ก.พาณิชย์ สรุปผลตรวจสต็อกรัฐพบข้าวเสีย-หาย! สั่งแจ้งความก่อนระบาย
ก.พาณิชย์ สรุปผลตรวจสอบคุณภาพข้าวในสต็อกรัฐ พบ "ข้าวเสีย-หาย-ไม่ตรงตามมาตรฐาน-ผิดชนิด" โผล่ สั่งคัดแยก 2 กลุ่ม ให้ อคส.-อตก. แจ้งความดำเนินคดีก่อนเปิดระบาย - ชง ครม.เศรษฐกิจรับทราบเป็นทางการแล้ว
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงพาณิชย์ ได้รายงานผลการสำรวจคุณภาพข้าวในสต็อกรัฐ และแนวทางการขับเคลื่อนการส่งออกข้าวในปี 2558 ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานรับทรา่บ
ระบุว่า ผลการสำรวจคุณภาพข้าวในสต็อกของรัฐ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
1. ข่าวในคลังกลาง คิดเป็นร้อยละ 98 ของข้าวในสต็อกทั้งหมด ซึ่งประกอบด้วย ข้าวที่ผ่านมาตรฐาน ข้าวที่ไม่ตรงตามมาตรฐาน และข้าวอื่นๆ ได้แก่ ข้าวเสีย ข้าวผิดชนิด ข้าวที่ยังไม่ออกรหัส และไม่มีตัวอย่าง ข้าวกองล้ม ข้าวที่ไม่อยู่ในสภาพที่สามารถตรวจนับได้ และข้าวหาย
2. ข้าวนอกคลังกลาง คิดเป็นร้อยละ 2 ของข้าวในสต็อกรัฐทั้งหมด ซึ่งได้แก่ ข้าวที่อยู่ในโรงสี และข้าวที่อยู่ในที่ปรับปรุง
สำหรับแผนการระบายข้าวในสต็อก จำแนกตามประเภทของข้าว มี 2 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มที่ 1 ข้าวที่ผ่านมาตรฐาน และข้าวไม่ตรงตามมาตรฐาน ระดับคุณภาพ A และ B ให้ใช้วิธียกคลัง ระบายผ่านวิธีการ G to G (รัฐต่อรัฐ) /G+P (รัฐร่วมเอกชน) คำสั่งซื้อ ประมูลขายทั่วไป ตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า และการบริจาค โดยต้องพิจารณาความเหมาะสมของตลาดในช่วงเดือนมกราคม ถึงตุลาคม 2558
กลุ่มที่ 2 ข้าวไม่ตรงตามมาตรฐานระดับคุณภาพ C และข้าวอื่นๆ ได้แก่ ข้าวเสีย ข้าวผิดชนิด ข้าวกองล้ม และข้าวที่ไม่อยู่ในสภาพที่สามารถตรวจนับได้ ให้มีการรระบายตามสภาพผ่านวิธีการประมูลข้าวทั่วไป โดยจะดำเนินการภายหลังเจ้าที่ องค์การคลังสินค้า (อคส.) และ องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อตก.)ได้แจ้งความแล้ว โดยพิจารณาความเหมาะสมของภาวะตลาดในช่วงเดือนสิงหาคม ถึงธันวาคม 2558
สำหรับสถานการณ์การส่งออกข้าวของไทย นั้น กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ในปี 2557 ไทยสามารถส่งออกข้าวได้มากที่สุดของโลก และสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 10.97 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 5,438 เหรียญสหรัฐ หรือ 174,853 ล้านบาท โดยมีตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ไนจีเลีย เบนิน จีน ไอวอรี่โคสต์ และแอฟริกาใต้
ส่วนแนวทางการขับเคลื่อนการส่งออกข้าวในปี 2558 กระทรวงพาณิชย์ ได้วางแนวทางร่วมกับภาคเอกชนเพื่อขยายตลาดและรักษาส่วนแบ่งการตลาดข้าวไทยกับประเทศผู้นำเข้าหลักทั่วโลก โดยให้ความสำคัญ กับ ตลาดเอเชีย ได้แก่ จีย มาเลเซีย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ บังคลาเทศ เป็นต้น ตลาดแอฟริกา ได้แก่ เบนิน ไนจีเรีย โกตติวัวร์ แอฟริกาใต้ แคเมอรูนเป็นต้น ตลาดตะวันออกกลาง ได้แก่ ซาอุดิอาระเบีย เยเมน อิหร่าน อิรัก ยูเออี เป็นต้น และตลาดอื่นๆ ในยุโรปและอเมริกา
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก Google