เปิดใจ "ภราดร-ทวี" สองคีย์แมนผู้สร้างประวัติศาสตร์เปิดโต๊ะพูดคุย BRN
การแถลงข่าวการลงนามในข้อตกลงริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับผู้เห็นต่างจากรัฐ นำโดยกลุ่มบีอาร์เอ็น เมื่อ 28 ก.พ.56 ถือเป็นการเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
เพราะเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลไทยยอมรับอย่างเป็นทางการว่า มีกลุ่มผู้เห็นต่างที่ต่อสู้กับรัฐในรูปของ "กลุ่มคน" หรือ "ขบวนการ" อยู่จริง และยอมรับว่านี่เป็นปัญหาความขัดแย้งที่มิอาจใช้เพียงกลไกภายในประเทศด้านเดียวในการยุติสถานการณ์ได้อีกต่อไป
ทั้งยังเป็นครั้งแรกที่มีการเชื้อเชิญให้ "ผู้เห็นต่างจากรัฐ" ซึ่งอ้างอุดมการณ์ปลดปล่อยปัตตานี (โดยนัยหมายถึงสามจังหวัดชายแดนภาคใต้) เข้าร่วมโต๊ะพูดคุยในสถานะที่เท่าเทียมกับผู้แทนรัฐบาล
โดยเฉพาะกลุ่มบีอาร์เอ็นที่เป็น "องค์กรลับ" ไม่เคยเปิดตัว เปิดหน้าที่ไหนมาก่อน
แน่นอนว่าการสร้างประวัติศาสตร์ดังกล่าวส่งผลทั้งแง่บวกและลบ คณะพูดคุยและรัฐบาลถูกวิจารณ์อย่างกว้างขวางในมุมของการไปยกระดับกลุ่มผู้เห็นต่างให้มีตัวตนและมีสถานะเป็นคู่เจรจากับรัฐบาลไทย ทั้งยังถูกติติงเรื่องการวางแผนพูดคุยที่ไม่รัดกุมพอ ขาดโรดแมพที่ชัดเจนในการทำงาน
แต่ถึงกระนั้น การเปิดโต๊ะพูดคุยอย่างเป็นทางการ ซึ่งแม้กระทำได้เพียง 3 ครั้งในปี 56 ก็ส่งผลให้กระบวนการพูดคุยสันติภาพไม่ได้เป็นแค่ข้อความในกระดาษ (นโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้) อีกต่อไป แต่ได้แปรสู่การปฏิบัตจริง และกลายเป็นวาระแห่งชาติที่ทุกรัฐบาลต้องสานต่อ
"ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา" สัมภาษณ์พิเศษ พล.ท.ภราดร พัฒนาถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อดีตเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในฐานะสองคีย์แมนคนสำคัญในกระบวนการพูดคุยสันติภาพเมื่อปี 56 เพื่อให้บอกเล่าถึงประสบการณ์และบทเรียนของการพูดคุยในอดีต กับงานที่ยังต้องทำในอนาคต
"พูดคุย"คือความหวัง
"แนวทางการพูดคุยสันติภาพ หรือที่เรียกใหม่ว่า 'พูดคุยสันติสุข' ยังเป็นความหวัง การปฏิบัติที่ผ่านมา ตั้งแต่ก่อน 28 ก.พ.56 จนถึงวันที่ 28 ก.พ.56 ที่มีการลงนามในข้อตกลงร่วมกันว่าจะริเริ่มกระบวนการพูดคุยนั้น ยืนยันว่ามาจากความเห็นชอบของทุกฝ่าย ทุกหน่วยงาน ไม่ได้ทำโดยพลการ เรื่องนี้มีนโยบายชัดเจน เป็นนโยบายของรัฐบาล ของ สมช. และรับทราบโดยสภา" พล.ท.ภราดร เล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นกระบวนการพูดคุยเมื่อปี 56
และว่าสำหรับการดำเนินการของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ได้ต่อยอดจากที่รัฐบาลชุดที่แล้วได้ดำเนินการเอาไว้ ครั้งนั้นเราคุยกับบีอาร์เอ็นเป็นหลัก และกำลังขยายผลไปยังกลุ่มอื่น แต่ปรากฏว่ามีสถานการณ์ไม่เรียบร้อยภายในประเทศเสียก่อน กระบวนการเลยหยุดชะงักไป แต่ไม่ได้เลิก และรัฐบาลชุดปัจจุบันก็เข้ามาสานต่อ ต่อยอด
อย่างไรก็ดี แม้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะออกแบบกระบวนการพูดคุยแล้ว แต่การจะเดินหน้าต้องอาศัยการเห็นพ้องจากทุกฝ่าย ทั้งมาเลเซีย ในฐานะผู้อำนวยความสะดวก และฝ่ายขบวนการของผู้เห็นต่าง ซึ่งขณะนี้สถานการณ์ภายในประเทศยังไม่ลงตัวเท่าที่ควร การขยับของขบวนการก็จะดูท่าทีของรัฐบาล และการจัดตัวบุคคลมาพูดคุย ก็อาจมีความกังวลใจบ้าง แต่ภาพรวมก็ต้องยอมรับว่าการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ต้องใช้การพูดคุยเป็นหลัก
"ตั้งแง่"แค่หยั่งท่าที
สำหรับตัวบุคคลในคณะพูดคุยฝ่ายไทยนั้น พล.ท.ภราดร กล่าวว่า มั่นใจในตัว พล.อ.อักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยของรัฐบาล เพราะในการพูดคุยช่วงรัฐบาลชุดที่แล้ว แม้ พล.อ.อักษรา ไม่ได้อยู่ในคณะพูดคุย แต่ก็เกี่ยวข้องในฐานะเลขาธิการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (ลธ.รมน.) จึงมอนิเตอร์และรับรู้ความเคลื่อนไหวตลอด ส่วนตัวก็เป็นเพื่อนนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 14 ด้วยกันกับ พล.อ.อักษรา ก็ได้มีการแลกเปลี่ยนทัศนะอย่างไม่เป็นทางการกันบ่อยครั้ง
"เราก็คุยกันตลอด ทั้งในฐานะเพื่อนและเพื่อนร่วมงาน ยืนยันว่า พล.อ.อักษรา มีความรู้ความสามารถ รับผิดชอบภารกิจนี้ได้ดีแน่นอน"
ส่วนกรณีที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ยื่นเงื่อนไขยากๆ ให้ทางการมาเลเซีย เช่น ต้องจัดตัวจริงมาพูดคุยเท่านั้น หรือห้ามพูดเรื่องเขตปกครองพิเศษ จะทำให้การพูดคุยเดินหน้ายากขึ้นหรือไม่ พล.ท.ภราดร กล่าวว่า เป็นการหยั่งท่าทีของฝ่ายไทย ซึ่งจริงๆ แล้วฝ่ายขบวนการก็เคยทำมาก่อน ก็ยื่นข้อเรียกร้องมาในรูปแบบต่างๆ
"โดยหลักการแล้วทั้งสองฝ่ายก็ยื่นเงื่อนไขได้ เงื่อนไขไหนยังไม่ลงตัวก็รอไว้ก่อน ส่วนเงื่อนไขไหนที่สามารถคุยกันได้ก็คุยกันไป เมื่อมีความเชื่อมั่นไว้วางใจกันมากขึ้น ก็ค่อยหยิบเงื่อนไขที่แขวนไว้มาคุยกัน แล้วแสวงหาทางออกร่วมกัน" อดีตเลขาธิการ สมช.กล่าว
ขอเจอตัวจริง..ไม่ง่าย
ที่ผ่านมามีหลายเสียงบอกว่า รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารอาจเป็นอุปสรรคต่อการพูดคุย แต่ พล.ท.ภราดร มองประเด็นนี้ใน 2 มิติ คือ มีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน
"จุดแข็ง คือ รัฐบาลแบบนี้จะมีเอกภาพ และถ้าสร้างเอกภาพได้จริง การปฏิบัติก็จะรวดเร็ว แต่จุดอ่อน คือ ข้อกังวลเรื่องความมั่นใจ และอาจถูกตั้งแง่จากฝ่ายขบวนการ"
เช่นเดียวกับที่รัฐบาลตั้งเงื่อนไขให้เชิญ "ตัวจริง" มาพูดคุยเท่านั้น พล.ท.ภราดร เน้นย้ำจากประสบการณ์ว่า เป็นเรื่องไม่ง่ายที่จะให้คนระดับนั้นออกมา ด้วยเหตุนี้การพูดคุยกันไปเรื่อยๆ สร้างความเชื่อมั่นให้เพิ่มสูงขึ้น กระทั่งแกนนำระดับต่างๆ ทยอยออกมาพูดคุยน่าจะดีกว่า เพราะตลอดช่วงเวลาของการพูดคุยก็จะมีการพิสูจน์ทราบสถานะของผู้ที่ออกมาพูดคุยตลอดอยู่แล้ว
เมื่อถามถึงกระบวนการสันติภาพที่ฟิลิปปินส์ ซึ่งแม้จะมีข้อตกลงระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนกลุ่มใหญ่ไปแล้ว (เอ็มไอแอลเอฟ หรือแนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโร) แต่ความรุนแรงก็ยังมีอยู่ พล.ท.ภราดร บอกว่า ทุกบทเรียนมีอยู่ในทุกพื้นที่ความขัดแย้งทั่วโลก ที่สำคัญคือความรุนแรงจะไม่จบลงทันที จะมีอาฟเตอร์ช็อคตามมาหลังการพูดคุย แต่สุดท้ายถ้าสร้างความเชื่อมั่นไว้วางใจกันได้ ความรุนแรงก็จะค่อยๆ เบาบางลง เพราะฝ่ายผู้เห็นต่างหรือผู้ที่ไม่พอใจฝ่ายรัฐจะมีช่องทางในการระบายออกบนโต๊ะพูดคุย
5ข้อเรียกร้องสะท้อนต้นตอไฟใต้
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อดีตเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวในวาระ 2 ปีพูดคุยสันติภาพดับไฟใต้ว่า การแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการพูดคุยเพื่อแก้ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระหว่างเลขาธิการ สมช.ในขณะนั้น (พล.ท.ภราดร) กับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ เมื่อวันที่ 28 ก.พ.56 ที่ประเทศมาเลเซีย ถือเป็นประวัติศาสตร์สำคัญที่แสดงถึงเอกภาพในระดับนโยบายของประเทศในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยแนวทางสันติวิธี และถือเป็นจุดเริ่มต้นในการแสวงหาสาเหตุของปัญหาที่แท้จริงของจังหวัดชายแดนภาคใต้
อย่างน้อยข้อเสนอ 1 ใน 5 ข้อของผู้เห็นต่างที่ระบุว่า "ต้องการให้รัฐรับรองสิทธิความเป็นเจ้าของมลายูปาตานี กล่าวคือ มีสิทธิในการนับถือศาสนา การดำรงวิถีวัฒนธรรม และได้รับความเป็นธรรม โดยรัฐต้องมีหลักประกันต่อสิทธิชาวมลายูปาตานี ควรให้สิทธิกำหนดชะตากรรมของชาวปาตานี รวมถึงสิทธิทางด้านภาษามลายู สังคมวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ปาตานี และเศรษฐกิจ ให้โอกาสชาวมลายูปาตานีปกครองตนเองหรือปกครองรูปแบบพิเศษภายใต้รัฐธรรมนูญไทย" นั้น
เรื่องนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการหรือเหตุผลที่กลุ่มผู้เห็นต่างต้องจับอาวุธขึ้นต่อสู้กับรัฐ จนเป็นปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลายาวนาน และเป็นปัญหาที่มีคำถามมากกว่าคำตอบ
"จากประเด็นที่กลุ่มผู้เห็นต่างเสนอทั้ง 5 ข้อ โดยระบุว่าถ้าหากได้รับการตอบสนองแล้วจะนำไปสู่การยุติการปฏิบัติการ และเชื่อว่าเหตุการณ์จะสงบลงได้นั้น แม้ว่ายังไม่มีข้อสรุปจากฝ่ายรัฐ แต่ได้มีการนำข้อเสนอไปถกแถลงในเวทีเสวนาประชาชนทั้งในและนอกพื้นที่ เกิดการสื่อสารสร้างความเข้าใจถึงแนวคิดเรื่องสันติวิธี มีการระดมความเห็นและการมีส่วนร่วมในการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งโดยสันติวิธีจากทุกภาคส่วน รวมทั้งผู้ได้รับผลกระทบและผู้มีส่วนได้เสียกับสถานการณ์ความไม่สงบ"
"พร้อมมีข้อเสนอแนะมาตรการในการสร้างความเข้าใจ ลดความหวาดระแวง ตระหนักถึงคุณค่าของการอยู่ร่วมกันภายใต้ความหลากหลายของสังคมพหุวัฒนธรรม เพื่อให้การอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างทางชาติพันธุ์ ศาสนา ภาษา มีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน ปรากฏว่ามีการสร้างเครือข่ายหรือกลุ่มที่มีศักยภาพ รวมถึงสื่อสารมวลชนทุกแขนงได้สนับสนุนกระบวนการพูดคุย ด้วยการสื่อสารและทำความเข้าใจกับประชาชนทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่อง"
พูดคุย = สร้างการมีส่วนร่วม
พ.ต.อ.ทวี กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมานโยบายของรัฐได้กำหนดให้น้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทาน "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งหลักรัฐประศาสโนบายสำหรับมณฑลปัตตานีของรัชกาลที่ 6 ซึ่งวางไว้สำหรับปฏิบัติราชการ เมื่อ พ.ศ.2466 มาเป็นหลักยึดการทำงานของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ ทำให้สถานการณ์พัฒนาในทางที่ดีขึ้นตามลำดับ แต่ความคาดหวังและความต้องการของทุกภาคส่วนต้องการเห็นจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความปลอดภัยในการดำรงชีวิตอย่างปกติสุขของพลเมืองในพื้นที่ทุกกลุ่ม ทุกอาชีพ ทุกเชื้อชาติ ทั้งพุทธ อิสลาม ศาสนาอื่นๆ และทุกวัฒนธรรม
ส่วนตัวเห็นว่า "การมีส่วนร่วม" ของประชาชนทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะเป็นหัวใจสำคัญของการแก้ปัญหาในพื้นที่ ซึ่งการพุดคุยเพื่อสันติสุขหรือสันติภาพก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา ประกอบกับการน้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทานข้างต้นสู่การปฏิบัติอย่างซื่อตรง จริงจัง จริงใจ และความเข้าใจที่ว่าทุกคนไม่ว่านับถือศาสนาใด เชื้อชาติและภาษาใดล้วนเป็นพี่น้องกัน และเป็นพลเมืองไทยด้วยกัน ก็จะยิ่งเป็นหนทางนำไปสู่สันติสุขดังที่ทุกคนคาดหวัง
"สุดท้ายขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการสร้างสันติสุขและสันติภาพ โดยเฉพาะข้าราชการที่ปฏิบัติงานในพื้นที่และประชาชนทุกคน"
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 (ซ้าย) พ.ต.อ.ทวี (ขวา) พล.ท.ภราดร
2 บรรยากาศในวันลงนามข้อตกลงริเริ่มกระบวนการพูดคุย เมื่อ 28 ก.พ.56