สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล: "ผมรักธรรมศาสตร์มาก"
"...หลังผมจบปริญญาเอก ตอนแรก ผมจงใจเลือกที่จะไปเป็นอาจารย์ที่อื่น เพราะ "เมมโมรี่" หรือความทรงจำที่ธรรมศาสตร์มันมากเกินไป ขณะที่สภาพสังคมโดยรวมและในธรรมศาสตร์เองมันเปลี่ยนไปมากแล้ว ความรู้สึกขัดกันระหว่าง "เมมโมรี่" ของอดีต กับความจริงในปัจจุบัน มันรู้สึกมากเกินไป ..แต่ในทีสุด ผมก็กลับมาที่ธรรมศาสตร์จนได้..."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : ภายหลังจากที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ออกคำสั่งไล่ออก นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล จากการเป็นอาจารย์สังกัด ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ โดยมีสาเหตุมาจากการลาไปปฏิบัติงานในประเเทศ ทั้งที่ยังไม่ได้รับอนุมัติจากมหาวิทยาลัย และเมื่อแจ้งให้เดินทางกลับมาปฏิบัติราชการ สอนหนังสือ ก็ไม่ยอมเดินทางกลับมา ถือเป็นการทำผิดวินัยร้ายแรง จึงลงโทษให้ไล่ออกจากราชการ ตั้งแต่วันที่ 19 ธ.ค.57 ซึ่งเป็นวันที่ละทิ้งหน้าที่ราชการเป็นต้นไป
(อ่านประกอบ : อธิการฯ ธรรมศาสตร์ ยันลงนามคำสั่งไล่ "สมศักดิ์ เจียมฯ" ออกจากราชการ)
นายสมศักดิ์ ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว แสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ ต่อสาธารณชน โดยมีเนื้อหาหลายส่วนดังนี้
------------
"ผมรักธรรมศาสตร์มาก แต่ผมเป็นคนประเภทที่ ในเรื่องความรัก ไม่ว่าต่อคน หรือสถานที่ หรืออะไรตาม ผมไม่ชอบพูด ไม่ชอบป่าวประกาศฟูมฟาย
ผมรักทีนี่ ไมใช่เพราะที่นี่เป็นไปตามคำขวัญทีรู้จักกันดี ("ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉัน...") แม้ว่า ถ้าพูดในแง่ส่วนตัว ผมเริ่มรู้จัก "ประชาชน" รู้จัก "ประชาธิปไตย" รู้จัก "เสรีภาพ" "ความเป็นธรรม" ที่ธรรมศาสตร์จริงๆ
ผมรักที่นี่ ก่อนอื่น เพราะผมโตมากับที่นี่ ทั้งในแง่อายุ และในแง่การเมือง ตั้งแต่อายุ 15 เมื่อผมมาธรรมศาสตร์เป็นครั้งแรกในชีวิต มาร่วมชุมนุมขับไล่ถนอม-ประภาส ในเหตุการณ์ "14 ตุลา" - เรียกว่า "มาธรรมศาสตร์" ครั้งแรก ก็มากินอยู่หลับนอนในมหาวิทยาลัย กลางสนามฟุตบอล ติดต่อกันหลายวันหลายคืน
หลังเหตุการณ์นั้น ผมก็แวะเวียนมาธรรมศาสตร์ เรียกว่า แทบทุกสัปดาห์ เพราะตอนนั้น มีการชุมนุม มีนิทรรศการ มีการเคลื่อนไหวต่างๆ แทบทุกสัปดาห์จริงๆ จนผมรู้จักทุกซองทุกมุมในมหาวิทยาลัยเป็นอย่างดี ผมมานอนค้างคืนในการชุมนุมต่างๆอีกนับครั้งไม่ถ้วน ช่วงนึง แม้จะไม่มีการชุมนุม แต่พวกอันธพาลการเมือง บางครั้ง ก็คอยมาก่อกวน (เผาบอร์ดหน้ารั้วมหาวิทยาลัย เป็นต้น) จำได้ว่า มีอยู่ครั้งนึง พวกเรานักทำกิจกรรมรวมทั้งผม เลยจับกลุ่ม นอนค้างคืน ทำหน้าที่ "ยาม" หรือการ์ด คอยเฝ้ามหาวิทยาลัยด้วย
ในปี 18 ตอนที่กระทิงแดง นำนักเรียนอาชีวะมาบุกเผาทำลายมหาวิทยาลัย ผมยืนดูอยู่ที่สนามหลวง ร้องไห้เงียบๆไปด้วย แม้ตอนนั้นยังไม่ได้เข้าเรียนที่ธรรมศาสตร์ (ภาพประกอบกระทู้ มาจากเหตุการณ์ครั้งนั้น)
หลังผมจบปริญญาเอก ตอนแรก ผมจงใจเลือกทีจะไปเป็นอาจารย์ที่อื่น เพราะ "เมมโมรี่" หรือความทรงจำที่ธรรมศาสตร์มันมากเกินไป ขณะที่สภาพสังคมโดยรวมและในธรรมศาสตร์เองมันเปลี่ยนไปมากแล้ว ความรู้สึกขัดกันระหว่าง "เมมโมรี่" ของอดีต กับความจริงในปัจจุบัน มันรู้สึกมากเกินไป ..
แต่ในที่สุด ผมก็กลับมาที่ธรรมศาสตร์จนได้ บอกตรงๆว่า เพราะรู้สึกอึดอัดกับที่อื่น
ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ความจริงที่ต้องยอมรับ คือ ธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยที่มีความเป็นอิสระในการใช้ชีวิตแบบปัญญาชน
ไม่ว่าจะสำหรับอาจารย์หรือนักศึกษา มากกว่ามหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่นี่ มี "ประเพณี" หรือระเบียบกฎเกณฑ์โบราณๆอะไรน้อยกว่าที่อื่นๆ ไม่มีตราพระก้งกระเกี้ยว พระพิรุณ พระพิฆเณศ หรือพระอะไรก็แล้วแต่ ให้ต้องคอยพูดถึงด้วยความเคารพนบนอบ ("ธรรมจักร" ของ มธ นี่ ไม่ค่อยมีใคร "อิน" แบบนั้น "ยอดโดม" คนก็ไม่ได้รู้สึกในทางสิ่งเคารพศักดิ์สิทธิ์อะไร)
และสำหรับอาจารย์หรือนักวิชาการด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ แล้ว ที่นี่ยังได้เปรียบกว่าที่อื่น ในแง่ห้องสมุด (จุฬาที่รวยกว่าเยอะ ห้องสมุดทางสังคมศาสตร์ ยังด้อยกว่ามาก)
และที่สำคัญอีกอย่างคือ ธรรมศาสตร์เป็นที่รวมของบรรดาอาจารย์สายนี้ระดับนำๆอยู่เยอะ ตั้งแต่ปีแรกๆที่มาอยู่ ผมเคยบอกนักศึกษาที่สนใจจะเป็นอาจารย์ว่า ถ้าคิดจะเป็นอาจารย์สายสังคมศาสตร์ อยู่ธรรมศาสตร์น่าจะดีทีสุด
อย่างหนึ่งคือทีนี่มีคนอย่าง ชาญวิทย์ รังสรรค์ ชัยวัฒน์ เกษียร อเนก ธเนศ นครินทร์ ปริตตา สมบัติ ชูศักดิ์ ธเนศ วงศ์ ฯลฯ ฯลฯ คืออาจารย์เหล่านี้ ไม่ว่าผมจะไม่เห็นด้วยทั้งในแง่วิชาการหรือการเมืองอย่างไร แต่ผมชอบที่จะอยู่ในชุมชนมหาวิทยาลัยที่มีคนเหล่านี้ มันมีบรรยากาศที่คอย "กระตุ้นสมอง" ทำให้คุณต้องคอยพัฒนาความคิดตัวเองตลอดเวลา
... นี่คือหลายปีก่อนการปรากฏตัวของ วรเจตน์ ปิยบุตร และคณะนิติราษฎร์ หลังการปรากฏตัวของกลุ่มนี้ ซึ่งได้เปลี่ยน "แลนด์ซะเคป" หรือ "ภูมิทัศน์" ของนิติศาสตร์ไปอย่างมหาศาล (จนทุกวันนี้ยากจะจินตนาการว่า ถ้าไม่มีคนเหล่านี้ นิติศาสตร์จะเป็นอะไรที่น่าสนใจมากๆแบบนี้ได้) ก็ยิ่งทำให้มีบรรยากาศที่น่าทำงานเป็นอาจารย์มาก
ผมคิดว่าปัจจัยทั้งหลายเหล่านี้ (การมีประเพณีโบราณๆน้อย, มีห้องสมุดดี มีอาจารย์นักวิชาการที่เสนออะไรใหม่ๆน่าสนใจเยอะ ฯลฯ) มีส่วนทำให้นักศึกษาธรรมศาสตร์ในสายที่เรียนสังคมศาสตร์ มีโอกาสเป็นอิสระทางความคิดจากกรอบคิดประเพณีโบราณๆได้ง่ายกว่า มีโอกาสกล้าแสดงออกได้มากกว่า (แน่นอน โอกาสหรือความเป็นไปได้นี้จะแปลเป็นการตื่นตัวจริงๆหรือไม่ ยังขึ้นอยู่กับสภาพการณ์อีกหลายอย่าง)
สรุปแล้ว ผมจึงชอบทีนี่ รักที่นี่ และเสียดายที่ไม่ได้อยู่จนครบเกษียณอายุ เสียดายที่ไม่ได้บรรยายวิชาประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ให้นักศึกษาอีกสัก 2-3 รุ่น .. ในช่วงวิกฤติการเมืองเกือบ ๑๐ ปีที่ผ่านมา ผมคิดว่า มีนักศึกษามากขึ้นๆ หันมาสนใจที่จะศึกษาทำความเข้าใจกับประวัติศาสตร์ไทยอย่างมีเหตุมีผล เปิดใจกว้างมากขึ้น ...
-------
ก่อนอื่น ก็ต้องขอขอบคุณทุกท่านที่เขียนความเห็น ส่งข้อความทั้งหน้าไมค์หลังไมค์มามากมาย ให้กำลังใจผม รู้สึกซาบซึ้งอย่างยิ่ง ต้องขออภัยที่ไม่สามารถตอบเป็นรายบุคคลได้
ความจริงมหาวิทยาลัย มี"อ๊อพชั่น" หลายอย่าง จะให้ผมลาปลอดการสอนชั่วคราว ให้ผมลาออกเอง หรือ "ให้ออก" ไปจนถึง "ไล่ออก" ก็ได้
ผมก็ไม่ได้คาดหวังอะไรมาก แต่ก็คิดๆว่า ถ้าอย่างมากสุด ให้ลาออก หรือให้ออก ก็ยังดี เพราะจะได้ไม่มีปัญหาเรืองบำเหน็จ เพราะผมก็ไม่ได้ร่ำรวยอะไร เงินสะสมก็ไม่ได้มากมาย ทีสำคัญก็เห็นว่า ในเมื่อผมทำงานมากว่า 20 ปี อย่างน้อยถ้าบอกว่า ต้องลงโทษที่ตอนนี้ไปทำงานไม่ได้ ก็เป็นเรื่อง "ความผิด" ที่เพิ่งเกิดขึ้น ไม่ควรกระทบไปถึงบำเหน็จที่เป็นการตอบแทนการทำงานสะสมที่ผ่านมา
พอออกมาว่า เป็นการ "ไล่ออก" ก็ได้แต่ยักไหล่ หัวเราะ เหอๆ กับตัวเองแหละ
-----------
นายสมศักดิ์ ยังโพสต์ข้อความถึงเนื้อหาในหนังสือชี้แจง ต่อมหาวิทยาลัย หลังทราบว่า ถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย ว่า "..ดังที่ทราบกันแล้วว่า เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ได้มีคณะทหารกลุ่มหนึ่งเข้ายึดอำนาจการปกครอง ล้มรัฐธรรมนูญ อันเป็นการกระทำผิดกฎหมายที่ร้ายแรงที่สุด หลังจากนั้นไม่กี่วัน คณะทหารที่ทำการโดยมิชอบและผิดกฎหมายนั้น ได้สั่งให้บุคคลจำนวนมากเข้าไปรายงานตัว รวมทั้งผมด้วย เมื่อผมไม่ไปรายงานตัว ก็ส่งกำลังทหารพร้อมอาวุธครบมือ 2 คันรถไปที่บ้านผม เมื่อไม่พบ ก็ได้ให้เจ้าหน้าที่ทั้งทหารและตำรวจติดตามรังควาน (harassment) ต่อภรรยา แม่ และพี่ชายของผมถึงบ้านและที่ทำงานของพวกเขา โดยที่ญาติของผมเหล่านั้น ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือรู้เห็นในการกระทำใดๆของผมเลย ทำเช่นนี้เป็นเวลาติดต่อกันนับเดือน พร้อมกันนั้น คณะทหารดังกล่าวยังได้ทำการยกเลิกหนังสือเดินทางของผม และออกหมายจับตัวผมที่ไม่ยอมไปรายงานตัว
นายสมศักดิ์ ยังระบุด้วยว่า ตลอดเวลา20 ปี ที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้พยายามปฏิบัติงานอย่างสุดความสามารถตามหน้าที่โดยไม่ละเว้น (เช่น แทบจะไม่เคยขาดการสอนเลย) ทั้งยังได้พยายามปฏิบัติตนในฐานะพลเมืองที่ดีของประเทศ และสมาชิกที่ดีของประชาคมธรรมศาสตร์ แต่ในภาวะปัจจุบัน ไม่สามารถที่จะอยู่ปฏิบัติราชการ เพื่อให้ถูกจับกุมตัวอย่างไม่ชอบธรรมได้