อ้างฟังไม่ขึ้น! ป.ป.ช.งัดญัตติแถลงเชือด 38 ส.ว.โหวตร่างสอดไส้แก้รธน.
“วิชัย” กก.ป.ป.ช. นำแถลงเปิดคดีถอด 38 อดีต ส.ว. ปมแก้ รธน.ที่มา ส.ว. งัดญัตติการลงคะแนน ชี้ชัดร่วมลงชื่อโหวตทั้งที่ร่างถูกสอดไส้ ยันข้ออ้างฟังไม่ขึ้น ชี้เป็นความผิดทางการเมืองแค่มีพฤติการณ์ส่อว่าก็โดน – “พีระศักดิ์” ไม่ห้ามอดีต ส.ว. นั่ง สนช. ร่วมประชุม
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2558 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อดำเนินกระบวนการถอดถอนอดีต ส.ว. 38 คน ออกจากตำแหน่งตามมาตรา 6 วรรคสองของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557 ประกอบมาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 กรณีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่มาของ ส.ว. โดยมิชอบ
โดยเป็นการแถลงเปิดสำนวนตามรายงานและความเห็นของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นำโดยนายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการ ป.ป.ช. และการแถลงคัดค้านโต้แย้งสำนวนรายงานและความเห็นของอดีต ส.ว. ทั้ง 38 คน
ก่อนการประชุม นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช. คนที่ 2 กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ไม่ได้ห้ามผู้ถูกกล่าวหาอดีต ส.ว. ที่ปัจจุบันเป็นสมาชิก สนช. ในการเข้าประชุม แต่ได้คุยกันเองในเบื้องต้นแล้วว่าเขาจะไม่เข้ามา สำหรับการลงมติถอดถอนในคดีนี้ จะมีขึ้นในวันที่ 13 มีนาคม 2558 หากอดีต ส.ว. คนใดที่โดนลงมติถอดถอนว่ามีความผิด ก็จะออกจาก สนช. ทันที อย่างไรก็ดีกรณีนี้จะใช้บรรทัดฐานเดียวกับกรณีของนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช ไม่ได้ แต่ต้องเป็นไปตามข้อบังคับของ สนช. เท่านั้น
ต่อมา นายวิชัย กล่าวแถลงเปิดสำนวนตอนหนึ่งว่า ปัญหาของการกระทำความผิดคือ อดีต ส.ว. ทั้ง 38 คน มีพฤติการณ์ส่อว่าใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงในญัตติการลงคะแนน พบว่า มีกรณีการลงชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขที่มาของ ส.ว. โดยมิชอบ รวมไปถึงได้พิจารณาและลงมติเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขที่มาของ ส.ว. ทั้งที่ร่างดังกล่าวมีการจัดพิมพ์ขึ้นใหม่นำโดยนายอุดมเดช รัตนเสถียร และคณะ ซึ่งไม่ตรงกับร่างที่สมาชิกรัฐสภาร่วมกันลงชื่อเสนอในตอนแรก
นายวิชัย กล่าวว่า ดังนั้นพฤติการณ์นี้มันเห็นได้ชัด และ ป.ป.ช. ไม่ได้วินิจฉัยว่าทุกคนมีความผิด จะเห็นได้ว่ามีผู้เข้าชื่อร้องให้ถอดถอนถึง 50 คน แต่ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีผู้เข้าข่ายเพียง 38 คน ดังนั้นเราวินิจฉัยเฉพาะคนที่มีหลักฐานมั่นคงจริง ๆ เช่น กรณีที่ร่วมพิจารณาวาระที่ 1 (รับหลักการ) วาระที่ 2 (พิจารณารายมาตรา) และวาระที่ 3 (ลงมติ) แต่กลับไม่ทราบว่ามีการเปลี่ยนแปลงร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ตรงกับตอนแรกที่สมาชิกรัฐสภาร่วมกันเสนอชื่อนั้น ก็ยากที่จะรับฟัง
“ความรับผิดเห็นว่าเป็นความรับผิดทางการเมือง ไม่ใช่แพ่งหรืออาญา ทางอาญามีข้อพิสูจน์ให้ปราศจากข้อสงสัย ทางแพ่งเราก็ต้องชั่งน้ำหนัก แต่ความรับผิดทางการเมือง ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์ให้ปราศจากข้อสงสัย หรือชั่งน้ำหนัก แต่เป็นเรื่องพฤติการณ์ส่อว่าใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่เท่านั้น” นายวิชัย กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างที่ อดีต ส.ว. กำลังคัดค้านโต้แย้งสำนวนรายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยขอปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา