‘ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา’ หวังการพัฒนายั่งยืนเป็นวาระโลก
วันที่ 2 มีนาคม 2512 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระนามาภิไธย ‘มหิดล’ ในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ให้เป็นนามใหม่ของมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ จวบจนปัจจุบัน
เนื่องในโอกาส 46 ปี วันพระราชทานนาม 127 ปี ม.มหิดล มีปาฐกถาเกียรติยศ ศาสตราจารย์นายแพทย์กษาน จาติกวนิช ครั้งที่ 8 เรื่อง มหาวิทยาลัยมหิดลกับความท้าทายในอนาคต โดย ‘ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา’ ผอ.สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และรองเลขาธิการสำนักพระราชวัง ณ สำนักงานอธิการบดี ม.มหิดล ศาลายา
ดร.จิรายุ ระบุถึง ม.มหิดลว่า ที่ผ่านมาคงได้พิจารณาถึงความท้าทายของตัวเอง ประเทศ และโลก มามากแล้ว แต่ความท้าทายย่อมเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ ฉะนั้นต้องทบทวนเป็นประจำ อาจ 1 ครั้ง/ปี หรือ 1 ครั้ง/2ปี เพราะเชื่อว่าปัญหาใหม่จะเกิดขึ้น จนอาจทำให้ลำดับความสำคัญของสิ่งที่มหาวิทยาลัยจะดำเนินการปรับเปลี่ยนได้หรือไม่
ทั้งนี้ มีข้อเสนอให้ลองศึกษาเกี่ยวกับ ‘การพัฒนาที่ยั่งยืน’ เพราะคิดว่า ม.มหิดล มีความสนใจเรื่องที่เป็นสากล และความท้าทายปัญหาระดับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งกรณีความท้าทายระดับโลกนี้ คณะทำงานของสหประชาชาติว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อเป็นวาระของโลก และจะนำเข้าสู่การพิจารณาในเดือนกันยายน 2558 มีทั้งสิ้น 17 ข้อ ดังนี้
1.ขจัดความยากจนในทุกรูปแบบ ทุกที่
2.ขจัดความหิวโหย บรรลุเป้าความมั่นคงทางอาหาร และโภชนาการที่ดีขึ้น และส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน
3.ทำให้แน่ใจถึงการมีสุขภาวะในการดำรงชีวิต และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคนในทุกช่วงอายุ
4.ทำให้แน่ใจถึงการได้รับการศึกษาที่ได้คุณภาพอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง และส่งเสริมโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่ทุกคน
5.บรรลุถึงความเท่าเทียมทางเพศ และเสริมสร้างพลังให้แก่สตรีและเด็กหญิงทุกคน
6.ทำให้แน่ใจว่าเรื่องน้ำและการสุขาภิบาลได้รับการจัดการอย่างยั่งยืนและมีสภาพพร้อมใช้สำหรับทุกคน
7.ทำให้แน่ใจว่าทุกคนสามารถเข้าถึงพลังงานที่ทันสมัย ยั่งยืน เชื่อถือได้ ตามกำลังซื้อของตน
8.ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและทั่วถึงให้เป็นไปอย่างยั่งยืน ส่งเสริมศักยภาพการมีงานทำ และการจ้างงานเต็มที่ และงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน
9.พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ส่งเสริมการปรับตัวให้เป็นอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนและทั่วถึง และสนับสนุนนวัตกรรม
10.ลดความเหลื่อมล้ำทั้งภายในและระหว่างประเทศ
11.ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความปลอดภัย ทั่วถึง พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและยั่งยืน
12.ทำให้แน่ใจถึงการมีแบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
13.ดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น
14.อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเล สำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้เป็นไปอย่างยั่งยืน
15.พิทักษ์ บูรณะ และส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ยั่งยืนจากระบบนิเวศบนบก จัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ต่อสู้กับการแปรสภาพเป็นทะเลทราย หยุดยั้ง และฟื้นฟูความเสื่อมโทรมของที่ดิน และหยุดยั้งความสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
16.ส่งเสริมให้สังคมมีความปกติสุข ไม่แบ่งแยก เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มีการเข้าถึงความยุติธรรมโดยถ้วนหน้า และสร้างให้เกิดสถาบันอันเป็นที่พึ่งของส่วนรวม มีประสิทธิผล และเป็นที่ยอมรับในทุกระดับ
17.เสริมสร้างความเข้มแข็งในวิธีการปฏิบัติให้เกิดผล และสร้างพลังในการเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือระดับสากลต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
ผอ.สำนักงานทรัพย์สินฯ มองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งหมดว่า ครอบคลุมทุกเรื่องแล้ว ซึ่งโลกรับรองเป็นความท้าทาย โดยสำหรับ ม.มหิดล ในฐานะเป็นองค์กรหนึ่งมีความสนใจครบถ้วน แต่จะให้ความสำคัญและนำไปดำเนินการในเรื่องใดบ้าง อาจเป็นวาระที่น่าสนใจ ทั้งนี้ การพัฒนาที่ยั่งยืนนั้น จะต้องครอบคลุม 4 มิติ เพื่อให้เกิดความสมดุลและยั่งยืน คือ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม
“ระดับสากล มุ่งเน้นเพียง 3 มิติ คือ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม แต่กรณีประเทศไทยขอมุ่งเน้น ‘วัฒนธรรม’ ด้วย เพราะถือเป็นสิ่งสำคัญ และ ม.มหิดล คงเห็นด้วยกับเราที่จะศึกษาเรื่องนี้ เพื่อนำไปสู่การบรรลุความสำเร็จของเป้าหมายในการพัฒนาอย่างยั่งยืน”
อีกประการหนึ่งที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ดร.จิรายุ เสนอให้น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นเข็มทิศนำทาง ซึ่งผลงานส่วนใหญ่ที่สืบเนื่องล้วนมาจากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ที่นำปรัชญามาประยุกต์กลายเป็นความรู้ที่มีความสำคัญ
ผอ.สำนักงานทรัพย์สินฯ ยังกล่าวถึงความท้าทายอื่น ๆ เพื่อนำมาพิจารณาควบคู่ไปกับการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยหยิบยกการวิจัยของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่มีแนวทางพัฒนา ‘Grand Challenges Thailand’ ของ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ค้นพบปัญหาในการพัฒนาเกิดจากการขาดความรู้ เทคโนโลยี และกลไกดำเนินงาน
อย่างไรก็ตาม ปัญหาในการพัฒนาทั้งหมดสามารถตอบความท้าทายได้ด้วยการวิจัยและพัฒนา ซึ่งตรงกับสิ่งที่ ม.มหิดลดำเนินการมาแล้ว กำลังดำเนินการ และเตรียมดำเนินการในอนาคต ทั้งนี้ สวทช. มีข้อเสนอให้จัดตั้งเครือข่าย Grand Challenges Thailand จัดทำนโยบาย เป้าหมาย และโครงการหลักตามความรับผิดชอบแต่ละหน่วยงาน จัดรวมกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญ
ตลอดจน ปรึกษาหารือหาแนวทางระดับชาติกับเครือข่าย Grand Challenges Thailand นานาชาติ จัดทำเครือข่ายพัฒนาโครงการหลักและย่อย จัดโครงสร้างบริหาร ‘อิสระ โดยประสาน’ โดยเปิดโอกาสให้ดำเนินการอย่างอิสระพอสมควร และพร้อมประสานกับโครงการอื่น ๆ ที่เกี่ยวโยงกัน ซึ่งถือเป็นการบูรณาการ ให้โอกาสเกิดขึ้นได้มากกว่า และต้องประเมินผล ซึ่งคิดว่าทั้งหมดเป็นสิ่งที่ผู้บริหาร ม.มหิดล สนใจ
ทั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า โลกเปลี่ยนแปลงทุกวัน ดร.จิรายุ จึงยกตัวอย่าง บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือเอสซีจี ในฐานะองค์กรที่ติดตามการเปลี่ยนแปลงของโลกตลอดเวลา ระบุว่า เอสซีจีวางแผนให้ตัวเองบรรลุเป้าหมาย ซึ่งทำเหมือนองค์กรอื่น ๆ โดยตั้งเป้าให้ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะ ‘เอสซีจี เคมิคอลส์’ ที่เน้นการผลักดันสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (High Value Added Products and Services:HVA)
อย่างไรก็ตาม อาจมีข้อสรุปคล้ายกับ ม.มหิดล ในการบริหารจัดการด้าน R&D เพื่อสร้างความรู้สำหรับการผลิต HVA สิ่งที่น่าสนใจ คือ จัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม (Advanced Science and Technology Center:ASTEC) ที่ทันสมัยเทียบเท่าระดับสากล เพื่อวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่มีคุณค่า ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า จึงต้องมีการดำเนินงานและวางแผน ภายใต้การสร้างองค์กรขึ้นมาทำ
ผอ.สำนักงานทรัพย์สินฯ กล่าวด้วยว่า เอสซีจีจำเป็นต้องร่วมมือกับผู้อื่นด้วย ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีที่ได้สร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยออกฟอร์ด โดยไม่มีงบประมาณแผ่นดิน แต่ใช้งบประมาณของภาคเอกชน สำหรับการเข้าไปดำเนินการ และเชื่อมั่นว่าจะได้ผลสำเร็จ
พร้อมกันนี้ ยังซื้อหุ้นบริษัท Norner AS ประเทศนอร์เวย์ ซึ่งเป็นบริษัทด้านการวิจัยและพัฒนาพลาสติกระดับโลก ด้วยงบประมาณ 2.1 พันล้านบาท หรือร้อยละ 44 ของ R&D เอสซีจี ตั้งเป้า 14 ผลิตภัณฑ์ใหม่ ตอบสนองความต้องการลูกค้า 120 ประเทศทั่วโลก
ช่วงท้าย ดร.จิรายุ ให้มุมมองว่า "ในฐานะ ม.มหิดลเป็นองค์กรที่สังคมคาดหวังจะมีส่วนสำคัญให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนในไทยได้ จึงมีบทบาทในการคิดโครงการที่ดีออกมา ตามปณิธานที่ว่า “ปัญญาของแผ่นดิน” และการผลักดันให้มหาวิทยาลัยเป็นดังคำปณิธานนั้น
โดยอยากให้มุ่งเน้นการพัฒนาที่ยั่งยืน 3 เป้าหมายหลัก คือ ข้อ 3, 16 และ 17 เพื่อกำหนดเป็นนโยบายใน 15 ปีข้างหน้า ตอบสนองความคาดหวังของคนไทยต่อไป และแก้ปัญหาความท้าทาย จึงอยากให้ลองดำเนินการ" .