คนเชียงดาว รุกต่อค้านเขื่อนแม่ปิง ยื่นหนังสือ ส.ส.พท.-รัฐบาลทบทวน 25 ลุ่มน้ำ
ชาวบ้านอำเภอเชียงดาว เชียงใหม่ ยื่นหนังสือ ส.ส.เพื่อไทย ช่วยยับยั้งโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ปิง ระบุเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ แต่ไม่ให้ข้อมูลชาวบ้าน กระบวนการศึกษาไม่โปร่งใส ผลกระทบป่าต้นน้ำ-ป่าชุมชน
วันที่ 24 ก.ย.54 ตัวแทนชาวบ้านโป่งอาง หมู่ 5 ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย เพื่อขอให้จี้องค์กรหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการอ่างเก็บน้ำแม่น้ำปิงตอนบน หรือเขื่อนกั้นแม่น้ำปิง อ.เชียงดาว ทบทวนกระบวนการศึกษา และขอให้ยุติโครงการทันที
จากกรณีที่สำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน ในฐานะประธานคณะกรรมการดูแลกำกับงานที่ปรึกษาด้านวิชาการ โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ปิงตอนบน ได้จัดเวทีประชุมกลุ่มย่อยครั้งที่ 2 การศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการฯ ณ หอประชุมเทศบาลตำบลเชียงดาว วันที่ 22 ก.ย.54 ซึ่งชาวบ้านโป่งอางและเครือข่ายลุ่มน้ำในพื้นที่อำเภอเชียงดาว ร่วม 500 คน ได้ร่วมชุมนุมคัดค้านการจัดเวทีดังกล่าวจนต้องล่มไป
ตัวแทนชาวบ้าน ระบุว่าโครงการดังกล่าวขาดกระบวนการมีส่วนร่วมและการตัดสินใจไม่ได้เกิดขึ้นจากคนในชุมชนอย่างแท้จริง และที่ผ่านมาขั้นตอน กระบวนการศึกษามีลักษณะเร่งรัด ขาดความละเอียดของการศึกษาความเหมาะสม ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งด้านสังคม สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ อีกทั้งที่ตั้งโครงการฯ อยู่ในเขตพื้นที่ป่าต้นน้ำแม่ปิง ซึ่งเป็นขุนน้ำสำคัญหล่อเลี้ยงชุมชนในพื้นที่ อ.เชียงดาว จนถึงที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยา และยังเป็นพื้นที่ป่าชุมชน เป็นแหล่งอาหาร แหล่งสมุนไพร ไม้ใช้สอยของคนในชุมชน ซึ่งหากมีการสร้างเขื่อน จะทำให้ต้นทุนองค์ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่นดั้งเดิมสูญหายไป
ตัวแทนชาวบ้าน ยังระบุอีกว่า การเข้ามาศึกษาฯครั้งนี้ไม่ได้ตรงกับข้อเท็จจริงที่จะออกมาเป็นรูปแบบการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ที่สำคัญกระบวนการไม่ได้เปิดโอกาสให้ชุมชนได้รับรู้อย่างทั่วถึง ไม่เปิดเผยข้อมูลที่แท้จริงที่จะนำไปสู่การตัดสินใจร่วมของคนในชุมชน ซึ่งได้สร้างความวิตกกังวลให้ชาวบ้านในพื้นที่มาก
ด้านนายจุลพันธ์ กล่าวว่า ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในพื้นที่ หากถ้าโครงการใดๆที่เข้ามาในชุมชน ถ้าผลประโยชน์ไม่ตกกับชาวบ้าน หรือได้ไม่คุ้มเสีย ก็จำเป็นต้องหาทางยับยั้งต่อไป
“จะขอเวลาศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม และดูว่าชุมชนมีความต้องการหรือปัญหาเรื่องโครงการนี้มากน้อยเพียงใด ซึ่งหากชาวบ้านยืนยันตามแถลงการณ์ แสดงเจตนารมณ์ว่าการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคมเป็นไปไม่ถูกต้องก็คงต้องมีการทบทวนกระบวนการศึกษากันใหม่” นายจุลพันธ์ กล่าว
นอกจากให้หาทางยับยั้งการดำเนินการศึกษาโครงการฯ และขอให้ยุติโครงการดังกล่าว ตัวแทนชาวบ้านยังขอให้รัฐบาลชุดนี้ได้ทบทวนแผนการจัดการลุ่มน้ำทั้ง 25 ลุ่มน้ำ ให้ล้มเลิกแนวคิดการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ หันมาผลักดันแนวคิดการจัดการน้ำ เช่น ระบบเหมืองฝาย ชลประทานขนาดเล็ก โดยให้ชุมชนจัดการดูแลกันเอง โดยมองว่าจะเป็นทางออกในการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน .