“ดิเรก”โต้ทุกปมแก้รธน.ยันทำตามกม.-ถามกลับผลปย.ทับซ้อนตรงไหน!
“ดิเรก” โต้ทุกประเด็นปมแก้ รธน.ที่มา ส.ว. ยันทำตามหน้าที่ในการแก้กฎหมาย ยกคำแนะนำศาล รธน.สู้ ถามกลับผลประโยชน์ทับซ้อนตรงไหน แก้เสร็จยังไม่มีใครบอกจะลงเลือกตั้งต่อ ชี้ รธน.50 สิ้นสุดแล้ว-ศาล รธน.เคยวินิจฉัยแล้ว เอาผิดไม่ได้
นายดิเรก ถึงฝั่ง อดีต ส.ว.นนทบุรี สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวสรุปประเด็นคัดค้านโต้แย้งสำนวนรายงานและความเห็นของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีแถลงเปิดคดีต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในการถอดถอนอดีต ส.ว. 38 ราย กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาของ ส.ว. โดยมิชอบว่า อดีต ส.ว. หลายท่านพูดไปชัดเจนแล้วว่า พวกเรานั้นมิได้มีเจตนาในการที่จะทำให้เกิดปัญหา และแก้รัฐธรรมนูญเพื่อการล้มล้างดังกล่าว
นายดิเรก กล่าวว่า ประการแรก สมาชิกวุฒิสภาทุกคนได้ยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นไปตามมาตรา 291 ของรัฐธรรมนูญทุกประการ โดยมาตรา 291 นั้น ระบุไว้ชัดเจนว่า ผู้ที่มีอำนาจหน้าที่แก้ไขรัฐธรรมนูญแบ่งเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มแรก ครม. กลุ่มสอง ส.ส. 1 ใน 5 ของจำนวนทั้งหมด กลุ่มสาม ส.ส. กับ ส.ว. ร่วมกัน 1 ใน 5 ของทั้งหมด และสุดท้ายคือประชาชน 50,000 คน มีสิทธิ์ยื่นของแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ดังนั้น การกระทำของพวกเราทั้งหมด ทำตามมาตรา 291 ของรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ทุกประการ
“นอกจากนั้นศาลรัฐธรรมนูญให้คำแนะนำเอาไว้ว่า ให้รัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรานั้น ก็สามารถทำได้ชัดเจน ทีละขั้นตอน นี่คือคำแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญ พวกเราก็ได้ทำตามคำแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญประกอบมาตรา 291 ทุกประการ” นายดิเรก กล่าว
นายดิเรก กล่าวอีกว่า ประการที่สอง พูดกันมากเรื่องทับซ้อน ขัดกันแห่งผลประโยชน์ กราบเรียนว่าต้องแยกตรงนี้ออกจากกัน ฝ่ายนิติบัญญัติของเรา ถูกกำหนดในรัฐธรรมนูญว่ามีหน้าที่แก้กฎหมาย เสนอกฎหมาย เพราะฉะนั้นเราต้องแยกหน้าที่กับการทับซ้อนของผลประโยชน์ออกจากกัน เรากระทำตามหน้าที่เรา ตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ถูกต้อง ไม่ได้หมายความว่า เมื่อเราแก้แล้วจะได้เป็น ส.ว. อีก มิได้ เราแก้รัฐธรรมนูญเสร็จ เราจะลงสมัครเป็น ส.ว. อีกครั้งหรือไม่ ยังไม่ทราบได้
“เพราะฉะนั้นเมื่อทำตามหน้าที่เสร็จแล้ว ยังไม่ได้ลงสู่การสมัคร ถ้าหาว่าเราผลประโยชน์ทับซ้อน ถือว่าองค์ประกอบแห่งความผิดยังไม่ครบถ้วน แต่ถ้าเราแก้เสร็จเรียบร้อยแล้ว ลงสมัครรับเลือกตั้งอีก ตรงนี้สิอาจจะอุปมาได้ว่า เราแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตัวเอง เพราะเมื่อเราลงสมัครเป็น ส.ว. อีกครั้ง หมายความว่าองค์ความผิดมันเข้าข่ายพอที่จะอุปมาได้ แต่นี่ยังเลย และแต่ละคนใน 38 คนนั้น ยังไม่มีใครคิดใครพูดเลยว่า แก้แล้วเราจะลงเลือกตั้งอีก” นายดิเรก กล่าว
นายดิเรก กล่าวด้วยว่า ที่สำคัญที่สุดในการทำหน้าที่ของเราตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เราก็มีมาตรา 130 คุ้มครองอยู่ ยังยืนยันว่า มาตรา 130 นั้น คุ้มครองการลงมติของฝ่ายนิติบัญญัติอย่างชัดเจน มิฉะนั้นแล้วเราจะไม่ถูกแบ่งแยกความผิดในลักษณะอย่างนี้ การกระทำของเราตามหน้าที่จึงได้รับการคุ้มครองจากมาตรา 130 ชัดเจน และในระหว่างที่ยื่นขอแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น มีการยื่นในหลายประเด็น และมีการยื่นแก้ไขมาตรา 68 ด้วย ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเคยรับเรื่องนี้วินิจฉัย แต่หลังจากที่รัฐธรรมนูญปี 2550 ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญก็มีหนังสือแจ้งให้ทราบว่า บัดนี้รัฐธรรมนูญถูกยกเลิกแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่รับวินิจฉัยต่อ เพราะถือว่ารัฐธรรมนูญนั้นได้สิ้นสุดลงแล้ว
“ประเด็นนี้ไปสอดคล้องกับการทำหน้าที่ของ ป.ป.ช. เรื่องหนึ่งคือ เมื่อ ส.ส. เสนอเรื่องนิรโทษกรรม ป.ป.ช. ก็วินิจฉัยว่ารัฐธรรมนูญได้ยกเลิกไปแล้ว จึงไม่วินิจฉัยในเรื่องนั้น แต่เรื่องของเรา ป.ป.ช. อธิบายว่า ได้กระทำไปตามกฎหมายของ ป.ป.ช. ผมจึงได้กราบเรียนว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับมาตรา 68 มาวินิจฉัยต่อ เพราะอ้างว่ารัฐธรรมนูญยกเลิกไปแล้ว นอกจากนั้นรัฐธรรมนูญยังกำหนดไว้อีกว่า ในมาตรา 216 คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวินิจฉัยแล้วให้ผูกพันทุกองค์กร รวมทั้งรัฐสภา ครม. และศาลด้วย” นายดิเรก กล่าว
นายดิเรก กล่าวทิ้งท้ายว่า สรุปแล้วข้อกล่าวหาที่ว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 291 (1) วรรคหนึ่ง เรื่องล้มล้างการปกครองนั้น เรียนตรง ๆ ว่า การแก้ไขให้ ส.ว. มาจากการเลือกตั้งหมด ไม่เห็นจะเป็นประเด็นการล้มล้างการปกครองตรงไหน ไม่เห็นจะเกี่ยวกับการล้มล้างการปกครองตรงไหน ความผิดที่หาว่าจงใจใช้อำนาจขัดมาตรา 291 เราจึงมองไม่ออกเลยว่า เอามาเทียบเคียงในเรื่องของการแก้รัฐธรรมนูญ ให้ ส.ว. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด มันล้มล้างการปกครองอย่างไร
“ยืนยันว่าพวกเรานั้นมีหลากหลาย ทั้งอดีตข้าราชการ นักธุรกิจ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คนพวกนี้ผ่านศึกเหนือเสือใต้มาเยอะ ไม่มีหรอกล้มล้างปกครอง เราสู้ในสิ่งเหล่านี้มาตลอด ผมยืนยัน” นายดิเรก กล่าว
อ่านประกอบ : อ้างฟังไม่ขึ้น! ป.ป.ช.งัดญัตติแถลงเชือด 38 ส.ว.โหวตร่างสอดไส้แก้รธน.
หมายเหตุ : ภาพประกอบนายดิเรก จาก thairath