ธาม เชื้อสถาปนศิริ: จริยธรรมนักข่าว
หมายเหตุ: เนื้อหาส่วนหนึ่งของตำราปริทัศน์ที่ชื่อว่า จริยธรรมนักข่าว: ประเด็นปัญหาวารสารศาสตร์ยุคสื่อใหม่? Ethics for Journalist ., Richard Keeble 2nd edition โดย ธาม เชื้อสถาปนศิริ ตีพิมพ์ในวารสารอิศรา ปริทัศน์ ฉบับที่ 5 พ.ศ.2557
“ธาม” มีความเห็นว่า หนังสือชื่อ “Ethics for Journalist” ., Richad Keeble., 2nd Edition., Routledge 2009 นั้น โดดเด่นมากในการยกสถานการณ์ปัญหาด้านจริยศาสตร์ที่นักข่าว ผู้สื่อข่าว ช่างภาพ และกองบรรณาธิการประสบในสภาพการทำงานสื่อปัจจุบัน
“Ethics for Journalist” ของ ริชาร์ด คีเบิ้ล เต็มไปด้วยข้อเสนออีกมากมายในการท้าทายสื่อมวลชนว่า สามารถต่อสู้กับปัญหาจริยธรรมที่เกิดขึ้นจากบทบาทหน้าที่ของตนเอง กับสภาวะแรงกดดันแวดล้อมทางวิชาชีพ และความเปลี่ยนแปลงไปของภูมิทัศน์สื่อและเทคโนโลยีได้อย่างไร และสถานการณ์ปัญหาทางจริยธรรมแบบใด ที่นักข่าวต้องเผชิญ และมีนักข่าวคนไหน สำนักพิมพ์ใด ได้ลองผิดลองถูกและผ่านพ้นสถานการณ์แบบนั้นมาแล้วอย่างไร
จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้ คือ การรวบรวมและถ่ายทอดกรณีศึกษาของสื่อมวลชนอังกฤษและอเมริกา พร้อมทั้งลงลึกในรายละเอียดของปัญหา พัฒนาการ และข้อควรพิจารณาในเชิงจริยธรรม และมีข้อเสนอวิธีการตัดสินใจทางวารสารศาสตร์ที่แม่นยำ เที่ยงตรง ต่อพันธกิจของนักข่าว ว่า ไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนแปรไปมากเช่นไร บทบาทของสื่อมวลชนก็จะยิ่งต้องปรับตัวรองรับและยืนหยัดต่อความถูกต้อง เกียรติยศและศักดิ์ศรีวิชาชีพได้เฉกเช่นนับตั้งแต่มีวิชาชีพนี้ในสังคม
สำนักข่าวอิศรา ตัดทอนเอาเฉพาะ หัวข้อ (ที่ 6) Dumbing down or dumbing up? The tabloidization controversy./ โง่ลง หรือ โง่ขึ้น: กับข่าวเร้าอารมณ์ มีเนื้อหาดังนี้
“ริชาร์ด” ตั้งสมมติฐานว่า ทุกวันนี้สื่อตกเป็นทาสเรื่องเซ็กส์ เรื่องเร้าอารมณ์ ทั้งหมดนี้เพื่อมุ่งแต่กำไรสูงสุดของตนเอง เพื่อเพิ่มผู้อ่าน และยอดจำหน่ายที่มากขึ้น?
ข้อพิสูจน์ของริชาร์ด ผ่านการค้นคว้างานวิจัยและคำกล่าวหามากมาย ชี้ชัดไปที่สัดส่วนของเนื้อหาข่าวทางเพศและเรื่องราวเร้าอารมณ์ที่เพิ่มสูงขึ้นบนข่าวหนังสือพิมพ์หน้าหนึ่ง หรือแม้กระทั่ง
รายงานข่าวโทรทัศน์ทุกเช้าค่ำ น่าจะเป็นหลักฐานยืนยันข้อสรุปที่ว่า “หนังสือพิมพ์กำลังทำให้คนโง่ลงเรื่อยๆ”
“เรื่องเพศ คำโกหก และการล่วงละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของคนดัง เป็นจิตวิญญาณของสื่อมวลชนอังกฤษ”
ปัญหา คือ
(1) แนวทางการทำข่าวเร้าอารมณ์ ใส่สีสัน เน้นมิติเชิงอารมณ์ของหนังสือพิมพ์อังกฤษได้คุกคามเข้าไปสู่ข่าวสารทุกประเภท ทั้งข่าวการเมือง กีฬา สงคราม และข่าวต่างประเทศ ซึ่งนั่นทำให้แนวทางการเล่าเรื่อง การคัดเลือกคุณค่าข่าวเปลี่ยนไปมาก จากข่าวที่เน้นเนื้อหาสาระสำคัญของผลกระทบต่อสังคม หรือความเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวประชาชน กลับมาเน้นเรื่องความเข้มข้นเชิงอารมณ์และความกระหายใคร่รู้ของสังคมแทน
(2) ข่าวร้ายมากกว่าข่าวดี เพื่อที่จะได้ข่าวเร้าอารมณ์มากขึ้น สื่อมวลชนจะยิ่งขวนขวายค้นหาข่าวร้ายอย่างบ้าคลั่ง พวกเขากระหายที่จะนำเสนอแต่เรื่องราวชวนโศกเศร้าเคล้าน้ำตา ซึ่งมักมาจากโศกนาฎกรรมและชะตาชีวิตอันแสนจะเหลือเชื่อ จากข่าวอาชญากรรม เรื่องราวชู้สวาทของดาราคนดัง และชะตากรรมอันพลิกผันของฮีโร่ และผู้ร้ายในทุกๆ แง่มุมที่จะสามารถขายได้
(3) รายการโทรทัศน์จอมปลอม ถูกผลิตเพิ่มขึ้นอย่างมากเพื่อออกาอากาศฉายเรื่องราวอันสุดแสนหดหู่ ซาบซึ้ง ซึ่งนั่นก็มาพร้อมๆ กับแนวทางข่าวเบาๆ แบบ “soft news” ที่ผลักดันให้อุตสาหกรรมโทรทัศน์ รายการสนทนา เกมโชว์ และข่าวสั้นชั่วโมงบันเทิงมากมาย ต่างก็เร่งสั่งให้นักข่าวค้นหาเรื่องราวที่เร้าอารมณ์มากขึ้น
(4) รายการข่าวสืบสวนขาดหายไปจากหน้ากระดาษและผังโทรทัศน์ แต่ถูกแทรกแทนที่ด้วยรายการตลก
(5) รายการข่าวปรับตัวมาเป็นรายการคุยข่าวเล่าข่าว สถานีโทรทัศน์ปรับเปลี่ยนแนวทางการนำเสนอข่าวมากมายให้มีวิธีการสร้างความง่ายในการเสพข่าว พิธีกรที่มีลีลาชวนดู คำพูดที่ชวนฟัง ท่าทางที่ชวนมอง เนื้อหาข่าวที่ชวนสงสัย ผ่านเสียงสนทนาที่ชวนหัว ฯลฯ นั่นยิ่งทำให้เนื้อหาข่าวสารตกเป็นรองและสำคัญน้อยกว่าลีลาการนำเสนอข่าว และทำให้พิธีกรข่าวกลายเป็นตัวชูความสำคัญของรายการมากกว่าคุณภาพของข่าว
(6) นักข่าวกล้าตาย กล้าเสี่ยงมากขึ้น มีรายงานข่าวโทรทัศน์ในอังกฤษมากมาย ที่ผู้สื่อข่าวภาคสนามต้องทำอะไรแปลก เสี่ยง ท้าทายความตาย หรือต้องมีแก๊กตลก หรือชุดแต่งกายที่ดูไม่เข้ากันกับรายการไปทุกที ยังไม่นับว่านักข่าวเหล่านั้นต้องมีท่าทางประจำส่วนตัวเพื่อให้ผู้ชมจดจำเขาหรือเธอได้
ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งที่กัดกร่อนความเข้มข้นของเนื้อหาข่าวให้กลายเป็นเนื้อหาเพื่อความบันเทิงไปหมดแล้ว