ผู้บริหาร จุฬาฯ แจงผลประโยชน์ร่วมทุน พลิกโฉมพื้นที่ 'สามย่าน' เทียบจามจุรีสแควร์
รองอธิการบดี จุฬาฯ แจงผลประโยชน์ร่วมทุน ‘บ.ทิพย์พัฒน อาร์เขต’ พัฒนาโครงการหมอน 21-22 พลิกโฉมเป็นพื้นที่ Mix Use คาดเซ็นสัญญาเร็ว ๆ นี้ กำหนดเวลาก่อสร้าง 4 ปี ยันข้อตกลงเป็นไปตามทีโออาร์
พื้นที่ขนาด 13 ไร่ 1 งาน 47.5 ตารางวา บริเวณแยกสามย่าน ตรงข้ามอาคารจามจุรีสแควร์ เป็นที่ตั้งของโครงการพัฒนาพื้นที่หมอน 21-22 ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2558 ให้บริษัท ทิพย์พัฒน อาร์เขต จำกัด เข้ามารับผิดชอบโครงการนี้อย่างเป็นทางการ ภายหลังบรรลุข้อเจรจาผลประโยชน์ตอบแทนเหมาะสมไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในทีโออาร์ (อ่านประกอบ:เจาะแฟ้ม! ครม.ประยุทธ์ ไฟเขียวจุฬาฯ ร่วมทุนพัฒนาพื้นที่ ในอุ้งมือ "เสี่ยเจริญ")
แน่นอน!!! สังคมสาธารณะต่างตั้งข้อสงสัยกับสถาบันการศึกษาแห่งนี้ถึงรายละเอียดร่างสัญญา และผลตอบแทนที่ได้รับจากการดำเนินโครงการเกิดประโยชน์สูงสุดหรือไม่ เมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าทรัพย์สินในโครงการที่มีอยู่แล้วเกินกว่า 5 พันล้านบาท
เพื่อตอบข้อสงสัยในประเด็นดังกล่าวอย่างชัดแจ้ง ณ สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นัดสัมภาษณ์ ‘รศ.น.อ.นพ.เพิ่มยศ โกศลพันธุ์’ รองอธิการบดีกำกับดูแลสำนักงานทรัพย์สิน จุฬาฯ ในฐานะหัวเรือใหญ่คนสำคัญขององค์กร
“พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 มีพระราชประสงค์ชัดเจนให้จุฬาฯ ใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งในการหาผลประโยชน์เพื่อบำรุงมหาวิทยาลัย ซึ่งพระองค์นับเป็นผู้มีวิสัยทัศน์มองออกว่า ในอนาคตรัฐบาลจะเลี้ยงมหาวิทยาลัยฝ่ายเดียวไม่ไหว จึงมีนโยบายพัฒนาพื้นที่แห่งนี้เรื่อยมา” รศ.น.อ.นพ.เพิ่มยศ ระบุถึงความเป็นมา
ก่อนเปิดเผยว่า จุฬาฯ มีพื้นที่ประมาณ 1,153 ไร่ แบ่งเป็น
พื้นที่สำหรับเขตการศึกษา ร้อยละ 50
พื้นที่สำหรับส่วนราชการยืม/เช่าใช้ ร้อยละ 20 เช่น กรมพลศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย เป็นต้น
และพื้นที่สำหรับการพัฒนาเชิงพาณิชย์ เพื่อบำรุงการศึกษา ร้อยละ 30 เช่น บริเวณสยามสแควร์ สวนหลวง สามย่าน เป็นต้น
รองอธิการบดีฯ ขยายความว่า เมื่อ 40 ปีก่อน บริเวณพื้นที่พัฒนาเชิงพาณิชย์เต็มไปด้วยห้องแถว โดยมีภาคเอกชนเข้ามาลงทุน ซึ่งขณะนี้มีสภาพเสื่อมโทรม จำเป็นต้องดำเนินการใหม่ ดังนั้น จึงทำให้ปัจจุบันพื้นที่ถูกพัฒนาเป็นอาคารหรือศูนย์การค้าขนาดใหญ่แทน
ประเด็น คือ ‘จุฬาฯ’ ดำเนินการเอง หรือจะให้ ‘คนอื่น’ ดำเนินการ ???
รศ.น.อ.นพ.เพิ่มยศ บอกตรง ๆ ว่า หากจุฬาฯ ดำเนินการพัฒนาพื้นที่เอง ช่างแสนเหนื่อย ดังเช่น อาคารจามจุรีสแควร์ ซึ่งเดิมให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุน แต่เมื่อเจอวิกฤตต้มยำกุ้ง ทำให้เราต้องดำเนินโครงการเอง ซึ่งรู้สึกเหนื่อย ไม่ว่าจะเป็นเงินลงทุนหรือบุคลกรผู้เชี่ยวชาญ
“จุฬาฯ ไม่ใช่นักธุรกิจ ดังนั้น หากดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่เอง มีโอกาสเสี่ยงสูง ถ้าให้เอกชนดำเนินการ โอกาส ‘เจ๊ง’ ก็มีน้อย”
เมื่อถามถึงโครงการพัฒนาพื้นที่หมอน 21-22 ผู้บริหาร จุฬาฯ บอกอันดับแรกประเมินก่อนว่า ใครจะดำเนินการ ซึ่งเราคิดว่าคงทำเองไม่ไหวและอาจเกิดความเสี่ยงสูง จึงตัดสินใจให้ภาคเอกชนดำเนินการ ตั้งแต่ปี 2550 นำมาสู่การศึกษาข้อมูล และเสนอเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. กระทั่งได้รับการอนุมัติให้ดำเนินการในสมัยรัฐบาลชุด นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
เมื่อนำเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย สุดท้ายเหลือภาคเอกชนเสนอเข้าร่วมงานที่มีคุณสมบัติตรง เพียง 2 บริษัท คือ บริษัท แอล แอนด์ เอช พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด บริษัทในเครือ บมจ. แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ และบริษัททิพย์พัฒน อาร์เขต จำกัด ซึ่งต่างมีข้อเสนอผลประโยชน์ตอบแทนที่ดีทั้งคู่
“ภายหลังการเจรจาต่อรอง ทำให้ตัดสินใจเลือก บริษัท ทิพย์พัฒน อาร์เขต จำกัด มีสิทธิในการดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่หมอน 21-22 เพราะให้ผลประโยชน์ตอบแทนสูงสุดแก่จุฬาฯ”
สำหรับข้อด้อยของบริษัท แอล แอนด์ เอช พร็อพเพอร์ตี้ รองอธิการบดีฯ กล่าวว่า บริษัทดังกล่าวถอดใจเอง เพราะเขาไม่มั่นใจในการทำงานร่วมกับภาครัฐ โดยเฉพาะกับจุฬาฯ ด้วยแล้ว ยิ่งน่ากลัว ไม่ใช่กลัวใต้โต๊ะ แต่กลัวความเข้มงวด ชนิดกระดิกไม่ได้ เพราะต้องดำเนินโครงการตามสัญญาอย่างเคร่งครัด ซึ่งเข้าใจว่า บางครั้งภาคเอกชนต้องการอะไรที่ดิ้นได้ แต่สำหรับเราหากปล่อยให้ดิ้นผิดทางก็เดือดร้อน
ทั้งนี้ เราพิจารณาคุณสมบัติของผู้ยื่นเสนอเข้าร่วมงาน ทั้งด้านศักยภาพ บุคลากร ผลงาน ความเป็นไปได้โครงการ ระบบการตลาด การลงทุน สถาปัตยกรรม นวัตกรรม สิ่งแวดล้อม และผลประโยชน์ที่จุฬาฯ จะได้รับ ซึ่งได้ประเมินไว้ตั้งแต่ต้นคล้ายราคากลาง
เมื่อถามถึงรายละเอียดผลประโยชน์ที่จุฬาฯ จะได้รับ รศ.น.อ.นพ.เพิ่มยศ ระบุว่า พื้นที่ทั้งหมดจะถูกก่อสร้างในคอนเซปต์ Mix Use ประกอบด้วย โรงแรม คอนโด ออฟฟิต หรือพื้นที่จัดแสดง ซึ่งอาคารทั้งหมดคงไม่ใหญ่เท่าอาคารจามจุรีสแควร์
อย่างไรก็ตาม จะตกเป็นของจุฬาฯ ตั้งแต่เริ่มแรก อีกทั้ง บริษัทต้องจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้ ซึ่งแน่นอนเขาย่อมหวังกำไร เราก็ได้น้อยลง แต่ความเสี่ยงต่ำ ตลอดจนให้สิทธิในการเข้าใช้ประโยชน์พื้นที่ เช่น แสดงผลงาน การศึกษา หรือวิจัย เป็นต้น
ส่วนผลประโยชน์ตอบแทนเป็นตัวเลข ผู้บริหาร จุฬาฯ ปฏิเสธที่จะตอบ พร้อมเเนะนำให้สอบถามจากบริษัท ทิพย์พัฒน อาร์เขต จำกัด แทน
รศ.น.อ.นพ.เพิ่มยศ ยังกล่าวถึงร่างสัญญาว่า จุฬาฯ กำลังให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจร่างสัญญาให้อยู่ เช่นเดียวกันบริษัทเอกชน อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะมีการเซ็นสัญญาในเร็ว ๆ นี้ พร้อมยืนยันรายละเอียดทุกอย่างเป็นไปตามทีโออาร์ กำหนดระยะเวลาก่อสร้าง 4 ปี หลังจากเซ็นสัญญา
ก่อนจบประเด็น ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า สามารถประเมินมูลค่าผลตอบแทนสูงสุดที่จุฬาได้รับหรือไม่ ผู้บริหาร จุฬาฯ กล่าวด้วยรอยยิ้มเพียงว่า ตัวเลขเป็นเรื่องไม่น่าพูดถึง .