ปลัดคลังเผยอัตราภาษีที่ดินยังไม่นิ่ง รอถกผู้เกี่ยวข้องพิจารณาหลักเกณฑ์ใหม่
ปลัดกระทรวงการคลังเผยยังไม่ตกผลึกอัตราภาษีที่ดิน รอถกผู้มีส่วนได้เสีย ย้ำความคืบหน้ารอพิจารณาหลักเกณฑ์ใหม่ ด้านคณบดีเศรษฐศาสตร์ มธ. เผยไม่อยากให้มองการเก็บภาษีที่ดินเป็นเพียงการหารายได้ของรัฐ ยันนี่คือจุดเริ่มต้นของการสร้างความเข้มแข็งให้ท้องถิ่น
25 กุมภาพันธ์ 2558 โครงการนิติศาสตร์การค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดงานเสวนาวิชาการเรื่อง”ร่างกฎหมายภาษีทรัพย์สิน:การเปลี่ยนแปลงและผลกระทบ” ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 5 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ร่างภาษีทรัพย์สินทำขึ้นเพื่อที่จะแก้ปัญหาภาษีโรงเรือนและที่ดิน ที่ในอดีตอาศัยการประเมินของเจ้าหน้าที่โดยการเก็บภาษีอยู่ในรูปแบบของคนตัดสินใจทำให้เกิดการเรียกร้องประโยชน์ส่วนตัว ดังนั้นทางกระทรวงการคลังจึงคิดว่าควรจะมีการเปลี่ยนแปลงการเก็บภาษี สำหรับเรื่องอัตราภาษีที่ควรจะเก็บจะอยู่ที่ประมาณเท่าไหร่นั้นตอนนี้ยังไม่ตกผลึก ยังไม่นิ่งเนื่องจากจะต้องรับฟังจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องและมีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งภาษีที่ดินขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาหลักเกณฑ์การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่จากเดิมที่ก่อนหน้านี้จะจัดเก็บใน 3 อัตรา เพื่อให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรมมากขึ้น
"เบื้องต้นจะแบ่งใหม่เป็น 4 อัตรา คือที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะจัดเก็บในอัตราร้อยละ 0.25 ที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัยจัดเก็บร้อยละ 0.5 ที่ดินเพื่อการพาณิชย์จัดเก็บร้อยละ 2 และที่ดินรกร้างว่างเปล่าจัดเก็บร้อยละ 0.5 และจะเพิ่มขึ้น 1 เท่าในทุก 3 ปี แต่ไม่เกินร้อยละ 2 ตามเพดานที่กำหนดไว้ โดยการจัดเก็บในช่วงแรกจะออกกฎหมายลูกประกาศอัตราการจัดเก็บทุกประเภทใหม่เพื่อไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน"
ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ในกฎหมายยังกำหนดการลดหย่อนสำหรับบ้านที่อยู่อาศัยมูลค่าสุทธิไม่เกิน 1 ล้านบาทไม่ต้องเสียภาษี ส่วนบ้านราคา 1-3 ล้านบาท เสียภาษีในอัตรา 50% หากเป็นบ้านที่มีราคาเกินกว่า 3 ล้านบาทเสียในอัตราเต็ม ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวเป็นแค่แนวนโยบายที่ข้าราชการในกระทรวงจัดทำขึ้น ซึ่งอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงก่อนที่กระทรวงการคลังจะเสนอกฎหมายไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเสนอไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติก็ได้
ด้านศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า ความสำคัญของการคลังสำคัญที่โครงสร้าง หากโครงสร้างไม่ดีก็จะมองไม่เห็นอนาคตของการพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งการเก็บภาษีที่ดินจะเป็นตัวช่วยทำให้ท้องถิ่นมีความเข้มแข็งทางการเมืองและการบริหาร ยิ่งไปกว่านั้นไม่อยากให้มองการเก็บภาษีที่ดินเป็นเรื่องของการหารายได้เท่านั้น ภาษีทรัพย์สินหากมองเบื้องหลังของการจัดทำการเก็บข้อมูลพบว่า มูลค่าทรัพย์สินจะสูงหรือต่ำนั้นขึ้นอยู่กับบริการสาธารณะที่ใส่เข้าไปในพื้นที่ หากมีบริการสาธารณะมากมูลค่าทรัพย์สินบริเวณนั้นก็จะเพิ่มขึ้นท้องถิ่นมีการพัฒนาที่ดีขึ้น