ไพโรจน์ พลเพชร จี้รัฐวางกำปั้นเหล็ก หยุดใช้แผนแม่บทป่าไม้ฯ คุกคามปชช.
เดินหน้าสู่ปฏิรูปประเทศไทยด้วยกัน กรรมการ คปก.เสนอรัฐหยุดใช้กองกำลังคุกคามชาวบ้าน-หยุดใช้แผนแม่บทป่าไม้ฯ -หยุดเร่งรัดออกกฎหมายให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐ ด้านสภาประชาชนฯ ออกประกาศขอพื้นที่ปลอดภัยแสดงความคิดเห็นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาท้องถิ่น
วันที่ 25 กุมภาพันธ์ สภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป จัดเวทีสภาประชาชนเพื่อการปฎิรูป ครั้งที่ 2 `จับตา' การเพิ่มอำนาจรัฐ ปกป้องอำนาจประชาชน รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องดีกว่าเดิม ณ ห้องประชุม อาคารสยามบรมราชกุมารี สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
รศ.ดร.จุรี วิจิตรวาทการ ประธานศูนย์สาธารณะประโยชน์ และประชาสังคม นิด้า กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมตอนหนึ่งถึงการกำหนดนโยบายสาธารณใดๆ ก็ตามต้องรับฟังเสียงของประชาชนทุกภาคส่วน เพื่อให้สังคมเกิดความเป็นธรรม ไม่มีความเหลื่อมล้ำ ขณะเดียวกันการพัฒนาประเทศก็ต้องไม่ใช่การพัฒนาแบบฉาบฉวย หรือชั่วขณะ แต่ต้องเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และเอื้อประโยชน์ให้กับทุกภาคส่วนของสังคม
สำหรับข้อเรียกร้องของภาคประชาชน รศ.ดร.จุรี กล่าวว่า คงไม่สามารถถูกบรรจุเข้าไปในรัฐธรรมนูญได้ทุกเรื่อง เรื่องที่มีการเรียกร้องอาจไม่ได้ทั้งหมด ซึ่งในพหุสังคมเราต้องเข้าใจและทำใจรับให้ได้ว่า ข้อเรียกร้องอาจได้บ้างเสียบ้าง แต่ไม่ใช่การพ่ายแพ้ นี่คือสาระสำคัญ
จากนั้น ตัวแทนภาคประชาชน ได้นำเสนอ 4 ประเด็นปัญหาการรอนสิทธิ์ประชาชน จากกรณีการสัมปทานเหมืองแร่ทองคำ ที่จังหวัดพิจิตร การสัมปทานปิโตรเลียม ผลกระทบจากแผนแม่บทพิทักษ์ป่าไม้ฯ และการทำกิจกรรมในพื้นที่ภาคใต้ พื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่
พร้อมกันนี้ ตัวแทนสภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป ออกคำประกาศสภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป ฉบับที่ 3 “ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มอำนาจประชาชน” เฝ้าระวังการเพิ่มอำนาจรัฐ สร้างพื้นที่ปลอดภัยของประชาชน โดยใจความสำคัญ ขอให้รัฐบาลหยุดการใช้อำนาจรัฐควบคุมสิทธิเสรีภาพของประชาชน และต้องใช้ความระมัดระวังในการบริหารราชการแผ่นดิน ทบทวนการใช้กฎอัยการศึก เปิดหรือสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับประชาชนในการแสดงความคิดเห็น ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาท้องถิ่น การแก้ไขปัญหาชุมชน การปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ตนเองสามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีและปลอดภัย
ด้านนายไพโรจน์ พลเพชร กรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก) กล่าวถึงกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายเรื่องป่าไม้ กฎหมายเรื่องที่ดิน หรือกฎหมายที่เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติทั้งหมด เป็นความสัมพันธ์ทางอำนาจที่หน่วยงานของรัฐเป็นใหญ่ทั้งสิ้น รวมไปถึงกฎอัยการศึกด้วย
“การมีกฎหมายเพื่อให้อำนาจรัฐเป็นใหญ่ และคุกคามประชาชน เราจึงเห็นอาการความเดือดร้อน มีกลุ่มคนออกมาเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาชุมชน”
กรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวถึงภาวะที่ไม่ปกติเช่นนี้อำนาจรัฐที่เป็นภัยคุกคามประชาชนนั้น เกิดจากการไม่เปิดพื้นที่ให้ประชาชน เราจึงเห็นแผนแม่บทป่าไม้ฯ การจัดการทรัพยากรด้วยการยึดคืนพื้นที่ป่า จากคนเล็กคนน้อย ทั้งๆ ที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่า คนบุกรุกป่า หรือป่าบุกรุกคน
“ ประเด็นสิทธิชุมชนยังเป็นข้อโต้เถียงกันอยู่หลายสิบปี แต่จู่ๆ จะขอเอากำปั้นเหล็กทุบขอเอาก่อน จึงเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะถูกต้อง แทนที่รัฐจะไปขอคืนพื้นที่ป่า จากผู้มีอิทธิพล เช่น ที่จังหวัดปราจีนบุรี จำนวนกว่าพันไร่ เป็นต้น”
นายไพโรจน์ กล่าวด้วยว่า หากจะปฏิรูปประเทศไทย หยุดการใช้กองกำลังคุกคาม ณ บัดนี้ หากจะปฏิรูปประเทศไทยในการจัดการทรัพยากรฯ หมวดหนึ่งของรัฐธรรมนูญ หยุดการใช้แผนแม่บทป่าไม้ฯ ณ บัดนี้ และถ้าจะปฏิรูปประเทศไทยด้วยความสันติสุข และปรองดอง หยุดเร่งรัดการออกกฎหมายให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐ ณ บัดนี้ ทำได้ดังที่กล่าวมานี้ นี่แหละคือการปฏิรูป รวมทั้งเป็นการแสดงให้เห็นว่า เป็นเงื่อนไขเบื้องต้นเชื่อมั่นว่า เราจะเดินไปสู่การปฎิรูปประเทศไทยด้วยกัน