‘รศ.วุฒิสาร’ ยันสมัชชาพลเมืองต้องไม่ใช่ที่ยืนของคน "อกหัก"ทางการเมือง
เลขาฯ พระปกเกล้า เผยสาระร่าง รธน.กระจายอำนาจ-บริหารท้องถิ่น ตั้ง ‘สมัชชาพลเมือง’ ให้คำแนะนำ ตรวจสอบ ‘รศ.จรัส สุวรรณมาลา’ มั่นใจทุกอย่างพร้อมเพิ่มอำนาจ ปชช. ถามคนไทยพร้อมเป็น ‘พลเมือง’ หรือยัง หลังติดกับดัก ‘ประชานิยม’ จนเป็นง่อย
วันที่ 1-5 มีนาคม 2558 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดเวทีฟื้นพลังชุมชนท้องถิ่นสู่การอภิวัฒน์ประเทศไทย ครั้งที่ 5 ประจำปี 2558 หัวข้อ พลังชุมชนท้องถิ่นปฏิรูปสังคม ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา
ในเวทีการประชุมสมัชชาปกครองท้องถิ่นเพื่อการปฏิรูป ครั้งที่ 5 รศ.วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ในฐานะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงสาระสำคัญในร่างรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการกระจายอำนาจว่า ได้เปลี่ยนชื่อ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นองค์กรบริหารท้องถิ่น เพราะต้องการให้ท้องถิ่นมีอำนาจการบริหารมากกว่าการปกครอง พร้อมขยายอำนาจหน้าที่ให้มากขึ้น จากเดิมมีรูปแบบเพียงฝ่ายสภากับฝ่ายบริหาร ยกตัวอย่าง องค์กรท้องถิ่นในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ อาจจำเป็นต้องมีระบบผู้จัดการเมืองขึ้นมา
นอกจากนี้ ยังให้มีระบบทำงานร่วมกับองค์กรท้องถิ่นมากขึ้นในรูปแบบสหการ มีภาคเอกชนและประชาสังคมเข้าร่วม โดยในร่างรัฐธรรมนูญระบุว่า หากประชาชนดำเนินการเรื่องใดดีแล้ว องค์กรบริหารท้องถิ่นต้องส่งให้ประชาชนดำเนินการแทน ซึ่งหลักการดังกล่าวจะนำมาใช้ในระดับรัฐด้วย เรียกว่า หลักแข่งขันเพื่อประสิทธิภาพ
กมธ.ยกร่างฯ กล่าวด้วยว่า กรณีการกำกับดูแลจะถูกถ่ายโอนมาที่ภาคประชาชนมากขึ้น สร้างกลไกและโอกาสมีส่วนร่วมบริหารงาน โดยบังคับให้องค์กรท้องถิ่นต้องรายงานกิจกรรมที่จะดำเนินงานให้ประชาชนทราบ สร้างกระบวนการหารือ ทำประชามติ และอาจให้มี ‘สมัชชาพลเมือง’ ตามบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่บังคับต้องเกิดขึ้นพร้อมกันทั้งหมด เพื่อเป็นที่ยืนของประชาชนตามความสนใจ เข้ามาให้คำปรึกษา คำแนะนำ และตรวจสอบ
“ข้อพึงระวังสำหรับการตั้ง ‘สมัชชาพลเมือง’ คือ ต้องไม่ให้เป็นที่ยืนของคน "อกหัก" ทางการเมือง มิเช่นนั้นจะกลายเป็นเครื่องมือใหม่ของผู้สมัครแพ้ เพื่อมาค้านผู้บริหารท้องถิ่น” รศ.วุฒิสาร กล่าว และว่า สมัชชาพลเมืองต้องมาจากความคิด ความสนใจ และความเป็นเจ้าของพื้นที่ คอยหาทางออกให้ท้องถิ่น แต่ไม่อยากให้เขียนชัดเจนทุกแห่งต้องมี เพราะจะไม่เกิดโดยธรรมชาติ
พร้อมเป็น ‘พลเมือง’ หรือยัง
ด้านรศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงร่างรัฐธรรมนูญพยายามลดอำนาจของรัฐบาลส่วนกลาง เพิ่มอำนาจประชาชนมากขึ้น และระบุไว้ชัดเจนให้จังหวัดที่มีความพร้อมจัดตั้งเป็นจังหวัดปกครองตนเองได้ ตามที่มีการรณรงค์ให้ปรับโครงสร้างท้องถิ่น ตลอดจนให้ อปท. ได้รับการจัดสรรงบประมาณโดยตรงเชิงพื้นที่มากขึ้น จากเดิมถูกจำกัดโดยนโยบายส่วนกลาง ทั้งนี้ คาดหวังว่า งบประมาณจะถูกใช้ผ่านเวทีภาคประชาชนในการจัดทำและบริหาร
“ทรัพยากร ขีดความสามารถ องค์กร ล้วนมีความพร้อม เหลือเพียงแต่ ‘พลเมือง’ พร้อมเป็นผู้ใหญ่หรือยัง” กมธ.ยกร่างฯ กล่าว และว่า ที่ผ่านมาคนไทยส่วนใหญ่เป็นราษฎร คุ้นเคยกับการรอรับบริการจากส่วนกลาง เป็นลูกไม่โต หากพลเมืองส่วนใหญ่พึ่งตนเองจริง นโยบายประชานิยมจะไม่แข็งแรงขนาดนี้
รศ.ดร.จรัส กล่าวต่อว่า คนไทยถูกทำให้เป็นลูกค้าของนโยบายประชานิยมมากแล้ว ซึ่งขืนปล่อยให้นโยบายดังกล่าวเดินต่อไปอีกระยะ คนไทยจะเป็น ‘ง่อย’ วัน ๆ แก้ปัญหาตัวเองไม่ได้ ปลูกข้าวขายไม่ได้ราคา ต้องให้รัฐบาลช่วยเหลือ กรีดยางพารา 100 บาท/3 กิโลกรัม ต้องให้รัฐบาลช่วยเหลือ ฉะนั้นขณะนี้ถึงเวลาต้องเปลี่ยนทิศหันมาสร้างพลเมืองจริง ๆ ที่ไม่ใช่คนรับการสงเคราะห์ แต่มีหน้าที่บริหารอำนาจ จึงต้องติดอาวุธอีกมาก
สำหรับองค์กรทำหน้าที่ร่วมกับท้องถิ่น กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า มีสมัชชาพลเมืองให้ข้อเสนอเชิงนโยบาย และหากมีงบประมาณจะต้องผ่านการดูแลและตรวจสอบด้วย พร้อมตั้งสภาตรวจสอบภาคประชาชน ซึ่งมีสมาชิกส่วนหนึ่งมาจากสมัชชาพลเมือง การเลือกตั้ง และองค์กรชุมชน คอยไต่สวน ตรวจสอบข้อมูล การคอร์รัปชัน หากพบมีมูลความผิดต้องยื่นต่อองค์กรรัฐตรวจสอบ เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย และตั้งสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ทำหน้าที่ประเมินผลการวางตนของผู้นำท้องถิ่น ผู้นำภาครัฐ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในพื้นที่ด้วย ซึ่งหากพบบุคคลมีพฤติกรรมส่อกระทำผิดคุณธรรมจริยธรรมให้มีการสอบทานได้
ขณะที่นายธีรศักดิ์ พานิชวิทย์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหม้อ อ.เมือง จ.เพชรบุรี ในฐานะกรรมาธิการปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงปัญหาการทำหน้าที่ของ อปท.ที่ผ่านมาว่า อยู่ภายใต้โครงสร้างระบบรวมศูนย์อำนาจ มีกรอบภารกิจของภาครัฐ ดำเนินการเพียงการจัดบริการสาธารณะแก่ประชาชน แต่ไม่สามารถตอบสนองให้กลายเป็นเครื่องมือทำงานให้ประชาชนในพื้นที่ได้ รวมถึงถูกแทรกแซงการใช้จ่ายงบประมาณ การเมืองระดับชาติใช้พื้นที่ท้องถิ่นเป็นฐานการคอร์รัปชัน ทำให้ทุกวันนี้ทำงานไม่ได้แล้ว
“การปฏิรูปต้องลดอำนาจส่วนกลาง เพิ่มอำนาจประชาชน เกิดกลไกสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่บริการท้องถิ่น และทำอย่างไรไม่ให้ภาคสังคมมีหน้าที่เพียงการเลือกตั้งอย่างเดียว”
กมธ.ปฏิรูปการปกครองท้องถิ่นฯ กล่าวด้วยว่า มีการบัญญัติเกี่ยวกับบทบาทภาคประชาชนไว้มาก แต่ภาคประชาชน แบ่งเป็น ประชาชนทั่วไป กับองค์กรที่เกิดจากการรวมตัวของประชาชน ดังนั้น ทั้งสองส่วนต้องปรับบทบาทตนเองให้มากขึ้น เพราะในอนาคตจะเป็นกลไกสนับสนุนการขับเคลื่อน ต้องเปลี่ยนภาวะผู้นำใหม่ เลิกคิดว่าประชาชนเป็นของท่าน แต่ท่านต้องเป็นของประชาชน ลดภาวะชี้นำ เปลี่ยนเป็นภาวะผู้ร่วม และลดภาวะผู้มีอำนาจ เปลี่ยนเป็นผู้มอบอำนาจ สุดท้าย เห็นว่า กรอบรัฐธรรมนูญค่อนข้างหนุนเสริมในการลดพึ่งพาการเมืองระดับชาติมากขึ้น .
ภาพประกอบ:รศ.วุฒิสาร ตันไชย-สำนักข่าวทีเอ็นเอ็น