ไหนอย่างไร แล้วไม่ต้องกลัวว่าจะจ่ายแพง รัฐบาลเขาไม่กล้าเก็บแพง”
เมื่อถามว่าการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะส่งผลกระทบต่อชนชั้นกลางมากน้อยเพียงใด ดร.ดวงมณี กล่าวว่า ไม่กระทบ ปีละ 1,000-3,000 จ่ายกันได้อยู่แล้ว ใครจะจ่ายไม่ได้ มีแต่ไม่อยากจ่ายเท่านั้น การจ่ายภาษีเป็นหน้าที่และนี่เป็นแหล่งรายได้ให้กับองค์กรท้องถิ่นที่จะนำมาพัฒนาสิ่งต่างๆ
"สำหรับสิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ ไม่แน่ใจว่าจะผลักดันเรื่องนี้ได้สำเร็จหรือไม่ แม้กระทรวงการคลังจะออกมายืนยันจะผลักดันให้เกิดขึ้นให้ได้ก็ตาม อีกประการหนึ่งคือการที่นายกรัฐมนตรีออกมาพูดว่าจะมีการยกเว้นให้บ้านหลังแรก ความจริงไม่ใช่ ถ้าเก็บต้องเก็บเหมือนกันหมด กฎเกณฑ์เป็นไปตามที่กำหนดทุกอย่างต้องเป็นขั้นตอน ถ้ากฎหมายฉบับนี้แก้ไปแก้มายิ่งไม่แน่ใจว่าจะออกมาแบบไหนกลัวจะเละเทะไปกันใหญ่"