ประชาธิปไตยไม่ฟังข้างน้อยชนวนถอด 38 ส.ว.!-ป.ป.ช.ชี้ต้องมีหลักนิติธรรม
“วิชัย” ยันประชาธิปไตยแบบเบ็ดเสร็จไม่ฟังเสียงข้างน้อย ต้นเหตุถอดถอนอดีต 38 ส.ว. แก้ไขรธน. ลั่นต้องมีความเป็นธรรม ธำรงไว้ซึ่งศักดิ์ศรี “วิทยา” รับ “อุดมเดช” พิมพ์ร่างใหม่จริง แต่มีร่างเดียว ไม่ได้ปลอมร่าง แค่แก้ไขก่อน ปธ.บรรจุเข้าที่ประชุม “ดิเรก” ชี้ความผิดยังไม่สำเร็จ เหตุยังไม่มีใครลงสมัครเลือกตั้งใหม่
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2558 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อดำเนินกระบวนการซักถามโดยกรรมาธิการ (กมธ.) ซักถามคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ อดีต ส.ว. 38 คน ในการถอดถอนออกจากตำแหน่ง ตามมาตรา 6 แห่งรัฐธรรมนูญปี 2557 ประกอบมาตรา 64 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 โดยมีทั้งหมด 18 คำถาม แบ่งเป็นถามคณะกรรมการ ป.ป.ช. 13 คำถาม อดีต ส.ว. 38 คน 5 คำถาม
เบื้องต้น กมธ.ซักถามฯ ได้ถามฝ่ายคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก่อน โดยมีคำถามที่น่าสนใจ เช่น การกระทำของอดีต ส.ว. 38 คน มีผลกระทบต่อสังคม และเป็นการทำลายระบบนิติธรรมของรัฐธรรมนูญปี 2550 ทั้งเป็นการทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างไร จึงจำเป็นต้องถอดถอนเพื่อตัดสิทธิ์ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 5 ปี
นายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า ถ้าประชาธิปไตยแบบเบ็ดเสร็จเสียงข้างมากมากกว่าข้างน้อย ทำอะไรตามใจ ไม่มีการถ่วงดุล ก็ไม่ชอบเช่นกัน จนกระทั่งนำไปสู่การถอดถอน ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่า เราต้องการประชาธิปไตยที่มีเป็นธรรม อยู่ภายใต้หลักนิติธรรม ภายใต้ที่ว่าเสียงข้างน้อยสามารถธำรงไว้ซึ่งศักดิ์ศรี ไม่ใช่หมดเสียงอย่างสิ้นเชิง
ส่วนคำถามที่ว่า การกระทำดังกล่าวจะส่งผลให้อดีต ส.ว. 38 คน ได้รับสิทธิ์ลงเลือกตั้งเป็น ส.ว. ต่อไปหรือไม่ และ ป.ป.ช. มีความเห็นว่าอดีต ส.ว. 38 คน จะได้ประโยชน์จากการนี้หรือไม่ อย่างไร
นายวิชัย กล่าวว่า ปัญหานี้มีผลประโยชน์ขัดกันหรือไม่นั้น ให้ดูคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 15-18/2556 ซึ่งไฮไลต์ว่า ผู้วินิจฉัยต้องไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย และต้องนำมาใช้กับกระบวนการอื่น ๆ ทั้งหมด รวมถึงการใช้อำนาจรัฐ เป็นการเอื้อประโยชน์ อย่างไรก็ดีการวินิจฉัยของ ป.ป.ช. ไม่ได้วินิจฉัยในจุดนี้ เพราะถือว่าเป็นเรื่องที่มีปัญหาโต้แย้งเยอะ เป็นเรื่องเกี่ยวกับอุดมการณ์ และความคิดเห็น ซึ่ง ป.ป.ช. พิจารณาที่เป็นกายภาพที่ว่า ร่างรัฐธรรมนูญที่ยื่นเสนอแก้ไขฉบับหนึ่ง แต่เมื่อพิจารณาแล้วกลับมีร่างอีกฉบับหนึ่งมาแทน โดยร่างนี้ไม่ได้ยื่นถูกต้อง แต่กลับมีการแจกจ่ายให้สมาชิกอื่น มันก็ไม่ชอบแล้ว
“ส่วนที่ว่าพฤติการณ์และวิสัยของ ส.ว. ไม่รู้เป็นไปได้หรือไม่ มันก็ยากที่จะฟัง ฉะนั้น ป.ป.ช. จึงเห็นว่า พฤติการณ์ที่กล่าวมา ส่อว่าอดีต 38 ส.ว. จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ เป็นเหตุให้ถูกถอดถอน” นายวิชัย กล่าว
ต่อมา กมธ.ซักถาม ได้ถามฝ่ายอดีต ส.ว. 38 คน โดยมีคำถามที่น่าสนใจ เช่น ทราบหรือไม่ว่า เอกสารที่ใช้พิจารณานั้น เป็นเอกสารปลอม ไม่ใช่เอกสารจริง
นายวิทยา อินาลา อดีต ส.ว.นครพนม กล่าวว่า เราทำตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ-ข้อบังคับการประชุมทุกอย่าง ที่ ป.ป.ช. บอกว่า เราเอาร่างปลอมมานั้น ยังสงสัยเลยว่า ร่างปลอมคืออะไร ร่างที่จัดพิมพ์ขึ้นใหม่หรือไม่ ซึ่งนายอุดมเดช รัตนเสถียร เป็นผู้จัดพิมพ์ขึ้นใหม่จริง แต่ก็เป็นไปตามแนวทางปฏิบัติของกระบวนการนิติบัญญัติ หมายความว่าร่างแรกที่นายอุดมเดช กับผู้เสนออีก 308 คน ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมตามรัฐธรรมนูญมาตรา 291 (1) วรรคหนึ่ง ซึ่งเกิน 1/5 ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญนั้น ได้จัดพิมพ์ร่างขึ้นใหม่ โดยเพิ่มมาตรา 116 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญปี 2550 ก็คือเพิ่มในมาตรา 6 และไล่ถัดลงไป โดยไม่มีการเซ็นชื่อ ไม่มีการลงชื่อ ซึ่งร่างใหม่สามารถทำได้ เพราะประธานรัฐสภายังไม่ได้บรรจุในวาระประชุม ตามแนวทางปฏิบัติของกระบวนการนิติบัญญัติตั้งแต่ปี 2475 นอกจากนี้ กรณีการเปลี่ยนร่างแบบนี้ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วอย่างน้อย 2 ครั้ง ดังนั้นจึงมีร่างเดียว ไม่ใช่ร่างปลอม
“อยากให้ ป.ป.ช. พิจารณาดูว่า 80 กว่าปี เรื่องนี้ไม่ได้อยู่ในรัฐธรรมนูญ ไม่ได้อยู่ในข้อบังคับ เราใช้แนวทางกระบวนการนิติบัญญัติ ท่านอาจไม่เคยเป็น ส.ว. ท่านไม่เข้าใจ แต่พวกเรารู้ว่าแนวทางกระบวนการนิติบัญญัติผ่านมากว่า 80 ปี เราปฏิบัติกันอย่างไร เราทำทุกสิ่งทุกอย่างตามกฎหมาย” นายวิทยา กล่าว
ส่วนคำถามที่ว่า การร่วมลงลายมือชื่อเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของ ส.ว. มีเหตุผลอย่างไร และคิดว่าเป็นกากระทำที่เข้าข่ายเป็นการกระทำที่ขัดกันแห่งผลประโยชน์ ซึ่งต้องห้ามตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่ ประการใด
นายดิเรก ถึงฝั่ง อดีต ส.ว.นนทบุรี กล่าวว่า ยืนยันเรื่องนี้ไม่ขัดกับผลประโยชน์ การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นเป็นหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ชัดเจน และไม่ได้หมายความว่าเมื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว อดีต ส.ว. ทั้ง 38 คน จะลงเลือกตั้ง ทั้งนี้อดีต ส.ว. 38 คนเหนื่อย และท้อแท้ ยังไม่ได้คิดเลยว่าจะลงเลือกตั้งอีกหรือไม่ เพราะฉะนั้นเมื่อเรายังไม่ได้คิดจะลงเลือกตั้งอีก เมื่อเราทำหน้าที่ของเราจบแล้ว ก็คือจบ แต่ถ้าผลประโยชน์ทับซ้อน นั่นหมายถึงว่า เมื่อไหร่ที่เราลงรับเลือกตั้ง เราก็อาจถูกกล่าวหาว่าผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งแต่ละคนยังไม่มีใครคิดจะลงเลย
“เพราะฉะนั้นถ้าเป็นความผิด ก็คือความผิดยังไม่สำเร็จ องค์ประกอบยังไม่ครบ แต่ที่ได้ประโยชน์แน่ ๆ คือประชาชนคนไทยทั้งประเทศ” นายดิเรก กล่าว
อ่านประกอบ : อ้างฟังไม่ขึ้น! ป.ป.ช.งัดญัตติแถลงเชือด 38 ส.ว.โหวตร่างสอดไส้แก้รธน.