'น้ำ' เป็นทรัพยากรทุกคน 'ไพโรจน์' แนะล้างสมองเลิกคิดเป็นของรัฐ
สปช.เปิดเวทีถกยุทธศาสตร์น้ำ ‘ปราโมทย์ ไม้กลัด’ เผยไทยไร้แผนสอดคล้องความต้องการ ปชช. แนะต้องสร้างการมีส่วนร่วม คลอดกฎหมายแม่บทรองรับ กรรมการ คปก. ติงที่ผ่านมาต่างคนต่างทำ มี ‘กรม’ เป็นเจ้าพ่อ จี้ล้างสมองใหม่ ‘น้ำ’ คือ ทรัพยากรของทุกคน ผนึกกำลัง 4 ฝ่าย ขับเคลื่อนจากล่างขึ้นบน
วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2558 คณะกรรมาธิการวิสามัญการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จัดโครงการเวทีรับฟังความคิดเห็น เรื่อง ‘การจัดทำยุทธศาสตร์และกฎหมายการบริหารจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วม’ ณ โรงแรม มิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ
นายปราโมทย์ ไม้กลัด อนุกรรมาธิการปฏิรูปการจัดการทรัพยากรน้ำ ในคณะกรรมาธิการปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สปช. กล่าวถึงแผนยุทธศาสตร์จัดการน้ำของภาครัฐว่า เวลานี้คิดจากระบบราชการฝ่ายเดียว ซึ่งส่วนใหญ่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน ทั้งที่ความจริงแผนยุทธศาสตร์ต้องให้ผู้เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในกระบวนการคิดตั้งแต่เริ่มต้น จนกระทั่งถึงขั้นตอนการวางแผน ให้คนในชุมชนร่วมกันคิด ก่อนสะเด็ดน้ำออกมาเป็นแผนโครงการ ซึ่งการดำเนินงานรูปแบบนี้มีมานานแล้ว แต่ไม่ค่อยเป็นรูปธรรม เพราะขาดกฎหมายแม่บทในการบังคับ
ด้าน รศ.ดร.บัญชา ขวัญยืน ผู้แทนวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า ไทยขาดยุทธศาสตร์จัดการน้ำชาติที่สะท้อนครอบคลุมทุกมิติ แต่ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมาจากแต่ละหน่วยงาน ซึ่งส่วนใหญ่ฝ่ายปฏิบัติเป็นคนทำขึ้น ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ต้องมุ่งเน้นเกี่ยวกับรายละเอียดของน้ำทั้งหมด รวบรวมประเด็นให้ได้ว่า แต่ละพื้นที่ประสบปัญหาอะไร มีความรุนแรงขนาดไหน และไม่เห็นด้วยกับการนำความต้องการน้ำของคนทั้งประเทศมารวมกันย่อมเป็นไปไม่ได้
“การจัดทำยุทธศาสตร์ต้องเน้นมาตรการจัดการเป็นหลัก ไม่ใช่เน้นการก่อสร้างเป็นหลัก เพราะใช้งบประมาณน้อย และทำได้ทันที” ผู้แทน วสท. กล่าว และว่า ส่วนใหญมักพบใช้มาตรการก่อสร้างเป็นหลัก เพื่อหวังงบประมาณ อย่างไรก็ตาม ยุทธศาสตร์จะต้องมีข้อมูลครบทุกด้าน
ขณะที่นายไพโรจน์ พลเพชร กรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) กล่าวว่า ที่ผ่านมายุทธศาสตร์จัดการน้ำต่างคนต่างทำ รวมอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง มีหน่วยงานระดับกรมเป็น ‘เจ้าพ่อ’ ตัวจริง มีหน้าที่บริหารจัดการแผนและงบประมาณ และกฎหมายทุกฉบับในยุคที่รัฐเป็นใหญ่ต่างเชื่อว่า ทรัพยากรน้ำเป็นของรัฐ ดังนั้น เราต้องเปลี่ยนให้ ‘น้ำ’ เป็นทรัพยากรส่วนรวมของทุกคน
สำหรับกรอบคิดที่สำคัญในการผลักดันร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ... ฉบับ คปก. ได้มุ่งเน้นให้น้ำเป็นของทุกคน มีการกระจายอำนาจทุกกลุ่ม ไม่เฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เท่านั้น รวมถึงต้องมีสิทธิขั้นพื้นฐานในการอุปโภคบริโภคน้ำ ส่วนใครใช้น้ำมากต้องเป็นผู้จ่าย และต้องมีธรรมาภิบาล ทั้งนี้ ต้องมีองค์กรระดับชาติ ระดับลุ่มน้ำ ระดับลุ่มน้ำสาขา และระดับองค์กรย่อยในพื้นที่ ผนึกกำลังกัน ซึ่งเชื่อว่าจะขับเคลื่อนกระบวนการจัดการร่วมได้ จากข้างล่างขึ้นบน
ฝ่ายนายบุญจง จรัสดำรงนิตย์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า น้ำเป็นสิ่งสำคัญของการใช้ในการดำรงชีวิตของทุกคน ฉะนั้นทุกหน่วยงานจึงเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องน้ำ โดยการบริหารจัดการน้ำได้รับการพัฒนาตั้งแต่อดีต จากเดิมนโยบายของรัฐเน้นเฉพาะแก้ปัญหาขาดแคลน จนกระทั่งปัจจุบันมีภาพลักษณ์ดีขึ้น
ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ ฉบับกรมทรัพยากรน้ำ ผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2558 และเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ก่อนกลับมาสู่ ครม.อีกครั้ง จึงจะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป .
ภาพประกอบ:ไพโรจน์ พลเพชร-เว็บไซต์ยูทูป