อบต.บ้านตาล ฉลองประทานบัตรฯ จัดงานกินดื่มฟรี! จนท.ตามประกบชาวบ้าน
อบต.บ้านตาล ขึ้นป้ายจัดงานฉลองใหญ่ประทานบัตรเหมืองแร่โพแทชอาเซียน เปิดให้ชมมหรสพเพียบ มวย ลิเก หนัง ดนตรี "กินอาหาร-เครื่องดื่ม"ฟรี ชาวบ้านประสานเสียงเห็นด้วย แต่ถูก"จนท.ข่าวกรอง-ความมั่นคง" ตามประกบจดชื่อระหว่างให้สัมภาษณ์สื่อ
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 27 ก.พ.58 ที่ผ่านมา ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อมและโครงการสื่อสารสุขภาวะชุมชนชายขอบ ได้นำสื่อมวลชนจำนวนกว่า 30 คน ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการขอประทานบัตรเหมืองแร่โพแทชอาเซียน ต.บ้านตาล อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ
ทั้งนี้ เมื่อเดินทางไปถึงที่องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านตาล (อบต.บ้านตาล) พบว่า ทางอบต. มีการขึ้นป้ายเตรียมจัดงานฉลองประทานบัตรเหมืองแร่ ในวันที่ 3 มี.ค. 2558 โดยแจ้งว่า มีมหรสพเปิดให้ชมฟรี อาทิ มวย ลิเก ภาพยนตร์ ดนตรี ตลอดจนอาหารและเครื่องดื่ม ฟรีตลอดงาน
เจ้าหน้าที่ อบต.บ้านตาลรายหนึ่ง ระบุว่า ในวันเปิดงานจะมีอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่(กพร.) และผู้ว่าราชการจังหวัดเดินทางมาร่วมทำพิธีมอบประทานบัตร
นายปลั่ง ทิพรัตน์ อายุ 78 ปี ชาวบ้านในพื้นที่ดังกล่าว กล่าวว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ต้องการให้เปิดเหมือง คนในพื้นที่ต้องการอาชีพ ปัจจุบันการทำนาปลูกข้าวทำได้แค่พอกิน ไม่มีกำไร
"แต่ก่อนชาวบ้านก็กลัว กลัวแผ่นดินจะถล่ม กลัวว่าจะอยู่กันยังไง แต่มันเป็นเรื่องเก่า เรื่อง 10 ปีมาแล้ว และไม่ว่าจะทำอะไรก็แล้วแต่ มันต้องมีผลกระทบบ้าง ไม่มากก็น้อย แต่ผมเชื่อว่าคนทำงานควรจะเอาสิ่งเหล่านี้ไปพัฒนาเพื่อคนส่วนรวม" นายปลั่งยืนยัน
นายมานิต ธาตุประกอบ อายุ 63 ปี ระบุว่า เจ้าหน้าที่ทางเหมืองมีการจัดอบรมบ่อยครั้ง และรับรองว่าจะเอาแร่ข้างล่างใต้ดินไปใช้ ส่วนประชาชนไม่ต้องอพยพ ไม่ต้องเวียนที่ดินคืน ทำการเกษตรได้ปกติ จะไม่ให้น้ำเค็มที่อยู่ข้างล่างทำให้ดินปนเปื้อน เพราะการทำเหมืองแบบใต้ดินเป็นเหมืองปิด และเคยลงไปดูมาแล้ว 2-3 ครั้ง
"ยกตัวอย่างเหมืองแร่ที่จังหวัดอุดรธานี เหตุผลที่ที่นั่นเปิดไม่ได้ เพราะแร่อยู่ในเขตชุมชนเมือง พอจะเปิดเมื่อไหร่ชาวบ้านก็พากันยกขบวนมาประท้วง แต่ที่นี่มีแร่โพแทชมากที่สุด และชาวบ้านก็ต้องการอาชีพ" นายมานิต ยืนยัน
นายมานิต ระบุว่า การรับรองของเจ้าหน้าที่เหมือง เป็นเพียงการพูดด้วยปากเปล่า ไม่ใช่การลงนามในเอกสารที่เป็นลายลักษณ์อักษร
ส่วนนายสมชาย ทำนักตาล ผู้ใหญ่บ้านบ้านโคกเพชร หมู่ 8 ต.บ้านตาล อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ กล่าวว่า หมู่ 8 เป็นชุมชนที่อยู่ใกล้เหมืองแร่ดังกล่าวมากที่สุด โครงการนี้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2525 สำนักงานโครงการตั้งอยู่บนที่ดินของบิดา ซึ่งขายไปเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ราคาไร่ละ 30,000 บาท พร้อมทั้งเปิดแผนที่แนวเขตคำขอประทานบัตร
"เหมืองแร่โพแทชอาเซียนมีพื้นที่ทั้งหมด 9,000 กว่าไร่ ก่อนหน้านี้มีช่วงที่ทำการเจาะลงไปแล้วในปี 44 โดยเจาะลึกลงไปประมาณ 300 เมตร และระยะทางราวๆ 1 กิโลเมตร ถ้ามองที่แผนที่เส้นสีแดงคือเขตแนวของเหมืองแร่โพแทช" ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 ระบุ
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในระหว่างการสัมภาษณ์ของสื่อมวลชนกับชาวบ้านในพื้นที่ มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบจากหน่วยข่าวกรอง และฝ่ายความมั่นคงเดินทางมาสังเกตการณ์ พร้อมจดชื่อชาวบ้านที่ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนด้วย