สภาพัฒนาการเมือง จี้สนช.ตั้งเครือญาติ แถลงขอโทษสังคม-คืนเงิน
ประธานสภาพัฒนาการเมืองย้ำชัด กรณีสนช.ตั้งเครือญาติทำงาน และผู้ที่มีตำแหน่งหน้าที่ระดับสูง ออกมาปกป้อง ควรได้รับการตำหนิจากสังคม จี้ผู้ตรวจการแผ่นดินดำเนินการตรวจสอบ เชิงจริยธรรม
วันที่ 6 มีนาคม 2558 สภาพัฒนาการเมือง เปิดแถลงข่าวเรื่อง “การกระทำที่ทำให้สังคมเกิดความเคลือบแคลงและสงสัย ของสมาชิก สนช. จำนวนมากกว่า 50 คน ซึ่งได้แต่งตั้งคู่สมรส บุตร และเครือญาติ ให้เป็นผู้ปฏิบัติงานให้แก่ตนโดยได้รับค่าตอบแทนรายเดือน” ณ ห้องประชุมสภาพัฒนาการเมือง ฝั่งอาคารเรียนสถาบันพระปกเกล้า (ชั้น 5) ทิศใต้
ตามที่สำนักข่าวอิศราได้เปิดเผยข้อมูลเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2558 ว่า มีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จำนวนมากกว่า 50 คนที่ได้ให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาแต่งตั้งคู่สมรสบุตร หรือ เครือญาติให้เป็นผู้เชี่ยวชาญประจำตัวสมาชิก สนช. ผู้ชำนาญการประจำตัวสมาชิก สนช. หรือผู้ช่วยดำเนินงานของสมาชิก สนช. โดยได้รับค่าตอบแทนเดือนละ 24,000 บาท 20,000 บาท และ 15,000 บาทตามลำดับ ซึ่งทำให้สังคมเกิดข้อสงสัยทางด้านจริยธรรมและมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างมาก
ในวันเดียวกันนั้น นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ได้ออกมากล่าวว่า “ตามระเบียบข้อบังคับ สนช. ไม่ได้ห้ามเรื่องการแต่งตั้งลูก เมีย หรือเครือญาติ มาดำรงตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญ ผู้ปฏิบัติงานประจำตัว สนช. ซึ่งหลักการคุณสมบัติในตำแหน่งเหล่านี้กำหนดเพียงว่า มีคุณสมบัติเหมาะสม และไม่เคยต้องคดีมาก่อน ไม่มีข้อห้ามเรื่องเครือญาติ”
อีกทั้งยังกล่าวด้วยว่า “สนช. อาจต้องการคนที่มีความไว้วางใจมาช่วยงาน จึงดึงคนใกล้ชิดมาเป็น สนช. ปฏิบัติตามระเบียบเดิมของสภาฯ ที่มีมาก่อนหน้านี้อยู่แล้ว ทุกอย่าง ไม่ได้ไปแก้อะไรเลย”
ต่อมาในวันที่ 3 มีนาคม2558 นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนในเรื่องนี้ตอนหนึ่งว่า “เพื่อไม่ให้สังคมสงสัยถึงความเหมาะสม วิป สนช.จึงได้ให้คำแนะนำว่า สมาชิกที่ได้ตั้งบุคคลใกล้ชิดและเครือญาติมาช่วยงานในตำแหน่งดังกล่าว ให้ปรับเปลี่ยนออกทั้งหมดให้มีผลตั้งแต่วันที่มีนาคม 2558 หวังว่าสมาชิกจะดำเนินการเพื่อสร้างบรรทัดฐานที่ดีขึ้นทางการเมือง”
ศาสตราจารย์ ดร.ธีรภัทร์ เสรีสรรค์ ประธานสภาพัฒนาการเมือง กล่าวว่า สภาพัฒนาการเมืองซึ่งเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นตาม พระราชบัญญัติสภาพัฒนาการเมือง พ.ศ. 2551 โดยมีบทบาทอำนาจหน้าที่ประการหนึ่งในการส่งเสริมการพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงขอแถลงให้สังคมได้รับทราบเพื่อให้เกิดมาตรฐานและบรรทัดฐานทางการเมืองที่ดีและการบริหารที่มีธรรมาภิบาล ดังนี้
ประการที่หนึ่ง การไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมที่ดี ถึงแม้จะไม่มีบัญญัติแห่งกฎหมายที่ชัดเจน ซึ่งห้ามแต่งตั้งคู่สมรส บุตร และเครือญาติ ในกรณีดังกล่าว แต่กฎหมายก็เป็นเพียงกฎเกณฑ์หรือมาตรฐานขั้นต่ำที่ประชาชนทั่วไปต้องปฏิบัติ บุคคลผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิก สนช. สมควรต้องปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีด้วยมาตรฐานที่สูงกว่าประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปฏิรูปประเทศ ซึ่งข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติและกรรมาธิการ พ.ศ. 2558 ได้กำหนดในข้อที่เกี่ยวข้องไว้ดังนี้
ข้อ 7 สมาชิกและกรรมาธิการจักต้องปฏิบัติหน้าที่เพื่อประเทศชาติและประชาชนอย่างเต็มความสามารถ ด้วยความรับผิดชอบ ยึดถือประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ
ข้อ 16 สมาชิกและกรรมาธิการจักต้องไม่กระทำการใดหรือปฏิบัติการใดซึ่งก่อให้เกิดความเคลือบแคลงหรือสงสัยว่าจะขัดกับข้อบังคับนี้
ข้อ 17 สมาชิกและกรรมาธิการจักต้องประพฤติและปฏิบัติตนเพื่อให้เป็นที่เชื่อถือศรัทธาและเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ประชาชน
ข้อ 21 สมาชิกและกรรมาธิการจักต้องเคารพและปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายอย่างเคร่งครัด และจักต้องอยู่ในกรอบของศีลธรรมและจริยธรรม
ข้อ 25 สมาชิกและกรรมาธิการจักต้องไม่แสวงหาประโยชน์โดยอาศัยตำแหน่งหน้าที่ และไม่กระทำการอันเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อน และจะต้องดูแลให้คู่สมรสและบุตรของสมาชิกและกรรมาธิการปฏิบัติเช่นเดียวกันด้วย
จากข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมฯ ดังกล่าวข้างต้น เป็นที่ชัดเจนว่า การแต่งตั้ง คู่สมรส บุตร และเครือญาติ ในกรณีดังกล่าว เป็นสิ่งที่สมาชิก สนช. ไม่ควรกระทำไม่ว่ากรณีใดๆ การดำเนินการให้คู่สมรส บุตร และเครือญาติ ที่ได้รับการแต่งตั้งไปแล้วพ้นจากตำแหน่งเพียงอย่างเดียวยังไม่เป็นการเพียงพอที่สังคมจะยอมรับได้ เนื่องจากการกระทำนั้นได้สำเร็จเสร็จสิ้นไปแล้ว สมาชิกสนช. ที่มีคู่สมรส บุตร หรือเครือญาติที่ได้รับการแต่งตั้งสมควรต้องแสดงความรับผิดชอบอย่างน้อยด้วยการแถลงขอโทษต่อสังคมที่ได้มีการกระทำดังกล่าว รวมทั้งคืนเงินงบประมาณแผ่นดินทั้งหมดที่ได้จ่ายเป็นค่าตอบแทนให้แก่คู่สมรส บุตร และเครือญาติของตน
นอกจากนี้ ผู้ที่มีตำแหน่งหน้าที่ระดับสูงหลายท่านที่ได้ออกมากล่าวในลักษณะปกป้องการกระทำดังกล่าวว่าเป็นสิ่งที่กระทำได้ไม่ผิดข้อกฎหมายใดๆ และเคยมีการปฏิบัติมาแล้ว ควรได้รับการตำหนิจากสังคม อีกทั้งผู้ตรวจการแผ่นดินควรต้องดำเนินการตรวจสอบ เชิงจริยธรรมและดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของตนในเรื่องนี้อย่างเร่งด่วนด้วย
อนึ่ง นอกจากนี้คำสั่งแต่งตั้งตำแหน่งดังกล่าวของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ถือเป็นคำสั่งทางการปกครองจึงต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ซึ่งมาตรา 13 (3) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดว่า เจ้าหน้าที่จะพิจารณาทางการปกครองไม่ได้ถ้าเป็นญาติของคู่กรณี คือ เป็นบุพการีหรือผู้สืบสันดานไม่ว่าชั้นใดๆ หรือเป็นพี่น้องหรือลูกพี่ลูกน้องนับได้เพียงภายในสามชั้น หรือเป็นญาติเกี่ยวพันทางแต่งงานนับได้เพียงสองชั้น
แต่ประกาศสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งบุคคลเพื่อปฏิบัติงานให้แก่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2557 ได้กำหนดไว้ในข้อ 10 ให้สมาชิก สนช. ต้องให้คำรับรองว่าผู้ที่ตนเสนอแต่งตั้งเป็นผู้มีประสบการณ์เกี่ยวกับงานที่เหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ให้สมาชิก สนช. ตามที่กำหนดไว้ในประกาศดังกล่าว ดังนั้นการให้คำรับรองดังกล่าวซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งในกระบวนการพิจารณาทางการปกครองเพื่อออกคำสั่งแต่งตั้งจึง ไม่สามารถกระทำได้โดยสมาชิก สนช. และสมควรถูกเพิกถอนคำสั่ง หากผู้ได้รับการเสนอแต่งตั้ง เป็นคู่สมรส บุตร หรือเครือญาติในลำดับชั้นที่กำหนดตามมาตรา 13 (3) ของตน
ประการที่สอง การปฏิบัติที่อาจเข้าข่ายไม่ชอบด้วยกฎหมาย ประกาศสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งบุคคลเพื่อปฏิบัติงานให้แก่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2557 ได้กำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบรวมทั้งคุณสมบัติของตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญประจำตัวสมาชิก สนช. ผู้ชำนาญการประจำตัวสมาชิก สนช. และผู้ช่วยดำเนินงานของสมาชิก สนช. ไว้อย่างชัดเจน
ตัวอย่างเช่น
ตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญประจำตัวสมาชิก สนช. มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการให้คำแนะนำปรึกษาทางด้านวิชาการที่เป็นประโยชน์ให้กับสมาชิก สนช. ซึ่งกรณีสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจะต้องมีประสบการณ์เกี่ยวกับงานที่เหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ให้สมาชิก สนช. มาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี
ตำแหน่งผู้ชำนาญการประจำตัวสมาชิก สนช. มีหน้าที่และความรับผิดชอบศึกษาค้นคว้าข้อมูล ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายประกอบการดำเนินงานของสมาชิก สนช. และศึกษาสภาพปัญหาและข้อร้องเรียนต่างๆ เพื่อรวบรวม จัดทำญัตติ กระทู้ถาม ข้อหารือ หรือข้อเสนอแนะอันเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิก สนช. ซึ่งต้องสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาตรี และต้องมีประสบการณ์เกี่ยวกับงานที่เหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ให้สมาชิก สนช. มาแล้วไม่น้อยกว่าสามปี
ทั้งสองตำแหน่งที่ยกเป็นตัวอย่างนั้นเป็นตำแหน่งที่ต้องมีความสามารถและประสบการณ์เฉพาะทาง ดังนั้นก่อนการแต่งตั้ง สนช. จะต้องมีการตรวจสอบความสามารถและคุณสมบัติของ ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่ออย่างรอบคอบและโปร่งใส
สำหรับกรณีที่ได้มีคำสั่งแต่งตั้งไปแล้ว แม้จะเป็นบุคคลที่ไม่ใช่คู่สมรส บุตร และเครือญาติก็ตาม สนช. ควรต้องทำการทบทวนตรวจสอบความสามารถและคุณสมบัติของบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งทั้งหมดใหม่อีกครั้ง รวมทั้งตรวจสอบด้วยว่าบุคคลดังกล่าวได้มีการปฏิบัติหน้าที่จริงหรือไม่ หรือเพียงมีชื่อได้รับแต่งตั้งเพื่อรับค่าตอบแทนเท่านั้น ซึ่งหากตรวจสอบแล้วพบว่า ไม่มีความสามารถ ไม่มีคุณสมบัติ หรือไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่จริง ควรต้องดำเนินการตามกฎหมายต่อสมาชิก สนช. ผู้เสนอชื่อให้แต่งตั้งบุคคลดังกล่าว
อีกทั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติควรต้องดำเนินการสอบสวนตามอำนาจหน้าที่ของตนในเรื่องนี้อย่างเร่งด่วนเช่นเดียวกัน
ประการที่สามการปรับปรุงเพื่อสร้างมาตรฐานและบรรทัดฐานทางการเมืองและการบริหารที่มีธรรมาภิบาลสำหรับหน่วยงานของรัฐในการแต่งตั้งบุคคล ต่อกรณีที่เกิดขึ้นกับ สนช. ดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการแก้ไขปรับปรุงระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศที่กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งบุคคลเพื่อปฏิบัติหน้าที่อันเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาปฏิรูปแห่งชาติ ตลอดทั้ง คณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา องค์กรอิสระของรัฐ องค์การปกครองท้องถิ่นทั่วประเทศ และหน่วยงานของรัฐอื่นๆ เพื่อเสริมสร้างคุณธรรมและจริยธรรม และป้องกันกระทำการอันเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อน รวมทั้งให้มีมาตรฐานความเป็นวิชาชีพสำหรับตำแหน่งที่ได้รับการแต่งตั้งดังกล่าวโดยการสร้างระบบคุณธรรม (merit system) ในการคัดเลือกเพื่อให้ได้ผู้ที่มี ความเหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่อย่างแท้จริง อันจะนำไปสู่การสร้างมาตรฐานและบรรทัดฐานทางการเมือง ที่ดีและการบริหารที่มีธรรมาภิบาลต่อไป