เเฉ บ.บุหรี่นอกบงการเบื้องหลัง จ้องล้ม กม.ยาสูบ ฉบับใหม่
คกก.ควบคุมยาสูบชาติ มติส่งหนังสือตีกลับสำนักเลขาฯ ครม. หลังมีข้อเสนอให้ทบทวน จี้เดินหน้าคลอด กม.บุหรี่ ฉบับใหม่ ยันเนื้อหาไม่สุดโต่ง ตามที่ถูกบิดเบือน 'นพ.ประกิต' เเฉกลลวงจ้องล้มกระบวนการ ระบุมีบ.บุหรี่ข้ามชาติชักใยบงการเบื้องหลัง
เร็ว ๆ นี้ นายแพทย์นพพร ชื่นกลิ่น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย ศ.นายแพทย์ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ นายแพทย์ศิริวัฒน์ ทิพยธราดล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและผศ.ดร.ปกป้อง ศรีสนิท รองประธานกรรมการพิจารณาและจัดทำร่างกฎหมายควบคุมการบริโภคยาสูบ (คนที่สอง) ร่วมแถลงข่าว สถานการณ์ล่าสุดของ ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ
นายแพทย์ศิริวัฒน์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2548 เป็นวันที่เริ่มมีผลบังคับใช้กรอบอนุสัญญาฯ เพื่อคุ้มครองสุขภาพของประชาชนในปัจจุบัน และชนรุ่นหลังจากพิษภัยร้ายแรงของการใช้ยาสูบ และการได้รับควันยาสูบซึ่งในกลุ่มประเทศอาเซียน มีเพียงประเทศอินโดนีเซียเท่านั้น ที่ยังไม่ได้ลงนามให้สัตยาบันเป็นรัฐภาคี เนื่องจากการขัดขวางของบริษัทยาสูบ สำหรับประเทศไทยได้ลงนามให้สัตยาบันเป็นประเทศลำดับที่ 36 ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2547 ปัจจุบันนี้มี 180 ประเทศเป็นรัฐภาคี ครอบคลุมประชากรเกือบร้อยละ 90 ทั่วโลก
ซึ่ง FCTC เป็นกฎหมายระหว่างประเทศ ฉบับเดียวในโลก ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครอง สุขภาพของประชาชนจากพิษภัยของการเสพติดบุหรี่ โดยมี รัฐบาลของ 180 ประเทศ ลงสัตยาบันเป็นภาคีสมาชิก ข้อตกลงต่าง ๆ ใน อนุสัญญามาจากฉันทามติของประเทศ ภาคีสมาชิก ประเทศที่นำมาตรการที่กำหนดไว้ใน FCTC ไปปฏิบัติอย่างเข้มแข็ง มากเท่าไหร่ ประชาชนและสังคมก็จะได้รับการคุ้มครองจากพิษภัยของยาสูบและความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากเท่านั้น
ด้านนายแพทย์นพพร กล่าวว่า สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้ทำหนังสือส่ง ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กลับคืนมาให้กระทรวงสาธารณสุขทบทวน แต่ในที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมการบริโภคยาสูบแห่งชาติ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2558 ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน มีมติเห็นชอบร่วมกัน ให้กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการส่งหนังสือกลับไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไป
ขณะที่ ผศ.ดร.ปกป้อง กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.นี้ไม่ได้สุดโต่ง บุหรี่เป็นสินค้าชนิดเดียวที่ฆ่าผู้บริโภคแม้จะ ใช้แบบปกติ บุหรี่มีฤทธิ์เสพ ติดรุนแรงมาก และมีสารก่อมะเร็ง 70 ชนิด ทำให้ครึ่งหนึ่งของผู้สูบบุหรี่เสียชีวิตก่อนเวลาอันควร ถ้าลองเทียบกับสินค้าอาหาร ถ้าหากพบมีสารก่อมะเร็งแม้แต่ชนิดเดียว จะถูกห้ามขายทันที แต่บุหรี่ยังมีการขายได้อย่างถูกกฎหมาย ดังนั้นการจะลดความสูญเสียจากการ บริโภคสินค้านี้ คือ การควบคุมการตลาด การลดการเข้าถึงโดยเด็กและเยาวชน กฎหมายฉบับนี้ ไม่ได้ห้ามผลิต ห้ามขาย เพราะนั่นคือมาตรการที่สุดโต่ง
ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบที่ปรับปรุงใหม่นี้ บางส่วนพัฒนามาจากกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน แต่มีการเพิ่มเติมบางส่วนให้ทันกับสถานการณ์ และดำเนินการตามข้อกำหนดของอนุสัญญาควบคุมการบริโภคยาสูบองค์การอนามัยโลก บทบัญญัติที่กำหนดในร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบจึงไม่ใช่มาตรการที่เป็น “ยาแรง” หรือ “สุดโต่ง” ตามที่ธุรกิจยาสูบพยายามที่จะบิดเบือน แต่อย่างใด
ด้าน ศ.นพ.ประกิต เปิดเผยว่า ตลอดเวลาสองเดือนที่ผ่านมา มีกลุ่มและองค์กรต่างๆ ออกมาคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ที่กระทรวงสาธารณสุขเตรียมเสนอ ครม.เพื่อพิจารณา นำขบวนโดย สมาคมการค้ายาสูบไทย (นางวราภรณ์ นะมาตร์) สมาคมผู้บ่มผู้ปลูก และผู้ค้าใบยาสูบไทย ได้ทำการเคลื่อนไหวโดยการส่งจดหมาย ถึง นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี และ สนช. รวมทั้งออกข่าวคัดค้านผ่านสื่อต่าง ๆ ทั้งพื้นที่ข่าวและพื้นที่ โฆษณา รวมทั้งการขึ้นป้ายโฆษณากลางกรุง และตามจังหวัดที่มีการเพาะปลูกยาสูบ อ้างเหตุผลว่าร่าง กฎหมายฉบับนี้จะทำให้ ผู้ค้าปลีกยาสูบ และชาวไร่ยาสูบเดือดร้อนอย่างหนัก
ในสองสามสัปดาห์หลัง มีตัวละครที่ออกมาคัดค้านเพิ่มเติมคือ สภาธุรกิจอเมริกัน - อาเซียน สภาหอ การค้าอเมริกันประเทศไทย และสภาหอการค้าอเมริกันวอชิงตัน ซึ่งก็เช่นเดียวกัน ได้ทำหนังสือคัดค้านถึง นายกรัฐมนตรีอ้างว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และกฎหมายระหว่างประเทศ
เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์ กล่าวต่อว่า ล่าสุดสมาคมการค้ายาสูบไทย ออกข่าวขู่รัฐบาลไทยว่า หาก ครม.เห็นชอบร่างกฎหมายฉบับใหม่ อาจจะส่งผลต่อการพิจารณาของสำนักผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา ที่จะประกาศรายชื่อประเทศที่ละเมิด ทรัพย์สินทางปัญญาในเดือนเมษายนนี้ ซึ่งประเทศไทยติดอยู่ในรายชื่อนี้มา 8 ปีแล้ว หาก ครม.เห็นชอบ ร่างกฎหมายนี้ ประเทศไทยก็อาจจะยังถูกจัดอยู่ในรายชื่อประเทศที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาต่อไป
หากติดตามข่าวจากฝ่ายที่ออกมาคัดค้าน จะเห็นว่าไม่ปรากฏว่าบริษัทบุหรี่ ออกมาคัดค้านร่าง กฎหมายควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่เลย แต่ในความเป็นจริงแล้ว บริษัทบุหรี่ข้ามชาติ คือผู้อยู่เบื้องหลังและบงการการเคลื่อนไหวทั้งหมด
"บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส เจ้าของบุหรี่ยี่ห้อมาร์ลโบโร และแอลแอนด์เอ็ม ที่มีส่วนแบ่งในตลาดบุหรี่ไทย ประมาณร้อยละ 22 เป็นแกนหลักในการจัดตั้งและสนับสนุนสมาคมการค้ายาสูบไทย ที่เป็นหัวหอกในการ คัดค้านครั้งนี้ (www.ttta.or.th)" ศ.นพ.ประกิต กล่าว เเละว่าบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส อีกเช่นกันที่เป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนสมาคมผู้ปลูกยาสูบนานาชาติ International Tobacco Grower Association (ITGA) ที่สมาคมผู้ปลูก ผู้บ่ม และผู้ค้าใบยาสูบไทย เป็นสมาชิกอยู่ด้วย โดยบทบาทสำคัญของ ITGA คือ เป็นผู้ประสาน การเคลื่อนไหวคัดค้านมาตรการ ควบคุมยาสูบ ทั้งในระดับโลก ระดับภูมิภาคและระดับประเทศ
ส่วนสภาธุรกิจอเมริกัน-อาเซียน ที่คัดค้านร่างกฎหมายใหม่ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์ ระบุว่า ก็มีตัวแทนของบริษัทฟิลลิป มอร์ริส เป็นกรรมการอยู่ด้วย ขณะที่บริษัทฟิลลิป มอร์ริส บริจาคเงินเป็นประจำให้แก่สภาหอการค้าอเมริกันประจำ ประเทศไทย ซึ่งคงจะได้ภาพชัดขึ้น ที่ดูเหมือนกับว่ามีฝ่ายนี้ ฝ่ายนั้นคัดค้านร่างกฎหมายใหม่ของไทยนั้น แท้จริง แล้วใครเป็นผู้ชักใยบงการอยู่เบื้องหลัง
ฝ่ายเสนอ คือ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อทำให้คนสูบบุหรี่น้อยลง และเพื่อป้องกันเด็ก ๆ ไม่ให้ ติดบุหรี่ เป็นความพยายามเพื่อที่จะช่วยชีวิตคน
ฝ่ายสนับสนุนคือ 700 องค์กรที่ทำประโยชน์ให้สังคม โดยเฉพาะองค์กรวิชาชีพแพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ เภสัชกร เทคนิคการแพทย์และสาธารณสุขและประชาชนกลุ่มอาชีพต่างๆ อีกทั้งผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก พญ.มากาเร็ต ชาน และ ดร.เวอร่า อีซิลวา เลขา ธิการภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบ ก็ได้มีหนังสือถึงท่านนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทรโอชา สนับสนุนพ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ว่าเป็นกฎหมายที่ดีมาก จะช่วย ปกป้องเด็กไทยจากการสูบบุหรี่
ส่วนฝ่ายค้านที่ออกหน้า คือ สมาคมการค้ายาสูบไทย และสมาคมผู้ปลูก ผู้บ่ม และผู้ค้า ใบยาสูบไทย แต่คนที่ชักใย อยู่ข้างหลัง คือ บริษัทฟิลลิป มอร์ริส พ่อค้าขายสินค้าที่ทำให้คนตาย เพื่อต้องการรักษาไว้ซึ่งกำไร มหาศาลจากการฆ่าลูกค้าของตัวเอง .
ภาพประกอบ:www.ubu.ac.th