"สุรชาติ"ชู3ปัจจัยแก้ก่อการร้าย เตือนภัย "หงส์ดำ" ปฏิบัติการพื้นที่สงบ
"สามปัจจัยที่มีความเชื่อมโยงกับการแก้ปัญหาก่อการร้าย คือ รัฐบาลต้องมีเสถียรภาพ รัฐบาลต้องมีความชอบธรรม และต้องจัดความสัมพันธ์ของคนในสังคมกันใหม่ ส่วนการพัฒนาเศรษฐกิจหรือปัญหาความยากจน แทบไม่มีส่วนเชื่อมโยงกับการก่อการร้ายสมัยใหม่เลย"
เป็นคำกล่าวตอนหนึ่งระหว่างการบรรยายพิเศษเรื่อง "ทิศทางปัญหาความมั่นคงโลกและเอเชียในกระแส ISIS : ความท้าทายและผลกระทบ" ของ ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงทางทหารอันดับหนึ่งของเมืองไทย บนเวทีเสวนาทางวิชาการในโอกาสครบรอบ 30 ปี สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ
แม้ อาจารย์สุรชาติ ไม่ได้สรุปชัดเจนตลอดการบรรยายว่า ประเทศไทยพร้อมรับมือกับภัยคุกคามด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่ในรูปของการก่อการร้ายหรือไม่ โดยบอกว่าต้องไปถามที่ทำเนียบรัฐบาลก็ตาม แต่สามปัจจัยที่อาจารย์ยกมาก็พอจะตอบได้ว่าประเทศไทยดูจะไม่มีทางหนีพ้นวังวนของการก่อการร้าย ซึ่งเป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคงที่น่าวิตกที่สุด
สันติภาพแฝงความรุนแรง
อาจารย์สุรชาติ อธิบายถึงสถานการณ์ด้านความมั่นคงในยุคปัจจุบันว่า เหตุการณ์ 911 หรือเหตุการณ์โจมตีตึกแฝดเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ที่มหานครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 11 ก.ย.2544 เป็นการปรากฏตัวของสงครามก่อการร้าย และเป็นต้นแบบของสงครามชุดใหม่ จนเกิดคำถามว่าสันติภาพที่มีอยู่หลังสิ้นสุดยุคสงครามเย็นซึ่งไม่เคยมีสงครามขนาดใหญ่เกิดขึ้นเลย ยังเป็นสันติภาพอยู่หรือไม่
ทั้งนี้ ในยุคสงครามเย็น มีคำกล่าวในหมู่คนทำงานด้านความมั่นคงว่า cold war, hot peace คือ สงครามเย็น แต่สันติภาพร้อน ส่วนสงครามยุคใหม่ในปัจจุบัน แม้จะดูเหมือนมีสันติภาพ แต่เป็น violent peace คือสันติภาพที่แฝงไว้ด้วยความรุนแรง
"ปฏิบัติการ 911 คือรูปแบบใหม่ของการก่อการร้ายที่ใช้อากาศยานพุ่งชนตึก จากเดิมที่จะใช้วิธียึดเครื่องบิน จี้ตัวประกัน แล้วต่อรอง จุดนี้ถือว่าการก่อการร้ายในยุคสงครามเย็นแตกต่างกับการก่อการร้ายยุคใหม่ เพราะผู้ก่อการร้ายในยุคสงครามเย็นนั้น ใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือเพื่อโฆษณาให้คนสนใจข้อเรียกร้องทางการเมืองของพวกตน แต่ก็เดินไปไม่สุด เพราะไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ ต้องได้รับการสนับสนุนทั้งทุนและยุทโธปกรณ์จากรัฐ"
"ผิดกับกลุ่มก่อการร้ายยุคใหม่ เช่น อัลกออิดะห์ ได้เปลี่ยนโฉมหน้าการก่อการร้าย เพราะสามารถพึ่งตัวเองได้ ไม่ต้องการความช่วยเหลือจากรัฐ และยังจัดโครงสร้างเหมือนบริษัทเอกชนที่ประกอบธุรกิจ คือ มีฝ่ายบุคคล ฝ่ายฝึกอบรม ฝ่ายข่าวกรอง ฝ่ายวางแผน ฝ่ายส่งกำลังบำรุง ฝ่ายการเงิน ฝ่ายประชาสัมพันธ์ และฝ่ายบริการ ที่เรียกว่าบริการหลังปฏิบัติการ ส่วนผู้ที่อยู่ระดับบนเทียบเท่ากับซีอีโอ"
โจทย์ความมั่นคงเปลี่ยน
อาจารย์สุรชาติ สรุปในเบื้องต้นว่า สงครามนี้เปลี่ยนโจทย์ความมั่นคง และโจทย์นี้ท้าทายโลก โดยเมื่อวันที่ 11 ก.ย.2544 (เหตุการณ์ 911) โลกได้เห็นที่นิวยอร์ค ต่อมา ต.ค.2545 เกิดกรณีระเบิดที่ส่าหรีคลับ บนเกาะบาหลี ตามด้วยโรงแรมเจดับบลิว แมริออต ที่จาการ์ต้า อินโดนีเซีย เมื่อ ก.ค.2552 คำถามคือรัฐและสังคมจะรับมืออย่างไร
"จากบาหลี ถึงจาการ์ตา ห้วงเวลาและพื้นที่ต้องบอกว่าใกล้กับประเทศไทยมาก ผมเคยพูดกับคนที่ทำงานด้านความมั่นคงว่า ไม่ว่าช้าหรือเร็วต้องมาไทยแน่ และ 4 ม.ค.2547 ก็เกิดเหตุการณ์ปล้นปืนที่ จ.นราธิวาส ซึ่งถือว่าไทยยังโชคดีที่ไม่เจอเหตุการณ์ใหญ่แบบที่บาหลีหรือจาการ์ตา แต่สำหรับประเทศไทย โจทย์ความมั่นคงยุคหลังสงครามเย็นที่เชื่อว่าเป็นห้วงเวลาแห่งสันติภาพนั้น จบลงที่ค่ำคืนของวันที่ 4 ม.ค.2547"
สงครามเปลี่ยนรูป
นักวิชาการด้านความมั่นคงชื่อดัง อธิบายต่อว่า ในระยะหลังอัลกออิดะห์ลดบทบาทลงไป ซึ่งมีมูลเหตุจากหลายปัจจัย ทั้งการเสียชีวิตของ โอซามา บิน ลาเดน การสูญเสียฐานที่มั่นใหญ่ในอัฟกานิสถาน และความพ่ายแพ้ของตาลีบัน จากสถานการณ์ดังกล่าวในมิติด้านการทหาร ต้องบอกว่าสหรัฐได้รับชัยชนะ แต่ถามว่าสงครามจบหรือยัง คำตอบคือยังไม่จบ หนำซ้ำสงครามยัง "เปลี่ยนรูป" ไปอีกด้วย
"เมื่อ บิน ลาเดน เสียชีวิต ก็เกิดคำถามว่าใครจะมาขับเคลื่อนขบวนการนี้ต่อ กระทั่งปี 2557 ก็เกิดขบวนการใหม่ คือ ไอเอส (หรือไอซิส : ISIS) และผู้นำคนใหม่ คือ อัล บัคดาดี เป้าหมายของไอเอสคือตั้งรัฐอิสลาม และยกเลิกเส้นเขตแดนในตะวันออกกลาง"
ทั้งนี้ ปฏิบัติการของไอเอสเปลี่ยนโฉมของการก่อการร้ายไปเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง กล่าวคือ
1.โดยปกติแล้วกลุ่มก่อการร้ายจะไม่มีพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ของตัวเอง แต่ไอเอสมี และกว้างใหญ่ด้วย
2.ปกติแล้วผู้ก่อการร้ายจะเน้นปฏิบัติการลอบวางระเบิด หรือก่อวินาศกรรม แต่ไอเอสขับรถถัง ที่ยังไม่มีคือการรบทางอากาศเท่านั้น
สิ่งที่ต้องจับตาของไอเอส คือ ทุกเดือนจะมีพี่น้องมุสลิมอาสาไปร่วมรบพันกว่าคน และมีนักรบต่างชาติจำนวนกว่า 1 หมื่นคนจาก 80 ประเทศ เป็นความคล้ายคลึงกับสงครามในอัฟกานิสถานช่วงปลายยุคสงครามเย็นที่มีมุสลิมในนาม "มูจาฮีดีน" (นักรบของพระเจ้า) อาสาไปร่วมรบจำนวนมาก
ขณะที่ปรากฏการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย, ฝรั่งเศส กรณีชาร์ลี เอบโด, เบลเยียม และเดนมาร์ค ปรากฏว่ามุสลิมในประเทศเหล่านี้อาสาไปร่วมรบกับไอเอสมากพอสมควร โดยเฉพาะฝรั่งเศสกับเบลเยียม
ไทยติดกลุ่มเสี่ยงก่อการร้าย
เมื่อถามถึงประเทศไทยว่ามีคนไทยไปร่วมปฏิบัติการกับไอเอสหรือไม่ อาจารย์สุรชาติ ไม่ได้ตอบตรงๆ แต่อ้างข้อมูลเปิดจากต่างประเทศที่รายงานว่า กองกำลังต่างชาติจากประเทศแถบเอเซียที่ไปร่วมกับไอเอส ประกอบด้วย จีน อินโดนีเซีย ปากีสถาน ออสเตรเลีย มาเลเซีย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ไม่มีประเทศไทย
อย่างไรก็ดี จากข้อมูลที่รวบรวมโดยต่างประเทศเช่นกัน กลับพบประเด็นที่น่าตกใจ กล่าวคือ ไทยติดอันดับเสี่ยงในบริบทการก่อการร้ายเป็นอันดับที่ 10 ของโลก และมีอัตราการเสียชีวิตจากการก่อการร้ายสูงเป็นอันดับ 10 ของโลก
ทั้งนี้ในภาพรวมของโลก ปี 2556 เหมือนเป็นปีที่เริ่มต้นความรุนแรงรอบใหม่ เพราะมีผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายมากถึง 1.79 หมื่นคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 61 จากปี 2555 และเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่าจากเมื่อหลายปีก่อนหน้าโดยการเสียชีวิตจากการก่อการร้ายร้อยละ 80 มาจาก 5 ประเทศ คือ อิรัก อัฟกานิสถาน ปากีสถาน ไนจีเรีย และซีเรีย
ร้อยละ 66 ของการก่อการร้ายเกิดจากกลุ่มไอเอส, โบโก ฮาราม, ตาลีบัน และอัลกออิดะห์ อย่างไรก็ดี อัตราการตายจากการก่อการร้ายของประเทศพัฒนาแล้ว น้อยกว่าประเทศกำลังพัฒนาอย่างมาก และการเสียชีวิตจากอาชญากรรมมากเป็น 40 เท่าของการก่อการร้าย
ที่น่าตกใจ คือ เป้าหมายของการก่อการร้ายในปัจจุบันเป็นประชาชน อีกทั้งร้อยละ 60 ของการก่อการร้ายสมัยใหม่ใช้ระเบิดแสวงเครื่อง ร้อยละ 30 ใช้ปืน และร้อยละ 10 เป็นการก่อรุนแรงแบบอื่น ขณะที่ระเบิดพลีชีพมีน้อยกว่าร้อยละ 5 ของการใช้ระเบิดทั้งหมดในการก่อการร้าย
3 ปัจจัยแก้ก่อการร้าย
อาจารย์สุรชาติ แจกแจงข้อมูลอีกว่า การก่อการร้ายเกือบทั้งหมดถูกขับเคลื่อนด้วย 2 ปัจจัย คือ 1.ปัจจัยทางการการเมือง ลัทธิชาตินิยม และการแบ่งแยกดินแดน กับ 2.ปัจจัยทางศาสนา ขณะที่ต้นตอการก่อการร้ายมักเกิดจาก 3 ปัจจัยในสังคม คือ 1.ความขัดแย้งรุนแรงในสังคมของตนเอง 2.การใช้ความรุนแรงของรัฐ และ 3.ความรุนแรงที่ทับซ้อนดำรงอยู่หลายมิติในสังคมนั้นๆ
ประเด็นที่ค้นพบก็คือ ความยากจนไม่ใช่ปัจจัยที่การนำไปสู่การก่อการร้าย หรืออาจกล่าวได้ว่าผู้ก่อการร้ายสมัยใหม่ไม่ใช่คนจน และพื้นที่ยากจนไม่ใช่จุดกำเนิดของการก่อการร้าย ฉะนั้นการพัฒนาเศรษฐกิจจึงไม่เชื่อมโยงกับการลดปัญหาการก่อการร้าย แต่ความเชื่อมโยงคือ รัฐบาลต้องมีเสถียรภาพ, รัฐบาลต้องมีความชอบธรรม และต้องจัดความสัมพันธ์ของผู้คนในสังคมกันใหม่
"ร้อยละ 80 ของการก่อการร้ายยุติได้ด้วยมาตรการทางการเมืองและปฏิบัติการของตำรวจ ร้อยละ 10 ผู้ก่อการร้ายเป็นฝ่ายชนะ และร้อยละ 10 ฝ่ายรัฐชนะ"
ระวังปฏิบัติการ"หงส์ดำ"
อาจารย์สุรชาติ กล่าวอีกด้วยว่า ความน่ากลัวของการก่อการร้ายในยุคปัจจุบันอาจไม่ใช่ไอเอส แต่เป็นเหตุการณ์เหมือนที่เกิดในฝรั่งเศส เบลเยี่ยม และเดนมาร์ค ที่เราเรียกว่า "Black swan" หรือ "หงส์ดำ" เป็นการก่อเหตุในประเทศที่ไม่มีสัญญาณความขัดแย้งที่ชัดเจน จึงยากแก่การเฝ้าตรวจและระวังป้องกัน คำถามของวันนี้คือ "หงส์ดำจะก่อเหตุที่ไหนอีก?"
สำหรับในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น อาเจะห์ (ในอินโดนีเซีย) เรียกได้ว่าจบแล้ว มินดาเนา (ฟิลิปปินส์) ก็บรรเทาลงหลังจากรบกันมานานและเจรจากันอย่างยาวนาน เหลืออีก 3 พื้นที่ คือ ภาคใต้ของไทย ยะไข่ของเมียนมาร์ และซินเจียงของจีน
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข
ขอบคุณ : ภาพจากงานสัมมนา โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย