นักวิชาการคาดพ.ร.บ.น้ำฯ ร่างเสร็จเดือนเมษาฯ ก่อนผลักดันเข้าครม.
ไพโรจน์ พลเพชร ยันกฎหมายทรัพยากรน้ำให้ความสำคัญการมีส่วนร่วมภาคประชาชน หวังบริหารอิสระโดยปราศจากราชการยากเพราะในทางปฏิบัติต้องทำงานร่วมกัน ย้ำออกแบบกฎหมายสร้างสัดส่วนราชการและภาคประชาชนอย่างสมดุล
26 กุมภาพันธ์ 2558 คณะกรรมาธิการวิสามัญการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จัดโครงการเวทีรับฟังความคิดเห็น “การจัดทำยุทธศาสตร์และกฎหมายการบริหารจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วม”
โดยในช่วงบ่ายได้เปิดเวทีรับฟังความเห็นจากผู้เข้าร่วมประชุมกลุ่มย่อย “การมีกฎหมายทรัพยากรน้ำที่ปฏิบัติได้จริง” ณ ห้องแกรนด์บอลรูม C โรงแรม มิราเคิล แกรนด์
นายไพโรจน์ พลเพชร กรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) กล่าวถึงการออกกฎหมายทรัพยากรน้ำในครั้งนี้เป็นการออกแบบเพื่อบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่มีความขัดแย้งกันให้สามารถทำงานร่วมกันได้ โดยแนวทางในการปฏิรูปนั้นมี 2 แนวทาง คือ หนึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาทำแผนยุทธศาสตร์ร่วมกัน หรือสองเปิดการบริหารแบบมีส่วนร่วมให้เป็นองค์กรอิสระแบบสภาพัฒน์ แต่ที่ผ่านมาก็ยังไม่มีหน่วยงานใดบูรณาการแผนยุทธศาสตร์ที่ 12 หรือ 13 ไม่เคยมีใครเอาไปทำ หากจะย้อนดูแผนยุทธศาสตร์ที่ผ่านมามีแนวโน้มมาจาก 1 สภาพัฒน์ 2 นโยบายพื้นฐานจากภาครัฐ 3 นโยบายจากภาคการเมืองโดยตรง
นายไพโรจน์ กล่าวถึงแผนยุทธศาสต์ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จะมาจากการคิดของสภาพัฒน์ฯ ส่งมาให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อีกครั้ง ซึ่งแล้วแต่ว่าครม.จะเห็นด้วยหรือไม่และส่งต่อมาให้หน่วยงานราชการปฏิบัติอีกทาง ดังนั้นการออกแบบกฎหมายจำเป็นต้องดูข้อเท็จจริงในแนวทางปฏิบัติด้วยว่า ควรจะต้องมีหน่วยงานใดเข้ามาอยู่ในกฎหมายทรัพยากรน้ำ อย่างไรก็ตามยังยืนยันว่า กฎหมายที่กำลังจะเกิดขึ้นจะให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมและพยายามจะสร้างสมดุลในการออกแบบให้สัดส่วนของราชการน้อยลง
กรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวถึงการออกแบบกฎหมายเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมว่า จะต้องเป็นการสร้างจากข้างล่างขึ้นข้างบน เพราะคนข้างล่างจะทราบถึงปัญหาเป็นอย่างดี ส่วนข้างบนก็จะมองเห็นภาพรวมว่าต้องดำเนินการอย่างไร นี่คือจิ๊กซอที่จะต้องนำมาต่อกัน และประเด็นคือแผนยุทธศาสตร์ในลักษณะนี้จะให้หน่วยงานใดนำไปปฏิบัติให้เกิดขึ้นและวิธีการคือจะทำอย่างไร คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.)จะต้องเข้ามามีบทบาทและเข้ามาติดตามแผนยุทธศาสตร์ที่จะเกิดขึ้น
“ส่วนสิ่งที่ถกเถียงว่านายกรัฐมนตรีควรเข้ามานั่งเป็นประธานหรือไม่นั้น ต้องเข้าใจว่าการปฏิบัติงานเป็นแบบรวมศูนย์อำนาจ และไม่มีใครสามารถสั่งข้ามกระทรวงได้นอกจากนายกรัฐมนตรี”
นายไพโรจน์ กล่าวด้วยว่า คงไม่สามารถออกแบบให้มีองค์กรที่เป็นอิสระได้ 100% โดยปราศจากบุคลากรจากราชการ เนื่องจากรัฐต้องสั่งงานผ่านหน่วยงานราชการ ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำคือการให้มีหลายหน่วยงานเข้ามาร่วมกันทำงานและบริหาร นี่คือการปฏิรูปกฎหมายฉบับนี้
ด้านรศ.ดร.บัญชา ขวัญยืน นักวิชาการแหล่งน้ำวิศวกรรมสถาน แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวถึงกฎหมายหมายทรัพยากรน้ำที่ผลักดันจะแนบเข้าไปสู่สภาปฏิรูป (สปช.) 2 ฉบับ ทั้งร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ ของกรมทรัพยากรน้ำและฉบับของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย(คปก.) อย่างไรก็ตามเมื่อเข้าสู่สปช.แล้วจะยึดฉบับของคปก.เป็นหลักและจะดำเนินการให้สนช.อีกครั้ง ทั้งนี้ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่า พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวจะมีการประกาศใช้ได้เมื่อไหร่ แต่อย่างไรก็ตามจะร่างให้เสร็จภายในเดือนเมษายนและจะรีบผลักดันกฎหมายฉบับนี้เข้าครม.อย่างเร็วที่สุด
ขณะที่ดร.สิตางคุ์ พิลัยหล้า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า สำหรับร่างแผนยุทธศาสตร์ฉบับที่ 3 ที่ครม.มีมติเห็นชอบเรียบร้อยแล้ว นักวิชาการและภาคประชาชนได้พยายามทวงติงและอยากขอให้ครม.ส่งร่างฉบับดังกล่าวมาให้สปช..เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขจนกว่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนและเป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายมากที่สุด แต่หากไม่ส่งคืนก็มีอีกวิธีหนึ่งคือการยกเลิกแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำฉบับคสช. 9 แสนล้าน เพราะแผนยุทธศาสตร์นั้นจะต้องเป็นแผนที่ประชาชนจับต้องได้และได้เข้ามามีส่วนร่วม ดังนั้นจึงควรจะกลับมาทบทวนและให้สปช.ได้วางกรอบในการบริหารไว้ก่อนที่จะมีการคลอดพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำออกมา
ภาพประกอบ:เว็บไซต์ไทยพับลิก้า