คอร์รัปชันโดยอัยการ : คอร์รัปชันในกระบวนการยุติธรรม
มีการสำรวจพบว่า ปัจจุบันประชาชนต้องจ่ายสินบนลดลงอย่างมาก เมื่อไปติดต่อราชการ แต่ความเชื่อถือในความซื่อสัตย์สุจริตของหน่วยราชการต่างๆ ของประชาชนยังไม่ดีนัก โดยเฉพาะในกระบวนการยุติธรรม
โดยอันดับของ สนง.อัยการสูงสุด ความน่าเชื่อถือ "ร่วง" จากอันดับที่ 13 ไปเป็นอันดับที่ 18 เลวร้ายกว่ากรมโรงงานฯ กรมที่ดิน และกรมการขนส่งฯ เสียอีก
ข้อมูลนั้นระบุว่า ถ้าตนมีคดีในศาล ประชาชนเลือกที่จะจ่ายสินบนให้อัยการ มากกว่าบุคลากรในศาลยุติธรรม (ข้อมูลปี 2542 จ่ายให้อัยการมากกว่าจ่ายให้ตำรวจ แต่ปี 2557 ไม่ได้พูดถึง) และส่วนมากเป็นการจ่ายตรงไม่ผ่านนายหน้า
ยังรู้สึกใจชื้นอยู่นิดเมื่อถามว่า เมื่อสินบนแล้วประชาชนมีความมั่นใจแค่ไหนว่า ตนจะชนะคดี คำตอบคือมั่นใจมาก 28 % กลางๆ 31% ไม่มั่นใจเลย 41% เมื่อเทียบกับปี 2542 ที่ตอบว่ามั่นใจมาก 43% กลางๆ 24% ไม่มั่นใจเลย 33%
ซึ่งแปลว่า คนจ่ายเงินก็ไม่รู้ว่าจ่ายแล้วจะซื้อความยุติธรรมได้จริงหรือไม่
แต่ที่น่าสนใจมากเป็นพิเศษคือ ผลการสำรวจระบุว่ากระบวนการยุติธรรม (ศาล อัยการ ตำรวจ) มีความน่าเชื่อถือน้อยลง เป็นอิสระน้อยลง และมีไว้เพื่อผู้มีอำนาจและร่ำรวยไม่ใช่เพื่อประชาชนทุกคน
กระบวนการยุติธรรมเป็นที่พึงของสังคม สังคมจะไม่สงบสุขถ้าผู้คนไม่เกรงกลัวกฎหมายและเอารัดเอาเปรียบกันด้วยอำนาจ-บารมี-อิทธิพล-เส้นสายและเงินตรา
อัยการเป็นประตูของความเป็นธรรม แต่วันนี้อัยการไม่ซื่อสัตย์เสียเองแล้วประชาชนจะพึ่งใคร
อย่างน้อยมีสองเรื่องที่ผู้เขียนเห็นว่า อัยการมีมาตรฐานความโปร่งใสต่ำกว่าผู้พิพากษา คือ
1. การเป็น “กรรมการรัฐวิสาหกิจ” ที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน
2. วิธีการเลือกคณะกรรมการอัยการที่มีการหาเสียงเหมือนนักการเมือง จนนำไปสู่การอุปถัมภ์ตอบแทนบุญคุณกันในหมู่อัยการ
ทั้งสองพฤติกรรมนี้ผู้พิพากษาเขาไม่ทำกัน
(ข้อมูลการสำรวจ “คอร์รัปชันในระบบราชการไทยฯ” โดย ผาสุก พงษ์ไพจิตร ยงยุทธ ไชยพงศ์และธานี ชัยวัฒน์ 21/10/57)