“คอร์รัปชั่นสีเทา”ของ สนช. ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว
"..ตำแหน่ง สนช. เป็น“ตำแหน่งสาธารณะ” ผลจากการกระทำหรือการตัดสินใจในการแต่งตั้งภรรยาและบุตรของ สนช. ซึ่งเป็นบุคคลสาธารณะ ก่อให้เกิดผลเสียหายต่อสาธารณะหรือผลประโยชน์ส่วนรวม (ได้รับผลตอบแทนเป็นเงินเดือนจากภาษีประชาชน) จึงเป็นเรื่องของสาธารณะอย่างชัดเจน .."
มีความเห็นที่หลากหลายต่อกรณีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นับสิบคนแต่งตั้งคนใกล้ชิดได้แก่ภรรยาและบุตรเป็นผู้เชี่ยวชาญประจำตัว ผู้ชำนาญการประจำตัว ช่วยดำเนินงานในการทำหน้าที่นิติบัญญัติ รับเงินเดือนตั้งแต่ 15,000 -24,000 บาท
บ้างก็ว่าไม่ผิดกฎหมาย แต่ไม่เหมาะสม
บ้างก็ว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of interest) แต่ไม่ถึงกับ “คอร์รัปชั่น” โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มองว่าเป็นเรื่อง “ส่วนบุคคล” แต่ไม่ขอตอบว่า “ผิด”หรือ “ถูก” ให้ประธาน สนช.ไปจัดการกันเอง
หลายคนอาจไม่แปลกใจต่อ“ทัศนคติ”และ“ท่าที”ของนายกฯ เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งเติบโตมาจากระบบราชการทหารก็เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์กรณีแต่งตั้ง “น้องชาย” เป็น สนช.มาก่อนแล้ว (แม้เป็นคนดี มีความสามารถ)
ความจริงเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of interest)เป็นเส้นบางๆใกล้ตัว เป็นแนวคิดสมัยใหม่ (ถูกนำมาใช้ตั้งแต่ สมัยรัชกาลที่ 5) ที่ต้องการแยกประโยชน์ส่วนตัว และอำนาจส่วนบุคคล ออกจากอำนาจทางการเมือง เพื่อปกป้องประโยชน์ของสาธารณะ (Public interest) หรือ ก็เพื่อขจัดอำนาจโดยมิชอบของนักการเมืองนั่นเอง
ตำแหน่ง สนช. เป็น“ตำแหน่งสาธารณะ” ผลจากการกระทำหรือการตัดสินใจในการแต่งตั้งภรรยาและบุตรของ สนช. ซึ่งเป็นบุคคลสาธารณะ ก่อให้เกิดผลเสียหายต่อสาธารณะหรือผลประโยชน์ส่วนรวม (ได้รับผลตอบแทนเป็นเงินเดือนจากภาษีประชาชน) จึงเป็นเรื่องของสาธารณะอย่างชัดเจน
รูปธรรมที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนของนักการเมือง (บุคคลสาธารณะ)และคดีถึงที่สุดในช่วงที่ผ่านมาก็คือ
กรณีการขายที่ดินย่านถนนรัชดาเนื้อที่ 33 ไร่ 772 ล้านบาทของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบ สถาบันการเงินของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ขณะเป็นนายกฯให้ภรรยาตัวเอง ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินจำคุก พ.ต.ท.ทักษิณเป็นเวลา 2 ปี เมื่อวันที่ 17 ก.ย.51 (คำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลข แดงที่ อม.1/2550)
กรณีการจัดรายการ “ชิมไปบ่นไป” และรายการ “ยกโขยง 6 โมงเช้า”ของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ให้แก่ บริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด ได้รับค่าตอบแทนค่าพาหนะ (คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 12-13/2551)
และกรณีการถือครองหุ้นบริษัท ทรัพย์ฮกเฮง จำกัด เกิน 5% ของภรรยานายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 9/2551)
ที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้นายสมัครและนายไชยา มีความผิด ขาดคุณสมบัติจากความเป็นรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 ก.ย.51 และ 9 ก.ค.51 ตามลำดับ ล้วนเป็นผลมาจากกระทำผิดหลักและข้อห้ามในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนทั้งสิ้น
มาถึงกรณีแต่งตั้งบุคคลในครอบครัวของ สนช. แม้ไม่ผิดกฎหมาย แต่มีความชัดเจนอยู่ในตัวเองว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน ระหว่าง ผลประโยชน์ส่วนตัว กับ ผลประโยชน์สาธารณะ
อย่าลืมว่า“ผลประโยชน์ทับซ้อน”(ในทางวิชาการจัดเป็นคอร์รัปชั่นรูปแบบหนึ่ง?)อยู่ระหว่าง“สีดำ”กับ“สีขาว” โดยมี“หลักธรรมาภิบาล”กำกับอีกชั้น
ถ้าผู้ออกกฎหมายรวมถึงผู้นำสูงสุดไม่เข้าใจ (แกล้งไม่เข้าใจ?) ในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่เข้าใจคอร์รัปชั่นสีเทา ไม่ยอมรับและใช้วิธีชี้แจงแบบข้าง ๆ คู ๆ โอบอุ้มพวกเดียวกัน
ก็อย่าหวังเลยว่าจะปฏิรูปประเทศ และจะปราบคอร์รัปชั่น