อำนาจชี้ขาดอยู่ที่"บิ๊กตู่"! ป.ป.ช.ขอต่ออายุเพิ่ม 1 ปี-ปัดไล่ล่า"ชินวัตร"
ป.ป.ช. รับขอต่ออายุตัวเองเพิ่มอีก 1 ปี หลังจ่อพ้นตำแหน่ง 5 คน พ.ค.-ก.ย.นี้ ยันเพื่อให้ทำงานต่อเนื่อง ชี้หากเหลือ กก. แค่ 4 คน จะมีปัญหา ปัดสืบทอดอำนาจ-ไล่ล่าตระกูล "ชินวัตร" ลั่นอำนาจชี้ขาดอยู่ที่ "บิ๊กตู่" ใช้อำนาจพิเศษ
จากกรณีกระแสข่าวว่าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอเสนอคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขอต่ออายุนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช. นายวิชา มหาคุณ นายวิชัย วิวิตเสวี นายประสาท พงษ์ศิวาภัย และนายภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช. ที่ครบวาระการดำรงตำแหน่งภายในปี 2558 นี้ เนื่องจากต้องการปฏิบัติภารกิจที่ยังค้างคาเรื่องสำคัญอยู่หลายเรื่อง เช่น การแก้กฎหมาย ป.ป.ช. เป็นต้นนั้น
ล่าสุด นายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยถึงกรณีดังกล่าวว่า ยอมรับว่ามีการคุยเรื่องการต่ออายุดำรงตำแหน่งจริง ส่วนจะขอกับใครนั้นไม่ทราบรายละเอียด โดยแนวคิดดังกล่าวได้มีการคุยกันในที่ประชุมนานแล้ว ส่วนปัญหาที่ต้องต่อนั้นก็อยู่ที่งานบางอย่าง และระบบการสรรหา เนื่องจากหากกรรมการออกไป 5 คน จะเหลือกรรมการอยู่แค่ 4 คน ทีนี้เรื่องคดีจะไม่มีความต่อเนื่อง หากรอการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ที่มีบทบัญญัติว่ากรรมการ ป.ป.ช. ตามกฎหมายเดิมมีอายุเท่าไหร่ มีอำนาจอย่างไรอีก ดังนั้นการสรรหากรรมการ ป.ป.ช. ในช่วงนี้ ก็ไม่ได้สรรหาเพื่อมาดำรงตำแหน่ง 9 ปี แค่สรรหาจนกว่าจะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เท่านั้น
“ยังมีคดีที่ยังไม่แล้วเสร็จในช่วงนี้ หากมีผู้มารับสืบเนื่องตลอดไป ก็ไม่เป็นอะไร เพราะทุกตำแหน่งก็มีอายุเวลา แต่หากว่าเราไป 5 คน เหลือการทำงานอยู่ 4 คน มันก็ทำงานไม่ได้ ปัญหาก็จะเกิดขึ้น” นายวิชัย กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ไม่ห่วงกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าจะเป็นการสืบทอดอำนาจ นายวิชัย กล่าวว่า ก็ไม่ห่วง ทุกคนทำเต็มที่ ดีที่สุด และทำเพื่อความจำเป็น คงไม่ได้ต่อเพื่อความสนุกสนาน แต่เป็นการนำงานมาทำต่อ ไม่ได้สืบทอดอำนาจ มันจะมีอำนาจอะไร ก็แค่การยื่นคำร้องขอถอดถอน หรือชี้มูลความผิดเท่านั้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า อำนาจตัดสินใจอยู่ที่ใคร นายวิชัย กล่าวว่า "อยู่ที่หัวหน้าคสช. และครม. ก็คงต้องใช้อำนาจพิเศษ คงไม่ใช่อำนาจในทางปกติ แต่ไม่ได้อยู่ที่ป.ป.ช.แน่นอน" เมื่อถามว่า อำนาจพิเศษดังกล่าวคือการที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.สามารถใช้อำนาจตามมาตรา 44 ได้ ใช่หรือไม่ นายวิชัย กล่าวว่า "ในรายละเอียดนี้คงต้องไปถามประธานป.ป.ช. และนายวิชา มหาคุณ กรรมการป.ป.ช. ซึ่งเป็นผู้พิจารณาเรื่องนี้อยู่ ผมเองก็พิจารณาเหมือนกัน แต่ไม่ได้ลงไปใกล้ชิด เรื่องนี้ท่านประธาน กับนายวิชาจะเป็นผู้ให้ข้อมูลได้ดีกว่า"
ผู้สื่อข่าวถามว่า จำเป็นต้องรอรัฐธรรมนูญใหม่ก่อนหรือไม่ นายวิชัย กล่าวว่า "ถ้ารอรัฐธรรมนูญแล้วดำเนินการไม่ได้ เป็นเหตุให้กรรมการป.ป.ช.ไม่ครบองค์จะมีปัญหาใหญ่ ไม่ได้หมายความว่าพวกผมอยากอยู่กันต่อ คืออยู่กันต่อก็ได้ ไม่อยู่ต่อก็ไม่มีปัญหา แต่ที่สำคัญ งานต้องต่อเนื่อง เราไม่ได้คิดต่ออายุตัวเอง"
นายวิชัย กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ใช่ว่าเมื่อนายกรัฐมนตรีรับเรื่องแล้วจะจัดการในทันที เพราะต้องดูในรายละเอียด กระบวนการ โดยต้องฟังเสียงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่ามีความเห็นอย่างไร ซึ่งนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.มีอำนาจ แต่เชื่อว่าจะไม่ใช้อำนาจโดยพละการ เพราะต้องผ่านกระบวนการอย่างเป็นขั้นตอน
เมื่อถามว่าต้องการชี้แจงอย่างไรที่ถูกวิจารณ์ว่าเป็นการขอต่ออายุตัวเอง นายวิชัย กล่าวว่า " คงไม่ต้องชี้แจงอะไร เพราะก็เห็น ๆ กันอยู่ ยิ่งชี้แจง ยิ่งเจ็บตัว แต่ที่แน่ ๆ ที่เห็นกันคือ เมื่อกระบวนการสรรหาไม่ครบ ก็จะยุ่ง และในรัฐธรรมนูญก็ต้องบัญญัติบทเฉพาะกาลว่าจะให้คณะกรรมการป.ป.ช.ดำรงตำแหน่งในวาระกี่ปี แต่หากระบุว่ากรรมการป.ป.ช.ในรัฐธรรมนูญเดิมอยู่อีก 6 เดือน เกิดมีการสรรหาเดี๋ยวนี้แต่รัฐธรรมนูญบอกว่าอยู่อีก 6 เดือนมันคงไม่คุ้มเหมือนกัน แต่ถ้าไม่ครบองค์ก็ไม่ได้เรื่องแน่ และถ้าครบองค์แต่ปริ่มน้ำก็ไม่ดี องค์ประกอบต้องครบถ้วนทั้ง 9 คน หรือ 8 คน เป็นอย่างต่ำ
ผู้สื่อข่าวถามว่า ทางคสช.ส่งสัญญาณมาให้ทางป.ป.ช.ทำหนังสือไปในเรื่องนี้ใช่หรือไม่ นายวิชัย กล่าวว่า ไม่ใช่การส่งสัญญาณใดๆ ไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะป.ป.ช.ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย เป็นไปตามขั้นตอน ตามกลไก เรื่องนี้มาส่งสัญญาณกันไม่ได้
ขณะที่นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานป.ป.ช. กล่าวว่า เรื่องการต่ออายุคณะกรรมการป.ป.ช. 5 คน ที่จะหมดวาระภายในปี 2558 ยอมรับว่า ป.ป.ช.ได้หารือเรื่องดังกล่าวจริง เป็นการหารือในหลักการในที่ประชุมป.ป.ช. รวมทั้งเคยหารือกับคสช.ว่า หากป.ป.ช. 5 คน ต้องหมดวาระในปีนี้ โดยที่ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องการสรรหาคณะกรรมการป.ป.ช. ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะทำให้การทำงานของป.ป.ช.สะดุดได้ทั้งเรื่องคดีความ เรื่องการแก้ไขกฎหมายต่างๆ
"จึงอยากขอต่ออายุกรรมการป.ป.ช.ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อออกไปอีกสักประมาณ 1 ปี เพื่อให้การทำงานเดินหน้าต่อไปได้ ขึ้นอยู่กับรัฐบาลและคสช.ว่าจะเห็นด้วยตามที่ป.ป.ช.ร้องขอหรือไม่ ยืนยันว่าไม่ใช่การสืบทอดอำนาจ เพื่อไล่ล่าคดีความของรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แต่เป็นความจำเป็นในการทำงานช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในช่วงสั้นๆเท่านั้น" นายปานเทพ กล่าว