ไพโรจน์ พลเพชร ตั้งคำถามกมธ.ร่าง รธน. เคารพสิทธิความเป็นมนุษย์จริงหรือ ?
"คนใช้อำนาจแทนฝ่ายการเมืองในอนาคต มีแนวโน้มว่าจะเป็น ราชการ ที่สำคัญไม่ใช่ตัวคน แต่เป็นความคิดต่างหาก ใครก็ตามที่มีความคิดแบบเจ้าขุนมูลนาย ใครก็ตามคิดแบบลำดับชั้น ไม่เคารพสิทธิคน เป็นความคิดแบบระบบราชการทั้งสิ้น"
เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นายไพโรจน์ พลเพชร กรรมการปฏิรูปกฎหมาย ถกแถลงถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไว้ในเวทีสภาประชาชนเพื่อการปฏิรูปครั้งที่ 2 จับตาเพิ่มอำนาจรัฐ ปกป้องอำนาจประชาชน รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องดีกว่าเดิม ณ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
ไพโรจน์ พลเพชร มีมุมมองถึงการร่างรัฐธรรมนูญที่แท้จริงเป็นการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจใหม่ ซึ่งกติกาที่พยายามจะเขียนในรัฐธรรมนูญนั้นต้องการจัดความสัมพันธ์ใหม่ คือ จัดความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรของรัฐ รัฐสภา รัฐบาล วุฒิสภา องค์กรอิสระ จะสัมพันธ์กันแบบไหน และเป็นการจัดความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานของรัฐกับประชาชน พร้อมกับเห็นว่า รัฐธรรมนูญที่กำลังยกร่างอยู่ขณะนี้ มีธงที่ชัดเจนว่า ต้องการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง
1.ทำประชาธิปไตยให้เหมาะสมกับสังคมไทย แล้วประชาธิปไตยให้เหมาะสมกับสังคมไทย เป็นอย่างไร ซึ่งข้อโต้แย้งที่ผ่านมาตลอด คือ ประชาธิปไตยไม่จำเป็นต้องมีการเลือกตั้งก็ได้
2.ธงที่ทำให้ได้ คือ ต้องตรวจสอบควบคุมนักการเมืองให้อยู่มัด ไม่ว่าวิธีไหนๆ รวมถึงคนทุจริตไม่ให้สู่การเมืองอีกต่อไป บรรจุในรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 35
3.ต้องไม่มีประชานิยม ไม่ให้มีนักการเมืองมาใช้ประชานิยม
“นี่เป็นธงนำ ที่สำคัญ คือ การจำกัดการใช้อำนาจของฝ่ายการเมืองให้มากที่สุด มาตรการทั้งหลาย เลือกตั้ง การปรับเปลี่ยนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ปลัดกระทรวง 7-8 กระทรวงทำหน้าที่แทน น่าจะอิสระและตรวจสอบได้"
กรรมการปฏิรูปกฎหมาย ได้ตรวจสอบการร่างรัฐธรรมนูญ และมีข้อสังเกตที่พบ
1.แท้จริงในหมวดว่า ด้วยสิทธิเสรีภาพประชาชน ซึ่งเป็นพื้นที่อำนาจของประชาชนมีพื้นที่มีสิทธิ์มีเสียงอะไรบ้าง นโยบายของรัฐ หน้าที่ของรัฐต้องทำอะไรให้กับประชาชน รัฐธรรมนูญปี 2550 ไม่ได้มีปัญหาในหมวดสิทธิเสรีภาพ แค่ยังไม่สามารถบังคับสิทธิให้เป็นไป แล้วทำไมสมัยนี้จึงมาแก้ใหม่ แบ่งสิทธิเป็น 2 ประเภท สิทธิมนุษยชน และสิทธิพลเมือง
“การแก้แบบนี้ ตอบโจทย์อย่างไร และเป็นประโยชน์ใคร ต้องการให้พลเมืองไทย กับไม่เป็นพลเมืองไทย มีความแตกต่างกันเรื่องสิทธิ เป็นประโยชน์ใคร เช่น พลเมืองมีสิทธิและค่าจ้าง ถ้าอย่างนั้น แรงงานข้ามชาติจะได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรมหรือไม่ เพราะไม่ได้เป็นพลเมืองไทย นี่เป็นความเข้าใจผิดหรือไม่”
ขณะเดียวกัน “ไพโรจน์” ยกตัวอย่าง พี่น้องชาติพันธุ์ที่ยังไม่ได้สัญชาติไทย เมื่อยังไม่ได้เป็น “พลเมือง” จะใช้สิทธิอย่างอื่นได้หรือไม่ ทั้งเรื่องของการรักษาพยาบาล การศึกษา การได้แสดงความคิดเห็น รวมไปถึงชุมนุม ทำได้หรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญเขียนว่า “เป็นสิทธิของพลเมืองเท่านั้น” แสดงความคิดเห็นต่อโครงการของรัฐได้ไหม จัดตั้งกลุ่มได้ไหม นี่จึงเป็นคำถาม
“ตกลงแก้รัฐธรรมนูญกันคนเหล่านี้ออกใช่หรือไม่ ทำไมมาแก้แบบนี้ ซ้ำร้ายกว่านั้น อ่านแล้วตกใจมาก คำนี้ควรหายไปจากรัฐธรรมนูญ มีการระบุ “คุ้มครองชนพื้นเมือง และชนกลุ่มน้อย” ในหมวดนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ภาษาชนกลุ่มน้อย เป็นภาษาที่รัฐเรียก พี่น้องคนอื่น ที่ไม่ใช่ชนไทย
ทำไมรัฐธรรมนูญ ฉบับนี้ที่เรียกว่าก้าวหน้าใช้คำว่า ชนกลุ่มน้อย ประเทศไทยไม่เคยมีชนกลุ่มใหญ่ เพราะมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ รวมกันเป็นรัฐชาติ แต่เดิมทุกคนเป็นชนกลุ่มน้อย เราเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม มารวมกันเป็นรัฐชาติ
ภาษาชนกลุ่มน้อย เป็นภาษาที่รัฐใช้เรียกชาวเขาในอดีตที่ผ่านมา ถามว่า ทำไมถึงตอกย้ำแบบนี้ พี่น้องชาวเขา เรียกตัวเองว่า กลุ่มชาติพันธุ์ แต่ทำไมรัฐธรรมนูญจึงให้คุณค่าอีกแบบหนึ่ง นี่จึงไม่ใช่ความเผลอเลอ แต่อยู่ที่คนที่เขียน สำนึกอยู่ในคนที่เขียน ลึกซึ้งจริงไหม เคารพสิทธิความเป็นมนุษย์จริงหรือไม่ นี่เป็นคำถาม”
กรรมการปฏิรูปกฎหมาย ขอให้ตรวจสอบเรื่องระหว่างสิทธิพลเมืองกับสิทธิมนุษยชนให้แม่น เพราะคนที่ยังไม่ได้สัญชาติไทย จะไม่ได้สิทธิ คำถามใหญ่ พี่น้องไทยผลัดถิ่น ชาวเขา ที่ยังไม่มีสัญชาติไทยเป็นแสนคน เขียนในรัฐธรรมนูญไว้แบบนี้จะกันคนเหล่านี้หรือไม่ “ผมตั้งคำถามกับกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ”
หมวดสิทธิ แท้จริงมีปัญหาอะไร กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้วิเคราะห์ แต่เดิม รัฐธรรมนูญ 2540 วิเคราะห์ไม่มีกฎหมายลูก พอมารัฐธรรมนูญปี 2550 ตัดไม่ให้มีกฎหมายลูก พอ 2550 มีปัญหาอะไรก็ต้องตอบโจทย์ปัญหานั้น เพื่อพัฒนาหมวดสิทธิ แต่ไม่ใช่ใช้องค์ความรู้อะไรไม่รู้มาเขียนแยก 2 สิทธิ สิทธิมนุษยชน และสิทธิพลเมือง ถามว่า แก้อะไร”
2.การใช้กลไกตรวจสอบฝ่ายการเมือง
เช่น มีสภาตรวจสอบภาคประชาชนประจำจังหวัด มีสมัชชาคุณธรรม ซึ่งเรื่องคุณธรรม พูดไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2550 ให้ ผู้ตรวจการแผ่นดินทำ ซึ่งก็ไม่เคยประเมินว่า ทำไม่ได้เพราะอะไร เปลี่ยนใหม่ให้ สมัชชาคุณธรรม 55 คน มาตรวจสอบคุณธรรมคนใช้อำนาจทุกระดับ
“ถามว่า แก้โจทย์นี้ได้หรือไม่ หรือจินตนาการของคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น”
การมีกลไกตรวจสอบฝ่ายการเมือง ไพโรจน์ ระบุว่า ขณะนี้หลายท่านพอใจ ถามต่อไปในอนาคต เราไม่รู้ว่าใครเข้าสู่อำนาจตรงนี้ ใครจะเป็นสมัชชาคุณธรรม สภาประชาชน มาอย่างไร มาแบบไหน นี่เป็นคำถาม
“ผมไม่มั่นใจ สภาตรวจสอบภาคประชาชนประจำจังหวัด หรือมีสมัชชาคุณธรรม จะตรวจสอบฝ่ายการเมืองได้ เอาเข้าจริงใครจะมานั่ง”
3.เรื่องกระจายอำนาจ แท้จริงการพัฒนาประชาธิปไตย คือการกระจายอำนาจ
ข้อสังเกต
1.ในหมวดว่า ด้วยการกระจายอำนาจ เดิมเรียก การปกครองส่วนท้องถิ่น นัยยะของการปกครองส่วนท้องถิ่น คือการยอมรับสิทธิการปกครองตนเองของคนในท้องถิ่น แต่การมาเปลี่ยนเป็น กระจายอำนาจ และการบริหารส่วนท้องถิ่น ความหมายคืออ้างว่า รัฐนี้เป็นของไทยทุกคน จังหวัด อบต. เป็นการจัดระบบบริหาร ไม่ใช่สิทธิในการปกครองดูแลตนเอง
“ใช้ภาษาแบบนี้ดูเหมือนกัน แต่จริงๆ ไม่เหมือนกัน ไม่เคารพการดูแลตัวเอง จังหวัดปกครองตัวเอง”
2.ยังคงยอมรับในรัฐธรรมนูญ ว่า จัดความสัมพันธ์ 3 แบบ ราชการท้องถิ่น ราชการส่วนกลาง ราชการภูมิภาค ถามว่า ภูมิภาคโผล่มาจากไหน เพราะภูมิภาค คือ ส่วนกลาง แต่ทำไมต้องมีในรัฐธรรมนูญ
เพราะในปี 2550 เขียนในรัฐธรรมนูญ “ภูมิภาค” อาจไม่อยู่ มีการกลัวว่า ภูมิภาคจะหายไป เลยเขียนไว้ให้หนักแน่น “ผมต้องอยู่ พื้นที่อำนาจต้องอยู่” แท้จริงก็คือส่วนกลาง และผู้ใช้จะต้องจัดโอกาส หน้าที่ และงบประมาณ 3 ส่วนนี้ให้สมดุล หมายความว่า การที่จะมีจังหวัดจัดการตัวเองโดยจะไม่มีอำนาจ จะขัดต่อรัฐธรรมนูญ
ประเด็นต่อมาคือ การบริหาร
1.ให้มี “องค์การบริหารภาค” ขึ้นมา เดิมเรียกว่ากลุ่มจังหวัด กรรมการบริภาคเป็นราชการส่วนกลาง แต่ไม่รู้ว่ามาจากไหน ทำหน้าที่รวมระหว่างหลายจังหวัด ทำหน้าที่ให้แผนบริหารเป็นไปตามแผนชาติ แล้วสามารถโอนอำนาจของราชการภูมิภาค ผู้ว่า นายอำเภอ ท้องถิ่นกระทรวง มาอยู่ตรงได้ หรือลัทธิมณฑลสมัยรัชกาลที่ 5
“ไปอ่านดูนะ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ผมไม่ได้พูดเล่น” จัดทำแผนภาคให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาประเทศ ดังนั้น การทำแผนของจังหวัดของท้องถิ่น ไม่มีทางหลุดจากแผนพัฒนาประเทศ ถ้าแผนประเทศบอกว่า ต้องเดินไปสนับสนุนอุตสาหกรรมถามว่าแผนจังหวัดจะหลุดจากแผนพัฒนาอุตสาหกรรมได้หรือไม่
2.บอกว่า ผู้บริหารท้องถิ่น สภาท้องถิ่น มาจากากรเลือกตั้งโดยตรง หรือมาจากความเห็นชอบของประชาชน ด้วยวิธีการอื่นก็ได้ หมายความว่าอย่างไร ไม่จำเป็นต้องมาจากเลือกตั้ง และอาจรองรับเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษด้วย ซึ่งตอนนี้ประกาศไปแล้วหลายพื้นที่
3.การบริหารระดับจังหวัด ซึ่งไม่จำเป็นต้องมาจากเลือกตั้ง และนี่คือหลักฐานใหญ่ที่สุด “ผมยืนยันว่า ผู้ใช้อำนาจรัฐต้องมาจากการฉันทานุมัติประชาชน โดยผ่านการตั้งเลือกตั้ง นี่คือประชาธิปไตยไทยที่หลายคนชอบ”
4. การให้มี “สมัชชาพลเมือง” หมายถึงให้ประชาชนมีส่วนร่วม เพราะเขียนไว้ชัดเจน
ข้อสังเกตคือ ถ้าท้องถิ่นไม่ถูกกระจายอำนาจลงไปจริง สมัชชาพลเมืองจะมีน้ำยาอะไร ไม่มีงบ ไม่ได้อำนาจจัดการตัวเอง ก็กลายเป็นที่ประชุมหลายๆ สมัชชาทำความเห็น แต่อำนาจยังอยู่ส่วนกลาง นี่จึงเป็นกลลวง
“แนวคิดต้องกระจายอำนาจลงไประดับจังหวัด สมัชชาหรือสภาพลเมืองต้องใช้อำนาจร่วมกัน เป็นประชาธิปไตยทางตรง เลือกตัวแทนโดยตรง และต้องโอนอำนาจไปอยู่ที่จังหวัดและท้องถิ่นก่อน ถึงจะเป็นพัฒนาประชาธิปไตยที่แท้จริงได้ สภาพลเมืองจึงสามารถกำหนดวิถีชีวิตของคนในแต่ละจังหวัดได้ ไม่เช่นนั้นจะไม่มีทาง”
4.เรื่องการองค์กรอิสระ
มีการยุบกรรมการสิทธิมนุษยชน รวมกับผู้ตรวจการแผ่นดิน เปลี่ยนวิธีการสรรหาคนใหม่เป็น 12 คน 1.เลือกมาจากศาลฏีกา 2 คน 2.จากตุลาการศาลปกครอง 2 คน 3.พรรคการเมืองฝ่ายค้าน 2 คน 4.กลุ่มการเมือง ตัวแทนรัฐบาล 2 คน 5.จากอธิการบดี 2 คน 6.สมัชชาคุณธรรม 2 คน ดังนั้นคนที่จะเข้าสู่องค์กรอิสระทั้งหลายจะต้องเลือกเข้าสู่วุฒิสภา แต่ยังไม่รู้ว่าวุฒิสภามาจากอะไร
“ผมฟังแว่วๆ ว่า ปฏิเสธการเลือกตั้งให้มาจากการสรรหาโดยสภาวิชาชีพ ที่สำคัญกว่านั้น ถ้าวุฒิสภาเห็นว่า ทหาร และราชการ เป็นอาชีพหนึ่ง ผมว่าประเทศเจ๊ง เพราะเขาใช้อำนาจรัฐอยู่แล้ว คุณเป็นวุฒิสภาเพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจออกกฎหมายได้อย่างไร ใช้หลักการอะไรประเทศนี้
ฟังแว่วๆ ว่า จะต้องมีอาชีพราชการมาอยู่วุฒิสภา ตำรวจ ทหาร ข้าราชการพลเรือน ถ้าใช้สัดส่วนแบบนี้ เป็นอาชีพหมด แท้จริงไม่ใช่ เพราะเขาเป็นผู้ใช้อำนาจรัฐ คนใช้อำนาจรัฐไปออกกฎหมายเองหรือ ประเทศไหนทำกัน
ผมจินตนาการว่า องค์กรอิสระจะเป็นที่สิงสถิตของอดีตข้าราชการ ขอให้ผมจินตนาการผิด ขอให้เป็นการมโน แล้วสภาคุณธรรมและสภาตรวจสอบก็จะเป็นที่สิงสถิตของข้าราชการส่วนหนึ่งด้วย”
กรรมการปฏิรูปกฎหมาย ยืนยันหนักแน่นว่า กรรมการสิทธิมนุษยชนกับผู้ตรวจการแผ่นดิน ไม่เหมือนกัน ถ้ารับรองสิทธิในรัฐธรรมนูญ จะต้องมีองค์กรสิทธิพิทักษ์สิทธิปกป้องสิทธิตามรัฐธรรมนูญ มิเช่นนั้น สิทธิ จะไม่มีความหมาย เพราะคนที่จะคุ้มครอง และให้สิทธิเกิดขึ้นจริงคือ รัฐ แต่รัฐได้พิสูจน์ให้เห็นมาตลอดว่ารัฐไม่ได้ทำหน้าที่คุ้มครองดูแล เลยต้องมีองค์กรพิทักษ์สิทธิขึ้นมาเพื่อตรวจการใช้อำนาจ ดังนั้น กรรมการสิทธิฯ ต้องอยู่ ไม่ใช่ผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิประชาชน ฉะนั้นจึงต้องแยกออกจากกัน เพราะผู้ตรวจการแผ่นดิน มีหน้าที่ตรวจสอบการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่รัฐทำผิดกฎหมายหรือไม่เท่านั้น ไม่ได้ตรวจสิทธิมนุษยชน และสิทธิประชาชน ก็ไม่ใช่สิทธิมนุษยชน
ผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิประชาชน ทำให้สิทธิมนุษยชนหายไป
ถ้าทิศทางเป็นเช่นนี้ คนใช้อำนาจแทนฝ่ายการเมืองในอนาคต ไม่ว่าสิงสถิตอยู่ในองค์กรอิสระ 5 องค์กร สมัชชาคุณธรรม วุฒิสภา มีแนวโน้มว่าจะเป็น ราชการ ที่สำคัญไม่ใช่ตัวคน แต่เป็นความคิดต่างหาก
“ใครก็ตามที่มีความคิดแบบเจ้าขุนมูลนาย ใครก็ตามคิดแบบลำดับชั้น ไม่เคารพสิทธิคน เป็นความคิดแบบระบบราชการทั้งสิ้น เป็นชาวนาก็คิดแบบเจ้าขุนมูลนายได้เช่นกัน”
วิธีคิดของการร่างรัฐธรรมนูญพยายามจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ลดทอน จำกัด ควบคุม กำกับ ฝ่ายการเมือง แล้วใช้ราชการไปแทนที่ อันนี้เป็นของจริงการใช้อำนาจในรัฐธรรมนูญใหม่