จรัญ ภักดีธนากุล คาดปี 2558 คดียาเสพติดเข้าสู่ศาลกว่า 3.5 แสนคดี
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชี้ช่องโหว่ปัญหาผู้ต้องขังล้นคุก เหตุนโยบายสงครามยาเสพติดเน้นปราบปรามขาดการแยกแยะ ฉะเจ้าหน้าที่รัฐบิดเบือน พ.ร.บ.ยาเสพติดจับผู้เสพเป็นผู้ค้า จี้ฝ่ายการเมืองเลิกมองกฎหมายเพียงด้านเดียว
27 กุมภาพันธ์ 2558 กระทรวงยุติธรรมจัดประชุมเรื่อง “จากวาทกรรมยาเสพติดสู่การผลิตซ้ำ...สื่อมวลชนกับปัญหาล้นคุก” ในโครงการกำลังใจในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ณ โรงแรมเซ็นทารา จังหวัดอุดรธานี
ศ.(พิเศษ) จรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวตอนหนึ่งถึงข้อมูลพื้นฐานในปี 2557 ได้แสดงให้เห็นถึงการขยายตัวของปัญหาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจำนวนผู้ติดยาเสพติดมีจำนวนสูงถึง 1.8 ล้านคน ทั้งนี้คดียาเสพติดที่เข้ามาสู่ศาลในปี 2556 มีจำนวน 327,061 คดี และคาดว่าในปี 2558 จะมีคดียาเสพติดเข้าสู่ศาลไม่น้อยกว่า 350,000 คดี จำนวนผู้ต้องขังคดียาเสพติดทั่วประเทศ 302,502 คน เป็นเพศหญิง 44,569 คน
“จำนวนผู้ต้องขังหญิงเกือบ 45,000 คน ก็ คือความล่มสลายของครอบครัว 45,000 คน พ่อแม่แก่เฒ่าไร้คนดูแล ลูกสาวขายบริการ ลูกชายขายยาบ้า หวังจะแก้ปัญหาแต่กลายเป็นการสร้างเงื่อนไขปัญหาใหม่ให้กับสังคม”
ศ.(พิเศษ) จรัญ กล่าวถึงสาเหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาผู้ต้องขังล้นคุกโดยเฉพาะในกลุ่มยาเสพติด ว่า สาเหตุแรกคือไม่รู้จึงเข้าสู่ปัญหาอย่างผิดพลาด ผู้ทรงอำนาจทางการเมืองคิดผิดและทำผิดเกี่ยวกับนโยบายสงครามยาเสพติดโดยเน้นการปราบปรามมากกว่าป้องกันและขาดการแยกแยะ กฏหมายปราบปรามยาเสพติดที่รุนแรง ทั้งระบบ ซึ่งนโยบายแบบนี้ไม่ได้แก้ต้นตอของปัญหาซ้ำยังสร้างปัญหาใหม่ให้เกิดขึ้น อีกทั้งการที่การเมืองมองกฎหมายเพียงด้านเดียวทำให้เกิดการย่อหย่อนในเรื่องการป้องกันและการบำบัดรักษา นอกจากนี้การที่รัฐหวังจะปราบปรามรายใหญ่โดยการใช้ มาตรา 100/2 มาใช้ ก็ไม่ได้ผล เพราะจับได้แต่ลูกค้ารายย่อย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง
นอกจากนี้ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้แนะแนวทางของการแก้ปัญหาว่า ต้องค้นหาองค์ความรู้ทำงานวิจัยที่ชัดเจนแม่นยำ ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ออกแบบแนวทางการแก้ปัญหาให้ตรงสาเหตุ พุ่งเป้าหมายให้เกิดการปรับตัวในระดับนโยบายลงมาสู่กฎหมายและการบังคับใช้ให้ได้ผลทั้งในด้านการป้องกันและปราบปราม
“ส่วนเจ้าหน้าที่ที่เป็นผู้ค้าเอง กลั่นแกล้งยัดข้อหา บิดเบือนกระบวนการบำบัดรักษา ยัดผู้ติดยาว่า เป็นผู้ค้ารายใหญ่ ต้องขจัดให้หมดไป ส่วนผู้ติดยาต้องได้รับการบำบัดและไม่ควรนำเข้าสู่คดีอาญา เพราะบุคคลเหล่านี้คือเหยื่อแต่ไม่ได้เป็นอาชญากร”