ปาฐกถา “สุวิทย์ กุหลาบวงษ์” :เมื่อคนจน ถูกบังคับให้ยอมรับการพัฒนา
กระบวนการที่เราพยายามต่อสู้นั้น เรียกว่า สันติวิธี สันติวิธีคือยืนหยัดต่อสู้ เอาความจริงในพื้นที่มาขยายต่อ ต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของคนในพื้นที่ ไม่ใช่ต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของใคร
เมื่อเร็วๆ นี้ “สุวิทย์ กุหลาบวงษ์” เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน (กป.อพช.) ได้รับเลือกจากมูลนิธิโกมลคีมทอง ให้เป็นผู้แสดงปาฐกถาครั้งที่ 41 ประจำปี 2558 ของมูลนิธิโกมลคีมทอง เรื่อง “ เมื่อคนจนถูกบังคับให้ยอมรับการพัฒนา ” ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสคร์
สุวิทย์ กล่าวถึงกรณีคนจนถูกบังคับให้ได้รับการพัฒนา ถูกบังคับโดยนโยบายรัฐ และการออกมาต่อต้าน โดยยกตัวอย่างการเข้าไปฝังตัวทำงานพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
“ในฐานะที่ผมเป็นสิงห์บุรี เข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ และกลับไปทำงานที่ภาคอีสาน เข้าไปฝังตัวกับชาวบ้าน ภาคอีสานถ้าคนภาคอื่นมอง ภาพแรกที่เห็นคือ แห้งแล้ง มีความยากจน แล้วเวลาเราไปออกค่ายหน้าแล้งก็จะเห็นใบไม้ร่วง
ผมลงไปอยู่ชัยภูมิ พบว่า แม้อีสานมีความแห้งก็จริงอยู่ แต่เป็นฤดูกาล เราเรียกว่า นิเวศวัฒนธรรม นิเวศของอีสานนั้นเป็นดินทราย ดินร่วนปนทราย ถึงฤดูแล้งคือแล้ง ถึงฤดูฝนก็จะมีฝนแล้วมีใบไม้เขียว ฉะนั้นคนอีสานจะทำนาโดยไม่ใช้แปลงนาใหญ่ๆเหมือนภาคกลาง แต่จะเป็นนาขนาดเล็กๆไว้กักเก็บน้ำแล้วจะมีการคัดพันธุ์ข้าวที่มีความแตกต่างในฤดูของความสูงต่ำของพื้นที่โคก ส่วนที่เนินก็จะเป็นข้าวอีกแบบหนึ่ง ฉะนั้นความแห้งแล้งของอีสานเป็นฤดู”
สุวิทย์ มองอีสานถูกทำให้แห้งแล้งโดยนักการเมือง พูดถึงอีสานจะต้องได้ยินคำว่า “แห้งแล้ง” และจะต้องมีโครงการพัฒนาเข้าไปยังอีสาน เพื่อแก้ปัญหาที่เรียกว่า ความยากจน
“อีสานเป็นจุดยุทธศาสตร์ใหญ่ทางการเมือง ทางการเมืองก็บอกว่า ยุคสงครามเย็นนั้นเป็นจุดรอยต่อของประเทศสังคมนิยมกับประเทศไทย คือฝั่งลาว เขมร และเวียดนาม ต้องมีการพัฒนาตรงนั้นตรงนี้ และโครงการจะลงไปที่นั้นก็เต็มไปหมด นี่คือยุคแรก”
ยุคที่สอง อีสานถูกเปลี่ยน ถูกนำ ไปสู่ในสิ่งที่เรียกว่า สนามรบเป็นสนามการค้า อีสานถูกเฝ้าดูจากกลุ่มคนที่เข้าไปลงทุนในภาคอีสานมากมายหลายกลุ่ม และคนอีสานก็เป็นส่วนหนึ่งของแรงงาน ที่เข้ามาทำงานแถวระยอง ชลบุรี หรือไปต่างประเทศ ในยุคนี้คนอีสานจะถูกออกไปทำงานนอกสถานที่เต็มไปหมด นี่คือความเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างทางการเมืองจากข้างบน
สุวิทย์ มองว่า ปัจจุบันอีสานถูกเปลี่ยนยุทธศาสตร์อาเซียน เพราะอยู่ใจกลางของอาเซียนที่เป็นผืนแผ่นดินไม่ใช่เกาะ และจะมีกลไกการพัฒนาต่อไป นี่คือความเปลี่ยนแปลงหลัก
ส่วนการเปลี่ยนแปลงจากภายในของคนอีสานเอง เขาเห็นว่า คนอีสานเปลี่ยนแปลงจากภายในคือ อยากมี อยากได้เหมือนเขา ไม่ว่าอยากดูละคร ดูทีวี ก็ต้องมีให้ได้ เพื่อการนำไปสู่การพัฒนาทางเศรษฐกิจ นี่คือการเปลี่ยนแปลงจากภายในของคนอีสานเอง
“การพัฒนาคือการเปลี่ยนแปลงที่ดี แต่สิ่งสำคัญก็คือว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นเวลาลงไปในพื้นที่สิ่งสำคัญ คือ ทุกสิ่งถูกปักธงไว้หมดแล้ว สิ่งที่เราค้นพบในภาคอีสานนอกจากโครงการโขง ชี มูล โครงการเหมืองแร่โปแตชที่กำลังจะเจาะในภาคอีสานทั้งหมด 20 จังหวัด 2 ล้านกว่าไร่ หรือการประกาศเขตนิคมอุตสาหกรรม มีนิคมอุตสาหกรรมที่รัฐบาลปัจจุบันกำลังจะทำ 4 แห่ง คือ อุดรธานี โคราช ขอนแก่น คสช.ปัจจุบันกำลังทำอยู่คือ จะเปลี่ยนอีสาน เรียกว่า การพัฒนาประเทศหรือการเปลี่ยนแปลงครีเอทีฟ
และถ้าใครได้ติดตามข้อมูลข่าวสารของภาคอีสานในช่วงที่ผ่านมา คนในภาคอีสานจะเป็นคนรุ่นใหม่ที่เข้าไปอยู่ระดับโครงสร้างท้องถิ่นมากมาย ถ้ามองคนอีสานในปัจจุบัน ช่วง อายุ 60 - 70 ปี จะไปทำงานอยู่ไต้หวัน เมื่อทำงานไม่ไหวก็จะกลับมาอยู่บ้าน คนเหล่านี้จึงเป็นคนที่มีที่ดิน ซึ่งในปัจจุบันคนที่กลับมาอยู่บ้านคือคนรุ่นใหม่อายุ 25-35 ปี และคนเหล่านี้จะนำวัฒนธรรมใหม่เข้ามา จะเอาวัฒนธรรมความเป็นเมืองเข้ามาอยู่ในหมู่บ้าน เขาจะมีการต่อรองกับราชการพอสมควร
แต่คนเหล่านี้จะไม่ค่อยรู้จักพื้นที่ของตัวเอง เช่น การทำเหมืองแร่จะต้องมีคนเซ็นอนุญาตพื้นที่ คนพวกนี้จะไม่ค่อยรู้ ไม่เหมือนผู้เฒ่ารุ่นก่อนที่จะรู้จัก ดังนั้นความเป็นท้องถิ่นจะลดลง”
อีสานปัจจุบันที่ สุวิทย์ เห็นอีกอย่างก็คือ แรงงานในภาคเกษตรลดลงมาก เช่น การจ้างงานในปัจจุบันอยู่ที่ 300 -350 บาทต่อวัน ซึ่งเป็นต้นทุนที่สูงมาก คนที่ทำนา ทำการเกษตร จะรู้ว่า ไม่ได้ใช้แค่แรงงานเท่านั้น มีทั้งเรื่องของพันธุ์พืช ค่าเช่านา ยาฆ่าแมลง แรงงาน ค่าไถนา
“วันนี้แรงงานครอบครัวเริ่มหายไป ถ้าสังเกตแรงงานในภาคอีสาน ในช่วงเช้า เย็นของทุกวันจะเห็นว่า มีการไหลเวียนเยอะมาก มีทั้งแรงงานลาว พม่า เต็มไปหมด”
การเปลี่ยนของอีสานอีกด้านหนึ่งที่ สุวิทย์ เห็นก็คือเศรษฐกิจหรือพืชเศรษฐกิจ ปัจจุบันมีโรงงาน ถึง 12 โรง ขณะนี้สร้างไปแล้ว 3 โรง ที่กำลังจะสร้างอีก ประมาณ 9 โรง และยังมีพื้นที่ปลูกอ้อยเพิ่มขึ้น นี่ปัญหาใหญ่ที่จะเกิดขึ้น ทำให้พื้นที่อ้อย บุกรุกพื้นที่นาข้าว รวมถึงการปลูกยางพาราโดยเฉพาะในภาคอีสานตอนบน มีการปลูกยางพารากันมาก จึงทำให้นาข้าวหายไป ซึ่งจะพบว่า ปัจจุบันราคายางพารามีผลกระทบพอสมควร
ส่วนปัญหาเรื่องที่ที่ดิน ก็มักจะหลุดมือราคาขายอยู่ที่ 70,000 บาทต่อไร่ ซึ่งพื้นเหล่านี้อยู่ติดถนน รัศมี 1-5 เมตร มีประกาศขายเต็มไปหมด และจากที่ใหญ่ๆ ก็เริ่มซอยเล็กลงเรื่อยๆ นี่เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่การทำนาของชาวบ้านลดลง เพราะเรื่องการขายที่ดิน
สำหรับนโยบายของรัฐ เขา บอกว่า ก็มีส่วนสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงอีสานเช่นกัน สิ่งที่ซ้ำๆซากๆ ของนโยบายรัฐคือ
1.ความคิดของการพัฒนายังเหมือนเดิม เช่น ถ้ามีโครงการใดโครงการหนึ่งเกิดจะต้องมีการพัฒนาในหมู่บ้าน ล่าสุดที่การขุดเจาะปิโตรเลียม ที่จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นรอยต่อกับจังหวัด กาฬสินธุ์ และมีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งสนับสนุน แต่ชาวบ้านอีกกลุ่มไม่สนับสนุน ต่อต้าน ไม่เห็นด้วย จึงมีการสนธิกำลัง ทหาร ตำรวจ ผู้ใหญ่บ้าน อส.เพื่อจะจับชาวบ้านให้ได้
นี่คือสิ่งยังฝังอยู่เหมือนเดิม
“การใช้กฎหมายยึดที่ดินของชาวบ้าน อย่างกรณีเหมืองแร่โปแตช ที่ผมทำ การออกกฎหมายแร่ คือ การขุดเจาะลงไปได้แค่ 100 เมตร ถ้าเกินจากนั้น เป็นของรัฐ ฉะนั้นรัฐให้ความสำคัญกับใครก็ได้ นี่คือสิ่งที่เราสู้กันมากตลอด เราไม่ยอมรับนโยบายของรัฐที่จะใช้วิธีเหล่านี้กับชาวบ้าน”
2.คือการใช้กระบวนการยุติธรรมกับชาวบ้าน ในการจัดการกับชาวบ้าน เราจะเห็นได้ว่าหลายที่ชาวบ้านฟ้องจะล่าช้ามากไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ
3. คือการใช้กระบวนแจ้งความจับกุมชาวบ้าน เช่น กรณีเหมืองทอง จังหวัดเลย โดยใช้กระบวนทางกฎหมายจัดการกับชาวบ้าน มีนักวิชาการหลายคนเข้าไปทำวิจัยเพื่อสนับสนุนโครงการ หรือมีการจ้างสื่อมวลชนให้เขียนข่าว และอีกประเด็นการจับม็อบชนม็อบ ถือเป็นประเด็นคลาสสิกที่สุดที่รัฐชอบใช้ รวมไปถึงการที่รัฐจัดการกับเราคือการสังหารแกนนำ
“ในวันนี้ที่มีการประกาศกฎอัยการศึกของทหาร หรือ คสช. ได้ลงพื้นที่ไปหลายพื้นที่ เช่น โคกยาว จังหวัดชัยภูมิ มีการไปติดหมายว่า ภายใน 15 วัน ให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ ลงไปที่บ้านเนินดินแดง จังหวัดขอนแก่น ไปรื้อบ้านของชาวบ้านออก ที่จังหวัดอุดรธานี จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้าน แต่มีทหารเข้าไปล้อมเต็มไปหมด
อย่างกรณีที่มีการประชุม ทหารได้พูดว่า ขอให้คนที่อยู่ในห้องประชุมนั่งลง และอนุญาตให้คนที่มีชื่อเท่านั้นเข้ามาประชุมได้ มีการสแกนคนเข้า ออก และนี่คือความกดดันของชาวบ้าน แล้วถ้าวันหนึ่งเราทนแรงกดดันนั้นไม่ได้ อะไรจะเกิดขึ้น การรับฟังความคิดเห็นต่างๆที่เราพบเห็นในพื้นที่ การมีส่วนร่วมในการบริหารของรัฐ รัฐได้ปักธงไว้แล้วว่า ต้องมีโครงการ สิ่งสำคัญคือการมีส่วนร่วมไม่ได้สร้างปัญญาให้คนตัดสินใจ การมีส่วนร่วมไม่ได้บอกว่า ชาวบ้านไม่เอาโครงการนั้นแล้วโครงการนั้นจะยกเลิก แล้วในอนาคตจะเป็นอย่างไรถ้าชาวบ้านจะต้องลุกขึ้นปกป้องตัวเองกันจริงๆ”
สุวิทย์ เน้นย้ำถึงกรณีการสำรวจเหมืองแร่โปแตช ทั้งหมด 10 จังหวัด ที่จะขออนุญาต มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ มีโครงการโขง ชี มูล ท่อเต็มไปหมดทั้งอีสาน แล้วคนอีสานจะทำอย่างไร
“แน่นอน ฉะนั้นเราจะไปหวังกับกระบวนที่ชื่อว่ากระบวนการปฏิรูปกับการคืนความสุขไม่ได้ ถ้าเราถูกกดดันขนาดนี้ แล้วเราจะทำอย่างไร ในเมื่อเราไม่มีเวที หรือมีพื้นที่ของประชาชนเลย แต่กลับต้องไปอยู่ที่ศูนย์ดำรงธรรม ทำเนียบรัฐบาลแทน คือยื่นหนังสือ เราเคยลองไปยื่นหนังสือว่า จะแก้ปัญหาได้ไหม ยื่นไปยังทำเนียบรัฐบาล และไปที่กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมก็ส่งกลับไปที่ทำเนียบฯ แล้ว ทำเนียบฯ ก็ส่งกลับมาหาเราจบแค่นั้น ทั้งที่ปัญหาที่เราพบคือปัญหาของโครงสร้าง ปัญหาเรื่องการตัดสินใจ เดิมเราจะสร้างกระบวนการประชาชนขึ้นมา เช่น สมัชชาคนจน สมัชชาเกษตรกร เพื่อนำไปสู่การสร้างอำนาจต่อรอง หรืออำนาจในการพูดคุย เจรจา ก่อนมีมติโครงการ แต่ปัจจุบันนี้เราทำไม่ได้”
สุวิทย์ ระบุถึงการต่อสู้ในรัฐธรรมนูญปี 2540 พูดถึงเรื่องสิทธิชุมชน เรื่องการต่อสู้กระบวนการยุติธรรม แต่ทุกวันนี้ไม่ได้ถูกแก้ไข และกำลังจะเลือนหายไป
“เราต่อสู้เพื่อชาวบ้านได้ความรู้อย่างแท้จริง แต่ในทุกวันนี้เราถูกปิดตาย กระบวนการชาวบ้านพอเคลื่อนไหวขึ้นมาก็ถูกห้าม คนที่ทำงานร่วมผม เราลงพื้นที่ไปอยู่กับชาวบ้าน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะลงไปปลูกผัก แต่เราลงไปช่วยแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้าน การทำงานระดับฐานของชาวบ้านมีการตั้งน้อยลงมาก ชาวบ้านเมื่อเจอการต่อสู้กับอำนาจรัฐ ทหาร ก็มักจะไปไม่เป็น ไม่รู้จะไปอย่างไร ทำได้แค่ขวางถนนไว้
ฉะนั้นกระบวนที่เราพยายามต่อสู้นั้น เรียกว่าสันติวิธี สันติวิธีคือเราต้องยืนหยัดต่อสู้ เอาความจริงในพื้นที่มาขยายต่อ และต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของคนในพื้นที่ ไม่ใช่ต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของใคร”
สุวิทย์ เล่าถึงการต่อสู้เรื่องเหมืองแร่โปแตชนั้น เดิมที่เราใช้กระบวนการชุมนุมเคลื่อนไหว ต้องทำทุกอย่างให้ยับยั้งโครงการเหมืองแร่โปแตชให้ได้ และอันต่อไปคือกระบวนการยุติธรรม
“ ที่แรกที่เราได้ทำการต่อสู้คือ ที่ลำพะเนียง ที่ใช้กระการยุติธรรมต่อศาลปกครองโดยใช้กระบวนการเก็บข้อมูลทางนิเวศนำเสนอต่อศาลเพื่อให้ศาลเข้าใจภาพรวมของนิเวศอีสาน นิเวศที่กล่าวถึง คือความสัมพันธ์ระหว่างาคนกับคน คนกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คนกับสิ่งที่เหนือธรรมชาติ หรือที่เรียกว่า ผี เราพยายามนำสิ่งเหล่านี้มาทำความเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องชุมชน และต้องเอาเรื่องสิทธิเข้าเกี่ยวข้องให้มากที่สุด เพราะจะทำให้ชาวบ้านเข้าใจได้ง่ายขึ้น”
พร้อมกันนี้ สุวิทย์ กล่าวถึงเรื่องประชาธิปไตยในพื้นที่ภาคอีสานด้วยว่า มีองค์กรการเคลื่อนไหวอยู่หลายกลุ่ม แต่พอต่อสู้ไประดับหนึ่งแกนนำจะไม่ลงพื้นที่แล้ว ได้แต่ประชุม จิบกาแฟอย่างเดียว
“แท้ที่จริงเราต้องสร้างกระบวนการประชาธิปไตยในกระบวนการชาวบ้านด้วย แต่ปัจจุบันแกนนำมีไม่พอ ก็ต้องจัดตั้งเพิ่ม มิเช่นนั้นเราจะถูกซื้อง่ายๆ”
ส่วนการศึกษาวัฒนธรรมชุมชน เขาเห็นว่า ต้องศึกษาความสำคัญ อำนาจทางการเมืองของชุมชนให้ชัด แล้วเราจะจับชีพจรของชุมชนได้
“ผมฝังตัวอยู่ในชุมชน 7 ปี อยู่แบบคนใน คิดแบบคนใน พยายามค้นเรื่องการสื่อสารของชาวบ้าน และต้องพัฒนาหลายๆอย่าง เช่น วัฒนธรรมของคนรุ่นใหม่ เรื่องทรัพยากร อันนี้สำคัญมากๆ คนเหล่านั้นจะต้องเข้าช่วยกันในระยะยาว”
ท้ายสุด สุวิทย์ ยังมีมุมมองเรื่องการปฏิรูปในวันนี้ด้วยว่า ไม่ควรปฏิรูปบนฐานพึ่งพิงรัฐ แต่ต้องให้คุณค่าของการรวมตัวในขนาดเล็ก