‘หมอบรรลุ’ ร้อง คสช.ดันร่าง กม.กองทุนภาคประชาสังคม
‘นพ.บรรลุ’ ร้อง คสช.ดันร่าง กม.กองทุนพัฒนาภาคประชาสังคม รีดรายได้ล๊อตเตอรี่ ส่งเสริมเงินทุนเพื่อสาธารณะประโยชน์ ‘มณเฑียร บุญตัน’ ชี้รัฐจัดสวัสดิการฝ่ายเดียวไม่ได้ เหตุความต้องการสูง กระทบเงินหลวง แนะ ปชช.รวมตัวเป็นระบบ รัฐคอยหนุนเสริม
วันที่ 6 มีนาคม 2558 เครือข่ายขับเคลื่อนกองทุนส่งเสริมการพัฒนาภาคประชาสังคม จัดเสวนา ครั้งที่ 3 ภาคประชาสังคมเข้มแข็ง:สู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ หัวข้อ ประชาสังคมเข้มแข็ง สู่สังคมสวัสดิการแนวใหม่ ณ ห้องเนโร โรงแรมบางกอกชฎา กรุงเทพฯ
นพ.บรรลุ ศิริพานิช ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย กล่าวว่า กิจการหรือองค์กรใดจะเข้มแข็งเจริญก้าวหน้าได้ ต้องยึดหลักปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย มีความรู้ในข้อมูลเรื่องนั้น มีทุนดำเนินการ และบริหารจัดการดี แต่กลับพบ ‘ทุน’ ยังเป็นปัญหาในการดำเนินงานเพื่อสาธารณะประโยชน์ และเมืองไทยมีกองทุนภาคประชาสังคมน้อย เพราะคนร่ำรวยไม่เห็นความสำคัญ ทำให้คนหรือองค์กรทำงานมีความลำบากในการระดมหาทุน
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีผู้เห็นความสำคัญผลักดันร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนส่งเสริมการพัฒนาภาคประชาสังคม เพื่อสาธารณะประโยชน์ และมีการจัดสัมมนากันมาก จนกระทั่งเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อนำรายได้หลักจากการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลมาจัดตั้งกองทุนนี้ เเละเห็นด้วยค่อนข้างมาก เพราะหากสำเร็จจะช่วยให้ภาคประชาสังคมมีทุนมาดำเนินงาน แต่การเมืองไทยล้มลุกคลุกคลานจึงยังไม่สำเร็จ ดังนั้น คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ควรนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณา
สำหรับสังคมสวัสดิการแนวใหม่ ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยฯ ระบุจากประสบการณ์ว่า จะต้องจัดให้ตั้งแต่เกิดจนตาย โดยเฉพาะด้านสุขภาพ ทุกคนต้องเข้าถึงสถานที่บริการ การบริการ และคุณภาพอย่างเท่าเทียมกัน ในราคาที่เหมาะสม คนจนไม่ต้องจ่าย คนร่ำรวยต้องจ่าย ไม่ใช้ฟรี ภายใต้หลักความเป็นธรรมในสังคม โดยตนเป็นที่พึ่งแห่งตนก่อน
“ส่วนใหญ่คนไทยมักไม่พึ่งตนเอง ยิ่งในช่วงปฏิรูปบ้านเมือง จะปฏิรูปอะไรก็ทำเถิด ไม่สำเร็จหรอก หากไม่ปฏิบัติให้คนมีระเบียบวินัย รู้จักหน้าที่ตัวเอง คอยอาศัยคนอื่นไม่สำเร็จ” นพ.บรรลุ กล่าว และว่า คนที่ช่วยตัวเองได้ ต้องได้รับสวัสดิการน้อย คนที่ช่วยตัวเองไม่ได้ ต้องได้รับสวัสดิการมาก ส่วนจะเป็นสวัสดิการแนวใหม่หรือไม่ ผมไม่ทราบ แต่โดยหลักการต้องยึดแบบนี้
ด้านนายมณเฑียร บุญตัน เครือข่ายขับเคลื่อนกองทุนส่งเสริมการพัฒนาภาคประชาสังคม กล่าวถึงระบบสวัสดิการว่า เป็นการกระจายความอยู่ดีกินดีไปสู่ทุกคนในสังคม ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของภาคประชาสังคม แต่จะปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม เก็บเงินคนละเล็กคนละน้อยไม่ได้ ส่วนหนึ่งต้องจัดรูปแบบรับการสนับสนุนจากรัฐ จะทำให้สวัสดิการรูปแบบประชาสังคมไม่เจ๊ง
หากยังจัดสวัสดิการแบบดั้งเดิม ภาครัฐจัดการให้ล้วน ๆ เชื่อไปไม่รอด เพราะขาดระบบจัดการที่ดี เนื่องจากปัจจุบันจำนวนผู้ให้หรืออยากให้ลดลงเรื่อย ๆ โดยอ้างเหตุผลเตรียมนำเงินไปลงทุน ฉะนั้นอนาคตจะสร้างประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ‘ภาคประชาสังคม’ ถือเป็นเสาหลักสำคัญ ประชาชนต้องรวมตัวเป็นระบบ มีวิสัยทัศน์ และเป้าหมาย ตรวจสอบได้ และมีธรรมาภิบาล จะเกิดแนวใหม่
“เอ็นจีโอถูกมองเป็นภัยคุกคามหรือน่ารำคาญต่ออำนาจรัฐ ซึ่งไม่ว่าภาครัฐจะรำคาญมากเพียงใด แต่กระแสโลกเหมือนสายน้ำไหลไม่มีวันกลับ มุ่งไปสู่ภาคประชาสังคมมากยิ่งขึ้น และมีความหมายใหญ่โตมากเรื่อย ๆ เช่นกัน” ผู้แทนเครือข่ายขับเคลื่อนกองทุนฯ กล่าว และว่า การร่างรัฐธรรมนูญที่บัญญัติให้มี ‘สมัชชาพลเมือง’ เป็นเขี้ยวเล็บพลังของเมืองได้จริง จะต้องเขียนให้รัฐสนับสนุนภาคประชาสังคมเข้มแข็ง มิใช่ส่งเสริมเฉย ๆ
นายมณเฑียร ยังกล่าวถึงสมัชชาพลเมืองในฝันเกิดขึ้นได้ ต้องช่วยกันทำให้ตาน้ำเชื่อมโยงกับต้นทางสดใส จะได้มีวัตถุดิบส่งไปถึงปากอ่าว หากประชาชนไม่มีความเป็นพลเมือง จะเอาอำนาจที่ไหนต่อรองกับความไม่เป็นธรรมในสิ่งที่มีความเหลื่อมล้ำ ฉะนั้นต้องเกิดการรวมตัวของประชาชนในภาคประชาสังคม มิฉะนั้นพลังพลเมืองจะไม่เกิด
ขณะที่ดร.สมชัย จิตสุชน นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงสังคมสวัสดิการว่า อดีตภาครัฐจัดบริการฝ่ายเดียว เพราะความต้องการสังคมไม่มาก จึงดำเนินงานไหว แต่เมื่อคนเริ่มรู้จักสิทธิของตัวเอง จึงเกิดการเรียกร้อง ส่งผลให้ภาครัฐประสบปัญหาด้านการเงินทันที ฉะนั้นหากใช้ระบบเดิมจะไม่คล่องตัว
แนวคิดการรวมกลุ่มของภาคประชาชนจึงเกิดขึ้นเพื่อเสริม ซึ่งข้อดี คือ ใช้ต้นทุนดำเนินงานน้อยกว่าภาครัฐมาก เพราะเมื่อได้รับเงินน้อยก็ยิ่งต้องใช้อย่างคุ้มค่า ทั้งนี้ การบริหารจัดการเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญ มิใช่เพียงด้านประสิทธิภาพเท่านั้น แต่ต้องบริหารจัดการให้ถูกทาง ตรงตามความต้องการของประชาชน
“ต้องมีมาตรการให้คนร่ำรวยสนับสนุนกองทุนสาธารณะมากขึ้น เพราะทำได้จะกลายเป็นช่องทางหนึ่งในการจัดระบบสวัสดิการ โดยไม่ต้องขอเงินจากรัฐบาล” ดร.สมชัย กล่าว .