ภาคธุรกิจหวั่นราชการอืด ดื้อแพ่ง ไม่ปฏิบัติตามกม.อำนวยความสะดวกฯ
อย่าชะล่าใจมีกฎหมายอำนวยความสะดวกแล้ว การขออนุมัติ อนุญาต ทุกอย่างจะลื่นไหล ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ หวั่นซ้ำรอย พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ แนะสังคมผลักดันต่อให้อำนวนความสะดวกกลายเป็น 'วัฒนธรรม' ของหน่วยงานราชการ
วันที่ 26 กุมภาพันธ์ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) จัดเสวนาเรื่อง “พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกฯ จะป้องกันการคอร์รัปชั่น ได้อย่างไร” ณ โรงแรมเรเนซองส์ ราชประสงค์ กรุงเทพฯ
นายนครเขตต์ สุทธปรีดา รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมของหน่วยงานภาครัฐตามพ.ร.บ.นี้ ว่า ขณะนี้พบว่า มีหน่วยงานภาครัฐถึง 4 หมื่นกว่าแห่ง เกี่ยวข้องกับพ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกฯ และขณะนี้กำลังเร่งทำรายละเอียดคู่มือประชาชน รวมถึงวางยุทธศาสตร์ศูนย์บริการร่วมให้คุ้มค่าและไม่เป็นภาระต่องบประมาณ
ขณะที่ในต่างจังหวัด จะมีศูนย์บริการร่วมระดับจังหวัด หรือไม่ก็ศูนย์บริการร่วมระดับอำเภอ ซึ่งต้องดูว่าจะเป็นประโยชน์กับประชาชนหรือไม่ รวมถึงในอนาคตจะมีศูนย์รับคำขอ ขึ้นตรงกับสำนักนายกรัฐมนตรี เพราะมีบางบริการข้ามหน่วยงาน เช่น ใบอนุญาตประกอบการกิจการ(รง.4) เป็นต้น
ด้านนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึงพ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกฯ ถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญ เชื่อว่าจะช่วยลดปัญหาน้ำร้อนน้ำชาลงได้มาก ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการของรัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
“การอนุญาตเป็นเรื่องสำคัญ แต่น่าเสียดายกฎหมายฉบับนี้ ไม่รวมไปถึงด้านสิ่งแวดล้อม เรื่องร้องเรียนต่างๆ และกระบวนการยุติธรรม” เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าว และว่า ดังนั้น นอกเหนือจากการทำกฎหมายฉบับนี้แล้ว น่าจะขยายผลไปยังเรื่องอื่นๆ ด้วย
ว่าที่ร้อยเอกจิตร์ ศิรธรานนท์ กรรมการรองเลขาธิการ หอการค้าไทย กล่าวถึงสิ่งที่ภาคธุรกิจอยากเห็นการทำงานของหน่วยงานราชการ เปลี่ยนจากควบคุมกำกับ (Regulator) มาร่วมทำงาน ผลักดันร่วมกับภาคเอกชน ปัจจุบันที่คิดว่า ภาคเอกชนจะได้รับความสะดวกมากขึ้น เราพบว่า กลับมีการไปออกกฎหมายมาเป็นภาระ ยกตัวอย่าง การแก้ไขพ.ร.บ.ศุลากร ฉบับที่ 21 เพื่อแก้ไขการตรวจ จับกุม การขนสินค้าข้ามแดน รวมถึงพ.ร.บ.ค้ำประกัน ออกกฎหมายมาธุรกิจเอสเอ็มอีสะดุด เดินหน้าต่อไปไม่ได้ กฎหมายที่ดูเหมือนดี แต่ทำให้เอสเอ็มอีกู้เงินไม่ได้ยากลำบากขึ้น
กรรมการรองเลขาธิการ หอการค้าไทย กล่าวถึงประเทศที่เจริญแล้ว บัตรประชาชนใบเดียวสามารถขออนุญาตได้หมด แต่ของประเทศไทยกลับขอเอกสารหลายชนิด ซึ่งเป็นต้นตอของการทุจริตคอร์รัปชั่น พร้อมกับยกตัวอย่างการทำธุรกิจค้าปลีก Convenience Store ต้องขอใบอนุญาตถึง 36 ใบ แบ่งเป็น ใบอนุญาตตลอดชีพ 15 ใบ ขอทุกปี 13 ใบ ขอล่วงหน้าก่อนใช้ 2 ใบ (กรณีมีโปรโมชั่น การใช้เครื่องขยายเสียงโฆษณา) ฯลฯ อีกทั้ง บางธุรกิจต้องตั้งเจ้าหน้าที่ขึ้นมา 1 คนเพื่อคอยดูใบอนุญาตขาดหรือไม่
“เรากำลังก้าวสู่ยุคดิจิตอลอีโคโนมี ค้าขายทางอินเตอร์เน็ตในอนาคตการขอใบอนุญาตจะมีหรือไม่ก็ไม่รู้ ดังนั้นการอำนวยความสะดวกจำเป็นต้องมาก่อน” ว่าที่ร้อยเอกจิตร์ กล่าว พร้อมเสนอการขอใบอนุญาตใดๆ ที่ไม่เกี่ยวกับความมั่นคง ไม่กระทบประโยชน์ของผู้บริโภค เลิกได้หรือไม่ ซึ่งโลกเปลี่ยนไปแล้วหากการทำธุรกิจยังเป็นแบบเก่า ขนาดขอใบอนุญาตยังล่าช้า ไม่ออก ภาคธุรกิจก็จะตามคู่แข่งไม่ทัน
นายนิกร สุศิริวัฒนนนท์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงพ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกฯ เป็นงานหนักเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ฉะนั้นมองว่า ไม่ใช่เรื่องง่าย ทำอย่างไรหากหน่วยงานอืด ดื้อ และไม่ให้ความร่วมมือ ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกฯ
สุดท้าย รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เสียดายที่พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกฯ ประเทศไทยเพิ่งผลักดันออกมาบังคับใช้ โดยรวมแล้วกฎหมายนี้มีข้อดี ออกมาตรงใจกลางหลายๆ เรื่อง รวมถึงมีการเขียนขั้นตอนการทำงานให้เสร็จสรรพ โดยไม่ต้องตีความ
“แต่อย่าคิดว่า มีกฎหมายนี้แล้วสบายใจ ภาคประชาชนต้องผลักดันเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องจนสิ่งเหล่านี้กลายเป็นวัฒนธรรมของหน่วยงานราชการ” รศ.ดร.นวลน้อย กล่าว และเปรียบเทียบไปถึงพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ สมัยก่อน ดีใจกันมากว่าประเทศไทยจะโปร่งใสทั้งประเทศ แต่สุดท้ายเมื่อนำไปปฏิบัติยังคล้ายเดิม บวกกับแรงกดดันของสาธารณชนไม่ต่อเนื่อง ทำให้ประสิทธิผลพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ น้อยมาก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
วิษณุตีปี๊บ แจงขรก. กฎหมายการอนุญาตฯ ปรามไม่อำนวยความสะดวกอีก เจอโทษ
วิษณุ ชี้กม.อำนวยความสะดวกฯ สร้างมาตรฐานใหม่ราชการ 'เร็วขึ้น ถูกขึ้น ง่ายขึ้น'