ประธานโรงเรียนเล็กเสนอ “กองทุนแป๊ะเจี๊ยะ” ช่วยเด็กยากจน
แนะโรงเรียนดัง อย่าปิดกั้นโอกาสเด็กเก่งแต่จน หนุนนโยบายชุมชนประเมินวิทยฐานะครูเชื่อมโยงบ้าน-โรงเรียน เสนอหลักสูตรอาชีพต้องสอดคล้องกับชุมชน แก้ปัญหาเด็กเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ
จากกรณีที่ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวถึงกรณีที่มีแนวคิดจะให้ผู้ปกครองที่มีฐานะทางการเงินดีสามารถจ่ายเงิน เพื่อให้บุตรหลานมีโอกาสเข้าโรงเรียนดังได้ และเงินดังกล่าวยังสามารถนำมาพัฒนาการเรียนการสอนได้ ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชนสำนักข่าวอิศรา ลงพื้นที่สำรวจโรงเรียนขนาดเล็กในแถบจังหวัดภาคเหนือกับสภาการศึกษาทางเลือก จึงได้พูดคุยกับประธานชมรมเครือข่ายโรงเรียนขนาดเล็ก เกี่ยวกับกรณีดังกล่าว ตลอดจนนโยบายอื่นๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อโรงเรียนขนาดเล็ก
อาจารย์สมบูรณ์ รินเท้า ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านนาซาว อ.เมือง จ.น่าน และประธานชมรมเครือข่ายโรงเรียนขนาดเล็ก กล่าวว่า สำหรับนโยบายเปิดช่องทางให้ผู้ปกครองจ่ายแป๊ะเจี๊ยะนั้น คนที่มีโอกาสจ่ายได้ ก็ถือว่าเป็นสิทธิพิเศษ ซึ่งเป็นการดีที่จะได้นำเงินส่วนหนึ่งมาเป็นทุนช่วยเหลือเด็กที่ยากจน
"แต่ต้องทำเป็นลักษณะกองทุน เพื่อกระจายความช่วยเหลือไปยังโรงเรียนอื่นๆ โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กและเด็กที่มีฐานะยากจน"
อาจารย์สมบูรณ์ กล่าวต่อไปว่า โรงเรียนที่มีชื่อเสียงควรให้โอกาสเด็กที่เรียนเก่งอยู่แล้วได้ศึกษาต่อในโรงเรียนโดยไม่ต้องจ่ายแป๊ะเจี๊ยะด้วย หรืออาจให้ทุนเรียนฟรี เพราะโรงเรียนดังหมายถึง โรงเรียนที่มีชื่อเสียง มีประสิทธิภาพในการจัดการเรียนการสอน มีเด็กเรียนเก่ง แต่ถ้าโรงเรียนคาดหวังรับเงินแป๊ะเจี๊ยะมากเกินไปโดยไม่คำนึงถึงคุณภาพทางการศึกษาเลย โรงเรียนนั้นก็จะหมดชื่อเสียงไปในที่สุด
ส่วนการลอยตัวค่าเทอม ส่วนตัวไม่เห็นด้วย เพราะจะทำให้กีดกันเด็กที่มีฐานะยากจนไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษามากยิ่งขึ้น แต่อาจจะส่งผลดีต่อโรงเรียนขนาดเล็ก เพราะคนที่ไม่มีเงินจ่ายค่าเทอมอาจจะย้ายลูกหลานกลับมาอยู่ในชุมชนในที่สุด
นอกจากนี้ ประธานชมรมโรงเรียนขนาดเล็ก ยังเห็นด้วยเกี่ยวกับนโยบาย ศธ. เรื่องการนำทักษะอาชีพมาบรรจุในหลักสูตรการศึกษาว่าเด็กที่มีฐานะยากจน จะได้มีทางเลือกในการประกอบอาชีพมากขึ้น หากไม่ได้เรียนต่อในระดับอุดมศึกษา ก็จะสามารถนำความรู้ต่างๆ มาประกอบอาชีพอื่นๆ ได้ แต่ต้องมีวิชาการในสัดส่วนที่เหมาะสม
"การศึกษาที่ผ่านมา ทำให้เด็กรู้เฉพาะในตำรา แม้จะเรียนจบสูงแต่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ เรียกว่า เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ แม้แต่เด็กที่จบปริญญาตรีแล้วก็ตาม"
ประธานชมรมโรงเรียนขนาดเล็กนำเสนอว่า อาชีพที่ควรนำมาบรรจุในหลักสูตรควรสอดคล้องกับวิถีของชุมชน และนำไปประกอบอาชีพได้จริง ซึ่งหากนำมาสอดแทรกไว้ตั้งแต่ระดับชั้นประถมได้ ก็จะดียิ่งขึ้น โดยเป็นอาชีพที่ทำได้ง่ายไม่ซับซ้อน เช่น การเลี้ยงไก่ ไข่ เลี้ยงปลา ส่วนเด็กในเมืองก็อาจเรื่อง การแปรรูปผลิตภัณฑ์ หรือการทำขนม เพื่อส่งขายให้กับสหกรณ์โรงเรียน ฝึกทักษะการประกอบอาชีพอีกทางหนึ่ง
ทั้งนี้ อาจารย์สมบูรณ์ฝากทิ้งท้ายว่า ตัวแปรที่สำคัญที่จะทำให้การศึกษาขับเคลื่อนไปได้ คือ การมีส่วนร่วมของชุมชน เพราะคนในชุมชน มีภูมิปัญญา มีทักษะในวิชาชีพ ต่างๆ สามารถถ่ายทอดให้กับบุตรหลานของตนด้วย เช่น การถนอมอาหาร การทำหน่อไม้ดอง ทำน้ำปู หรือ การทำปลาร้าในภาคอีสาน นอกจากนี้ยังมีศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่ควรถ่ายทอดสืบต่อด้วย ซึ่งโรงเรียนขนาดเล็กไม่มีครูสอนศิลปะเหล่านี้
ที่สำคัญ การประเมินวิทยฐานะครู โดยให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมเป็นสิ่งที่ควรสนับสนุนให้เกิดขึ้น เพราะที่ผ่านมาเป็นการประเมินจากส่วนกลาง ที่ไม่รู้รายละเอียดการทำงานในพื้นที่ และประเมินจากรายงานที่เขียนไว้เท่านั้น ซึ่งมีการว่าจ้างการทำรายงานอีกด้วย ทำให้ผลการประเมินไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง แต่หากเปลี่ยนให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการประเมินจะทำให้เกิดการมีส่วนร่วม ทำให้โรงเรียนกับชุมชนมีความเชื่อมโยงกัน ลดความขัดแย้งในด้านต่างๆ ทั้งนี้ควรประเมินร่วมกับผลงานทางวิชาการในสัดส่วนที่เหมาะสม