ยอมรับพหุวัฒนธรรมจุดเริ่มสันติภาพ...คือกุญแจไขสู่สันติสุข
ผ่าน 1 ทศวรรษของสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ วันนี้บรรยากาศเปลี่ยนไปแบบพลิกฝ่ามือ เมื่อฝ่ายทหารเองได้ออกมาตอกย้ำความสำคัญของการพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่าง และเน้นว่าสันติภาพคือกุญแจไขสู่สันติสุข
ตัวแทนฝ่ายทหารที่กล่าวเรื่องนี้ คือ พล.ต.ชินวัฒน์ แม้นเดช ผู้อำนวยการศูนย์สันติสุข กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) โดยศูนย์สันติสุขถูกจัดตั้งขึ้นเพื่องานการเมืองและสร้างความเข้าใจกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ โดยเฉพาะที่อยู่ในพื้นที่ชายแดนใต้
และเวทีที่ พล.ต.ชินวัฒน์ พูด คือเวที "วันสื่อสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี ครั้งที่ 2 สันติ (ที่มองเห็น) ภาพ Visible/Visionary Peace(ViViPeace)" ในวาระครบรอบ 2 ปีการริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพ ซึ่งเมื่อวันที่ 28 ก.พ.56 รัฐบาลพรรคเพื่อไทยเปิดกระบวนการพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ นำโดยกลุ่มบีอาร์เอ็นอย่างเป็นทางการ เปิดเผย เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ความขัดแย้ง ณ ดินแดนปลายด้ามขวาน
เวทีดังกล่าวนี้จัดโดย ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) ร่วมกับเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ห้องประชุมชั้น 2 คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) โดยมีตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคม นักวิชาการ นักศึกษา และผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังอย่างคับคั่ง
ไฮไลท์ของงานอยู่ที่การปาฐกถา "ดุลยปาฐก" ว่าด้วย "ภาพ" การพูดคุยสันติภาพรอบใหม่ โดยตัวแทนเจรจาหลักในกระบวนการพูดคุยสันติภาพจากฝ่ายรัฐ ได้แก่ พล.ต.ชินวัฒน์ ส่วนฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐ ได้แก่ อาบูฮาฟิส อัลฮากีม ซึ่งได้แถลงผ่านคลิปวีดีโอ
ทหารลดรุนแรงทุกรูปแบบ
พล.ต.ชินวัฒน์ กล่าวว่า สันติภาพ คือ กุญแจสำคัญที่ไขสู่สันติสุข เป็นปลายทางที่ทุกคนปรารถนาร่วมกัน
"นโยบายของรัฐบาลชุดนี้ คือ การแก้ปัญหาโดยสันติวิธีและขับเคลื่อนกระบวนการพุดคุยสันติภาพต่อไป นำจุดแข็งและจุดอ่อนของการพูดคุยครั้งที่ผ่านมามาวิเคราะห์ กำหนดแนวทางเพื่อให้บรรลุสันติภาพ"
พล.ต.ชินวัฒน์ กล่าวต่อว่า ในระดับพื้นที่ กอ.รมน.ภาค 4 สน.ปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล โดยแม่ทัพภาคที่ 4 ได้เตรียมพื้นที่รองรับการขับเคลื่อนสันติสุขให้เกิดขึ้น คือ การลดความรุนแรงทั้งสิ้น โดยเริ่มจากเจ้าหน้าที่รัฐไม่พยายามใช้กฎหมายพิเศษในการแก้ปัญหา มีเพียง 4 คนเท่านั้นที่สามารถใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่นี้ได้ คือ แม่ทัพภาคที่ 4 ผู้บัญชาการหน่วยเฉพาะกิจยะลา ปัตตานี และนราธิวาส, ยุติการปิดล้อมตรวจค้นด้วยกำลังขนาดใหญ่ทั้งหมด ใช้กำลังชุดเล็กในการบังคับใช้กฎหมาย การเข้าไปจับกุมต้องมีหมายจับ หลีกเลี่ยงการวิสามัญฆาตกรรมโดยสิ้นเชิง ใช้วิธีการพูดคุยให้ออกมาแสดงตน
"ภาระของทหารมีเท่านี้ ที่เหลือคือการรักษาความปลอดภัยแก่ชีวิตและทรัพย์สินประชาชน ต้องให้ประชาชนเข้ามาช่วยคิดการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินตามยุทธศาสตร์ทุ่งยางแดงโมเดล"
คุมเข้มพฤติกรรมเจ้าหน้าที่รัฐ
พล.ต.ชินวัฒน์ กล่าวถึงแนวทางของแม่ทัพภาคที่ 4 และรัฐบาลอีกว่า ทหารและเจ้าหน้าที่รัฐทุกคนต้องเป็นคนดี มีการตรวจเจ้าหน้าที่ทุกเดือน หากเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดจะถูกจัดการทันที, มีการเก็บดีเอ็นเอ เก็บลายพิมพ์นิ้วมือ ทดสอบกระสุนปืนทุกกระบอก หากกระสุนไปปรากฏในที่เกิดเหตุ เจ้าหน้าที่คนนั้นจะถูกดำเนินคดีทันทีเช่นกัน
"วิธีการเหล่านี้เป็นการควบคุมความประพฤติของเจ้าหน้าที่ เป็นแนวทางสำคัญที่พยายามลดความรุนแรง และให้ประชาชนติดตามและตรวจสอบได้"
ฟังชาวบ้าน-ลุยงานพัฒนา
ภารกิจสำคัญอีกประการหนึ่งของ กอ.รมน.ภาค 4 สน. คือ เปิดเวทีพูดคุยกับประชาชนในพื้นที่ ซึ่ง พล.ต.ชินวัฒน์ กล่าวบนเวที 2 ปีพูดคุยสันติภาพว่า เปิดการพูดคุยไปแล้วกว่า 300 เวที เพื่อเป็นการสื่อสารทางตรง และปรากฏว่าได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์มาก
"ครั้งแรกจัดที่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส แล้วไปที่ อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี มีพี่น้องมานำเสนอความต้องการเยอะมาก ในเดือน มี.ค.นี้จะเปิดที่ อ.มายอ จ.ปัตตานี และ อ.บันนังสตา จ.ยะลา เป็นการให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางในการคิด ขับเคลื่อน และนำไปสู่การแก้ปัญหา ทำให้ได้ทราบปัญหา ขณะนี้รวบรวมข้อมูลมาได้ 8 เล่มใหญ่ ซึ่งแม่ทัพภาค 4 ได้นำเสนอต่อ 7 กระทรวงหลักที่รับผิดชอบการแก้ปัญหาชายแดนใต้เพื่อแปลงแผนงานมาเป็นการปฏิบัติ จะได้แก้ปัญหาได้จริงๆ"
"ขณะนี้มีการก่อสร้างเส้นทางที่ทรุดโทรม 1 อำเภอต่อ 1 เส้นทางที่ต้องการใช้งานด่วนจำนวน 37 เส้นทาง ใช้งบ 800 กว่าล้านบาท ซึ่งได้ส่งมอบเส้นทางแรกใน อ.รามัน จ.ยะลาแล้ว ด้านการศึกษาได้ทำข้อตกลงกับมหาวิทยาลัยอัล ฮัซฮัร ประเทศอียิปต์ ในการปรับพื้นฐานการศึกษา ให้สามารถรับนักเรียนที่จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากในพื้นที่เข้าศึกษาต่อได้ ถือเป็นกระบวนการสันติวิธีที่หนุนเสริมสันติภาพในบ้านเรา"
ต้องยอมรับพหุวัฒนธรรม
พล.ต.ชินวัฒน์ ตั้งประเด็นทิ้งท้ายด้วยว่า ตรรกะของสันติภาพคืออะไร หากเข้าใจตรงกันก็ไปด้วยกันได้
"สันติภาพในความหมายของผม คือ ข้อบ่งชี้ของการอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุขของสังคมมนุษย์ ให้พี่น้องที่มีความหลากหลายอยู่ร่วมกันโดยปกติสุขท่ามกลางการเคารพกันและยอมรับในความเป็นพหุวัฒนธรรม ปลายทางคือสันติภาพ สันติภาพคือกุญแจสำคัญที่ไขไปสู่สันติสุขได้ หากทำไม่ได้ก็เกิดการเกลียดชังกัน เป็นการทำลายสันติภาพโดยสิ้นเชิง สันติภาพจึงเป็นพื้นฐานสำคัญของกระบวนการพัฒนาทั้งหมดของสังคม สร้างสมดุลพื้นฐานเพื่อการพัฒนา เชื่อว่าความขัดแย้งเยียวยาได้ด้วยวัฒนธรรม จริยธรรม ภายใต้การยอมรับในพหุวัฒนธรรม หากทุกองคาพยพขับเคลื่อนบนฐานแนวคิดนี้ไปด้วยกัน สันติสุขก็อยู่ไม่ไกล"
เมื่อสื่อเยอะ ความชั่วจะลดลง
หลังจากนั้นเป็น "วาระสันติภาพจากพื้นที่" (Agenda Damai Dari kakyat) เป็นการอ่านแถลงการณ์ของเครือข่ายภาคประชาสังคม 16 องค์กรต่อกระบวนการสันติภาพ เพื่อหยิบยกข้อเสนอทางการเมืองและผลักดันให้เป็นวาระในกระบวนพูดคุย
ขณะเดียวกันก็ยังมีเวทีให้เครือข่ายสื่อแสดงวิสัยทัศน์ในการสร้างกระบวนการสื่อสารและพลังการสื่อสารรูปแบบใหม่ เพื่อเชื่อมโยงและสะท้อนเสียงจากประชาชนรากหญ้าให้ผู้กำหนดทิศทางการแก้ปัญหาความขัดแย้งทุกกลุ่มทุกฝ่าย
พระอธิการสมชาติ ฐิติปญฺโญ ผู้อำนวยการโรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดหนองบัววิทยา ต.แม่เจดีย์ อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ตัวแทนจาก "สามเณรชาแนล" เล่าถึงความเชื่อของตัวเองว่า เมื่อพื้นที่มีสื่อเยอะ ความชั่วจะลดลง
"การได้มาสัมผัสพื้นที่ชายแดนใต้ทำให้มีมุมมองที่ดีขึ้นมากกว่าเดิมที่รับข่าวสารจากสื่อเพียงอย่างเดียว เพราะในมุมที่คนนอกมองชายแดนใต้นั้น มีแต่เรื่องของความรุนแรง เพราะสื่อบอกเช่นนั้น แต่เมื่อได้มาเห็นเองทำให้ทัศนคติเช่นนั้นเปลี่ยนไป ไม่เหมือนข่าวที่ได้รับรู้ มีมุมดีๆ อีกมากมายที่สื่อไม่นำเสนอออกไป เราจึงต้องเลือกว่าจะเอาอะไรออกมานำเสนอ"
"เช่นเดียวกับการเริ่มต้นของสามเณรชาแนลที่มาจากงานวิจัยเรื่องกระบวนการพัฒนาวิทยากรคุณธรรมแก่เด็กและเยาวชน พบว่า เด็กอยากศึกษาธรรมะที่มีสื่อประกอบ ไม่ใช่แค่มานั่งสวดมนต์ จากนั้นจึงเริ่มทำสื่อคุณธรรม ทำเยอะจนไม่มีที่ปล่อยของ ไม่มีช่องไหนรับออกอากาศในช่วงนั้น จึงตั้งเป็นสถานีโทรทัศน์ที่มีต้นทุนต่ำ ให้สามารถทำงาน เรียนรู้ในประเด็นศาสนา คุณธรรม เป็นการ์ตูนและแอนิเมชั่น ทำสารคดีในชุมชนว่าด้วยเรื่องลดอบายมุข วันที่จะฉายตรงกับวันที่ละครสุดฮิตอวสาน แต่คนทั้งชุมชนเลือกที่จะมาดูงานเราเพราะเป็นเรื่องของพวกเขา ทำให้มีกำลังใจที่จะทำงานกับชุมชน เล่าเรื่องของตัวเอง พัฒนากระบวนการผลิตและการถ่ายทอด" พระอธิการสมชาติ ฐิติปญฺโญ กล่าว
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 พล.ต.ชินวัฒน์ แม้นเดช
2 บรรยากาศภายในงานวันสื่อสันติภาพชายแดนใต้
3 เวทีเครือข่ายสื่อแสดงวิสัยทัศน์