- Home
- Investigative
- ข่าวทั่วไปศูนย์ข่าวสืบสวน
- เจาะแฟ้ม!ครม.ประยุทธ์ ไฟเขียวจุฬาฯร่วมทุนพัฒนาพื้นที่ ในอุ้งมือ"เสี่ยเจริญ"
เจาะแฟ้ม!ครม.ประยุทธ์ ไฟเขียวจุฬาฯร่วมทุนพัฒนาพื้นที่ ในอุ้งมือ"เสี่ยเจริญ"
เจาะข้อมูลโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณสี่แยกสามย่าน จุฬาฯ หลังกระทรวงศึกษาฯ ชงเรื่อง ครม.ประยุทธ์ ไฟเขียวอนุมัติแผนร่วมทุน "บ.ทิพย์พัฒน อาร์เขต" เป็นทางการแล้ว ระบุชัดมูลค่าทรัพย์สินรวมกว่า 5,000 ล. พบถือหุ้น 3 ชั้น ก่อนถึงชื่อ "เสี่ยเจริญ" -อัยการติงร่างสัญญาต้องชัดเจนรอบคอบมากกว่านี้
หลายคนอาจจะเคยได้ยินข่าวกันมาแล้วว่า นายเจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าสัวเบียร์ช้าง และเจ้าของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของประเทศไทย มีแผนลงทุนโครงการพัฒนาที่ดินหลายแห่งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
ล่าสุด โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณหมอน 21-22 ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งอยู่บริเวณสี่แยกสามย่าน (จุดตัดระหว่างถนนพญาไทกับถนนพระราม 4) ขนาดพื้นที่ประมาณ 13 ไร่ 1 งาน 47.5 ตารางวา คือ โครงการที่นายเจริญ เพิ่งได้รับอนุมัติจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างเป็นทางการ ในช่วงปลายเดือนม.ค.58 ที่ผ่านมา
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 27 ม.ค.58 ที่ผ่านมา มีมติอนุมัติให้บริษัท ทิพย์พัฒน อาร์เขต จำกัด เป็นผู้ลงทุนในโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณหมอน 21-22 (บริเวณที่แยกสามย่าน) ตามข้อเสนอของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามมาตรา 69 (1) แห่งพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ประกอบกับมาตรา 21 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ
จากการตรวจสอบพบว่า ในเอกสารประกอบการเสนอเรื่องต่อที่ประชุมครม.เมื่อวันที่ 27 ม.ค.58 ดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา ระบุว่า ได้รับการประสานจากจุฬาลงการณ์มหาวิทยาลัย ขอให้นำเรื่องเสนอต่อ ครม. เพื่ออนุมัติให้บริษัท ทิพย์พัฒน อาร์เขต จำกัด เป็นผู้ลงทุนในโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณหมอน 21-22 ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โดยระบุว่าโครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่มีทรัพย์สินอยู่แล้ว มีวงเงินหรือทรัพย์สินเกินกว่า 5,000 ล้านบาท
พร้อมอธิบายที่มาที่ไปของโครงการฯ นี้ ว่า ภายหลังจากที่ ครม. เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2553 เห็นชอบในหลักการให้เอกชนเข้าร่วมงานในโครงการดังกล่าว จุฬาลงการณ์มหาวิทยาลัย ได้ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐพ.ศ. 2535 โดยมีการออกประกาศเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2554 ซึ่งกำหนดให้มีผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ พิจารณาให้ความเห็นชอบร่างประกาศเชิญชวนเอกชน และร่างขอบเขตของโครงการ และเงื่อนในสัญญา รวมถึงการพิจารณาคัดเลือกให้เอกชนเข้าร่วมงาน
ก่อนที่จะพิจารณาข้อเสนอและผลประโยชน์ตอบแทนของบริษัท ทิพย์พัฒน อาร์เขต จำกัด พบว่ามีความเหมาะสมให้ผลประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในทีโออาร์ และได้เจรจาต่อรองจนได้ข้อยุติเบื้องต้น และได้มีมติเมื่อวันที่ 9 ก.ย.56 ให้ บริษัทฯ เป็นผู้ผ่านการคัดเลือก
และเมื่อวันที่ 29 พ.ย.56 ได้นำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พิจารณาการดำเนินโครงการ และขอให้เสนอครม.พิจารณาอนุมัติผู้ลงทุน แต่เนื่องจากสถานการณ์บ้านเมืองเป็นเหตุให้ไม่สามารถพิจารณาเสนอครม.ได้ เป็นระยะเวลากว่า 10 เดือน จึงเกรงว่าหากโครงการนี้ล่าช้าออกไปอีกจะก่อให้เกิดความสูญเสียรายได้ และความเสียหายแก่จุฬาฯ ซึ่งปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าว ได้รับมอบพื้นที่คืนจากผู้เช่า และจุฬาฯ ได้ดำเนินการรื้อถอนเป็นพื้นที่ว่างแล้ว จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องเสนอเรื่องให้ ครม.พิจารณาเพื่อมีมติอนุมัติผู้ลงทุนโครงการดังกล่าว
จากการตรวจสอบพบว่า บริษัท ทิพย์พัฒน อาร์เขต จำกัด เจ้าของโครงการศูนย์การค้าพันธ์ทิพย์พลาซ่า ที่เข้ามารับผิดชอบโครงการฯ นี้ เป็นบริษัทในเครือของ นายเจริญ สิริวัฒนภักดี โดยมีข้อมูลยืนยันดังนี้
ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า บริษัท ทิพย์พัฒน อาร์เขต จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2524 ทุนปัจจุบัน 2,000 ล้านบาท ตั้งอยู่เลขที่ 604/3 ถนนเพชรบุรี แขวงถนนเพชรบุรี เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร แจ้งประกอบกิจการให้เช่าพื้นที่และบริการ ประกอบกิจการโรงแรม
ปรากฎชื่อ นาย ยงยุทธ ไชยชนะ และนาง ลีลาวดี ละไมเสถียร เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ
รายชื่อผู้ถือหุ้น ณ 29 เมษายน 2557 บริษัท ทีซีซี แลนด์ รีเทล จำกัด ถือหุ้นใหญ่สุด 19,999,998 หุ้น มูลค่า 1,999,999,800 บาท
บริษัท ทีซีซี แลนด์ รีเทล จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2550 ทุน 2,700 ล้านบาท ตั้งอยู่เลขที่ 1 อาคารเอ็มไพร์ ทาวเวอร์ ชั้น 54 ถนนสาทรใต้ แขวงยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพมหานคร แจ้งประกอบธุรกิจรับจ้างบริหาร รับเป็นที่ปรึกษา ทำโครงการ พัฒนาโครงการ
ปรากฎชื่อ นาย ประวุฒิ กิจไพศาลรัตนา และ นาย สมนึก ศรไชยธนะสุข เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ
รายชื่อผู้ถือหุ้น ณ 29 เมษายน 2557 บริษัท ทีซีซี แลนด์ จำกัด ถือหุ้นใหญ่สุด 269,999,998 หุ้น มูลค่า 2,699,999,980 บาท
ขณะที่ บริษัท ทีซีซี แลนด์ จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2548 ทุน 23,500 ล้านบาท ตั้งอยู่เลขที่ 1 อาคารเอ็มไพร์ ทาวเวอร์ ชั้น 53-54 ถนนสาทรใต้ แขวงยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพมหานคร แจ้งประกอบธุรกิจ ให้เงินลงทุนและให้กู้ยืม บริหารจัดการธุรกิจ
รายชื่อ ผู้ถือหุ้น ณ 30 เมษายน 2557 ทีซีซี กรุ๊ป อินเตอร์เนชั่นแนล ลิมิเต็ด ตั้งอยู่บนหมู่เกาะเวอร์จิน(อังกฤษ) ถือหุ้นใหญ่สุด 1,151,499,000 หุ้น มูลค่า 11,514,990,000 นาย เจริญ สิริวัฒนภักดี และคุณหญิง วรรณา สิริวัฒนภักดี ถืออยู่เท่ากัน คือ 599,250,500 หุ้น มูลค่า 5,992,505,000 บาท
จากการตรวจสอบเอกสารนำเสนอเรื่องเข้าสู่การประชุมครม. ยังพบว่า สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้นำเสนอความเห็นประกอบในการพิจารณาเรื่องนี้ด้วยโดยระบุว่า เห็นควรอนุมัติให้บริษัท ทิพย์พัฒน อาร์เขต จำกัด เป็นผู้ลงทุนในโครงการนี้
แต่ควรมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ โดยจุฬาลงการณ์มหาวิทยาลัย พิจารณาดำเนินการตามข้อสังเกตเพิ่มเติมของสำนักงานอัยการสูงสุดต่อร่างสัญญาให้สิทธิประโยชน์โครงการฯ อย่างเคร่งครัด เพื่อให้การดำเนินโครงการมีความชัดเจนและรอบคอบมากยิ่งขึ้น รวมทั้งจะช่วยรักษาผลประโยชน์และลดผลกระทบของภาครัฐในการดำเนินโครงการดังกล่าว
ส่วนข้อสังเกตของสำนักงานอัยการสูงสุดต่อร่างสัญญา ว่า ยังมีความไม่สมบูรณ์ในจุดไหนบ้าง และที่สำคัญจุฬาฯ จะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนโครงการฯนี้ จำนวนเท่าไร
ณ เวลานี้ คงจะมีเพียงแต่ผู้บริหารของจุฬาฯ เท่านั้นที่จะให้คำตอบชัดเจนต่อสาธารณชนได้
#เชิญชวนติดตามข่าวสารสำนักข่าวอิศรา ได้ด้วยการกด "Like" ที่ แฟนเพจ "I love isranews"
อ่านประกอบ :
22 บริษัทลับ 7 หมื่นล้าน“บริติชเวอร์จิน”ในเครือ“เสี่ยเจริญ”
บริษัทรับซื้อที่ดินพ่อ“ประยุทธ์”600 ล.“หุ้นใหญ่”ตั้งบนเกาะบริติชเวอร์จิน
ไขปมบริษัทลับ!บนเกาะบริติชเวอร์จิน “หุ้นใหญ่”ซื้อที่ดิน 600 ล. พ่อ“ประยุทธ์”