อดีตส.ว. ยัน 'ชนกลุ่มน้อย' คำที่ไม่ควรบรรจุไว้รัฐธรรมนูญใหม่
เตือนใจ ดีเทศน์ ชี้ไม่ควรใช้คำว่าชนกลุ่มน้อยในรัฐธรรมนูญ ระบุเป็นการไม่เคารพสิทธิมนุษยชน สร้างความรู้สึกแตกแยก
จากกรณีคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้มีการรายงานความคืบหน้าการพิจารณาบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญรายมาตรา โดยเฉพาะในหมวด 2 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ มาตรา (2/2/-) 7 รัฐต้องส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น ซึ่งในข้อ 5 ระบุ "คุ้มครองชนพื้นเมืองและชนกลุ่มน้อยให้ดำรงอัตลักษณ์ของตนได้อย่างมีศักดิ์ศรี"
การใช้คำว่า "ชนกลุ่มน้อย" ถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญทำให้นักกฎหมายและกลุ่มนักวิชาการที่ทำงานด้านนี้มีความเป็นห่วงว่าจะเป็นการใช้คำที่ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
นางเตือนใจ ดีเทศน์ ที่ปรึกษามูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขาเชียงราย และอดีตสมาชิกวุฒิสภา กล่าวกับสำนักข่าวอิศราถึงการใช้คำว่า ชนกลุ่มน้อยในร่างรัฐธรรมนูญขณะนี้ว่า ในปัจจุบันนี้ไม่ใช้คำว่าชนกลุ่มน้อยแล้ว และกติกาของสหประชาชาติให้ใช้คำว่า ชนเผ่าพื้นเมือง แต่นักมานุษยวิทยาก็ยังไม่เห็นด้วยที่จะใช้คำนี้ เพราะคำว่าชนเผ่าพื้นเมืองหมายถึงคนล้าสมัยที่อยู่ในป่า โดยในปัจจุบันจะใช้คำว่าชนชาติพันธุ์ แทนคำว่าชนกลุ่มน้อย เนื่องจากคำนี้เป็นถ้อยคำที่งดงาม เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และเป็นการบ่งบอกว่า ชนชาติพันธุ์ คือ คนที่สืบทอดภูมิปัญญา
“การได้ยินคำว่าชนกลุ่มน้อย พอฟังยิ่งเป็นการตอกย้ำและสร้างความแสลงใจไม่น้อย หากเสนออย่างน้อยอยากให้ในรัฐธรรมนูญใช้คำว่า ชนชาติพันธุ์ หรือชนพื้นเมือง ชนพื้นเมืองคือคนที่อยู่ในพื้นที่มานาน ส่วนชาติพันธ์คือกลุ่มคนที่มีวัฒนธรรม ภาษา ประเพณี แบบเดียวกัน และจะเป็นการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างแท้จริง ไม่อยากให้ใช้คำว่าชนกลุ่มน้อย”
อดีตส.ว. กล่าวด้วยว่า ส่วนการที่รัฐธรรมนูญที่กำลังร่างใหม่นี้เน้นคำว่า "พลเมือง" นั้นต้องดูนิยามที่ให้ไว้กับคำนี้ด้วยว่านิยามหมายถึงอะไร หากคำว่าพลเมืองหมายถึงบุคคลที่มีตัวตน ร่างกายในแผ่นดินไทย หรือคนมีสัญชาติไทย การนิยามแบบนี้จะส่งผลให้คนที่อยู่ในกระบวนการพิสูจน์สัญชาติต้องจบลงไปด้วย ซึ่งปัญหาการนิยามเช่นนี้ก็ทำให้เกิดปัญหาในปัจจุบัน เช่น พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ ที่นิยามไว้ว่าผู้สูงอายุคือคนที่มีอายุ 60 ปี และมีสัญชาติไทย ซึ่งการนิยามทำให้สิทธิพ.ร.บ.ต่างๆ มีความหมายคับแคบ และไม่เป็นไปตามปฏิญญาสากลของสหประชาชาติที่มนุษย์ต้องมีศักดิ์ศรีอย่างเท่าเทียมกัน ดังนั้นหากรัฐธรรมนูญไม่ระบุนิยามของพลเมืองที่หมายถึงทุกคนในแผ่นดินไทย ในอาเซียนก็จะมีความลำบาก
“ที่สำคัญไปกว่านั้นคำว่า ชนกลุ่มน้อยเป็นคำที่ไม่ควรใช้ที่สุดในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะเป็นการแยกคน ทำให้เกิดความรู้สึกไม่เป็นปึกแผ่น สร้างความรู้สึกว่ามีชนกลุ่มใหญ่กับชนกลุ่มน้อยให้รู้สึกแบ่งแยก และควรเปลี่ยนมาใช้คำว่าชนชาติพันธุ์แทน”
ขอบคุณภาพจากเดลินิวส์