เปิดผลศึกษาปฏิรูปมหาเถรฯ เสนอกรรมการห้ามรับตำแหน่งปกครองสงฆ์
บทบาทของมหาเถรสมาคม (มส.) โดยเฉพาะในแง่ของการปกครองคณะสงฆ์ ถูกวิจารณ์มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในวงการผ้าเหลืองเอง และเสียงจากทางโลก
ล่าสุดกรณีมีมติให้ พระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย พ้นมลทินจากข้อกล่าวหายักยอกทรัพย์สินของวัด จึงไม่ต้องอาบัติปาราชิกที่ร้ายแรงถึงขั้นขาดจากความเป็นพระ ก็ทำให้เสียงวิจารณ์ที่มีต่อ มส.ดังกระหึ่มขึ้นอีกระลอก (เมื่อวาน มส.ชี้แจงว่าผลประชุมเมื่อวันที่ 20 ก.พ.ไม่ใช่มติมหาเถรสมาคม)
ที่ผ่านมามีการศึกษาเกี่ยวกับปัญหาขององค์กร มส.เอาไว้เช่นกัน โดยเฉพาะรายงานเรื่อง "แนวทางการปฏิรูปและพัฒนาพระพุทธศาสนาในประเทศไทย" ของข้าราชการผู้หนึ่งที่เคยมีส่วนเกี่ยวข้องทางตรงกับคดียักยอกทรัพย์วัดพระธรรมกาย เมื่อ 16 ปีก่อน
การต้องประสานงานกับพระภิกษุชั้นผู้ใหญ่ และกรรมการมหาเถรสมาคม ทำให้ข้าราชการผู้นี้ประสบพบเห็นปัญหาที่กระทบต่อการปกครองคณะสงฆ์ และการบริหารงานด้านต่างๆ ของ มส.เอง จึงนำมาสรุปเป็นรายงานพร้อมเสนอทางออกเอาไว้อย่างน่าสนใจ
เนื้อหาในรายงานเริ่มต้นที่ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับวงการสงฆ์ไทย กล่าวคือ ประเทศไทยมีวัด 39,276 วัด มีพระสงฆ์ 349,659 รูป (ข้อมูล ณ ปี 2557) ใช้ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 และพระธรรมวินัยควบคุมการดำเนินการของพระสงฆ์และคณะสงฆ์ในประเทศไทย มีมหาเถรสมาคม (มส.) เป็นองค์กรบริหารสูงสุดในการปกครอง ซึ่งดูแลทั้งในและต่างประเทศ
องค์กรการบริหารของคณะสงฆ์ มี 6 องค์กร ได้แก่ 1.องค์กรปกครอง 2.องค์กรการศึกษา 3.องค์กรการเผยแผ่ 4.องค์กรการสาธารณูปการ 5.องค์กรการสาธารณสงเคราะห์ และ 6.องค์กรการศึกษาสงเคราะห์
ทั้งนี้ ในรายงานการศึกษา ระบุรายละเอียดถึงองค์กรการปกครองว่า ได้แก่ มส. ซึ่งเป็นองค์กรปกครองคณะสงฆ์สูงสุด ทำหน้าที่คล้ายคณะรัฐมนตรี มีอำนาจ หน้าที่ในการปกครองคณะสงฆ์ทั้งประเทศให้อยู่ในพระธรรมวินัย
กรรมการ มส.ประกอบด้วยพระสงฆ์ ตามมาตรา 12 ที่บัญญัติว่า "มหาเถรสมาคมประกอบด้วยสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการโดยตำแหน่ง สมเด็จพระราชาคณะทุกรูปเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และพระราชาคณะซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งมีจำนวนไม่เกินสิบสองรูปเป็นกรรมการ" มีผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เป็นเลขาธิการโดยตำแหน่ง และให้สำนักงาน พศ.มำหน้าที่สำนักเลขาธิการ มส.
กรรมการ มส.รวมกันมี 21 รูป เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง 9 รูป มีสมเด็จพระสังฆราชซึ่งทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ และสมเด็จพระราชาคณะทุกรูปเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง (จำนวน 8 รูป เป็นมหานิกาย 4 รูป และธรรมยุต 4 รูป) กับพระราชาคณะซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งมีจำนวนไม่เกิน 12 รูป เป็นกรรมการซึ่งอยู่ในตำแหน่งคราวละ 2 ปี (กรรมการจากการแต่งตั้งเป็นมหานิกาย 6 รูปและ ธรรมยุต 6 รูป)
กรรมการ มส.ไม่จำกัดอายุ ไม่จำกัดวาระ ต่างจากเจ้าคณะภาค รองเจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด รองเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ รองเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล รองเจ้าคณะตำบล เจาะจงไม่เกินอายุ 80 ปี
สำหรับโครงสร้างการปกครองคณะสงฆ์ แบ่งเป็น
1.การปกครองคณะสงฆ์ส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ให้มีเจ้าคณะใหญ่ปฏิบัติหน้าที่ในเขตปกครองคณะสงฆ์ (เจ้าคณะใหญ่ธรรมยุติกนิกาย, เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ, เจ้าคณะใหญ่หนกลาง, เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก และเจ้าคณะใหญ่หนใต้ รวม 5 รูป คือ มหานิกาย มี 4 หน/รูป ธรรมยุตมี 1 รูป/เจ้าคณะใหญ่)
2.เจ้าคณะภาค 18 (มหานิกายมีครบ 18 ภาค/รูป ธรรมยุตมี 8 ภาค/รูป) การปกครอง มี 18 ภาค 77 จังหวัด ภาคกลาง ได้แก่ ภาค 1-2-3 และ 12-13-14-15 ภาคเหนือ ได้แก่ ภาค 4-5-6-7 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ภาค 8-9-10-11 ภาคใต้ ได้แก่ ภาค 16-17-18
3.เจ้าคณะจังหวัด 77 จังหวัด/รูป (มหานิกาย 77 จังหวัด/รูป ธรรมยุต 57 จังหวัด/รูป) 4.เจ้าคณะอำเภอ 5.เจ้าคณะตำบล 6.เจ้าอาวาสวัดในพระพุทธศาสนาทุกวัดทั้งธรรมยุต และมหานิกาย
รายงานการศึกษายังระบุถึงปัญหาขององค์กร มส.ว่า เป็นองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่และบารมีสูงที่สุด เปรียบเสมือนคณะรัฐมนตรีของทางโลก ปัญหาด้านการบริหาร คือ มีงานล้นมือ ทำให้ขาดประสิทธิภาพในการปกครองคณะสงฆ์ทั้งประเทศให้อยู่ในพระธรรมวินัย แม้จะมีผู้อำนวยการ พศ.เป็นเลขาธิการโดยตำแหน่ง และมีผู้อำนวยการสำนักเลขาธิการ มส.เป็นหน่วยงานรวบรวมเสนองานก็ตาม
แต่คำถามที่เกิดขึ้นเสมอ คือ ความล่าช้าในการพิจารณาตัดสินใจ ขาดการสั่งการที่มีประสิทธิภาพ การบริหารงานให้น้ำหนักงานที่มีความสำคัญและเป็นประโยชน์ไม่มากเท่าที่ควร จากสาเหตุสำคัญหนึ่งเพราะกรรมการ มส.มีงานล้นมือ ทั้งงานวัด งานหลวง งานราษฎร์ งานส่วนตน และตำแหน่งที่ดำรงนี้มีทั้งสมณศักดิ์ อายุพรรษา อายุตัวมาก ทำให้ความคิด ความคล่องตัวมีน้อย แต่ปัญหาเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงส่งผลกระทบต่อความศรัทธาของคนในสังคม
นอกจากการเป็นกรรมการ มส.แล้ว แต่ละรูปยังมีตำแหน่งเป็นเจ้าคณะหน/ใหญ่ เป็นเจ้าคณะภาค เป็นเจ้าคณะจังหวัด เขต ถือเป็นผู้มีตำแหน่งทับซ้อนกัน ถ้าในทางโลกเปรียบได้กับเป็นทั้งรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง ผู้ว่าราชการจังหวัด ถึงนายอำเภอ นอกจากนั้นยังมีภารกิจเป็นแม่กองบาลี/ธรรมอีกมากมาย ทำให้เวลาการบริหารงาน ความคิด การสั่งการสะดุดหรือช้านานไม่ทันการณ์
รายงานการศึกษา ยังระบุถึงข้อพิจารณาในการปฏิรูปและพัฒนา มส.ว่า ควรกำหนดให้ผู้ที่เป็นกรรมการ มส.ไม่ควรรับตำแหน่งด้านปกครองและบริหารอื่นอีก หรือเมื่อเป็นตำแหน่งอื่นอยู่ก่อน ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการ มส. จะต้องพ้นตำแหน่งนั้น เพราะเมื่อดำรงตำแหน่งนี้อีกก็เท่ากับปกครองดูแลเจ้าคณะระดับต่างๆ รวมทั้งเจ้าอาวาสไปพร้อมกันด้วย ถือเป็นการซ้ำซ้อน ทำให้มีการรวบอำนาจอยู่ในคนคนเดียว ไม่มีการกระจายงาน ขาดความคล่องตัว รวดเร็วทันการณ์
จากการรวบรวมทัศนะของผู้ทรงคุณวุฒิ รวมทั้งพระผู้ใหญ่หลายรูป เห็นตรงกันว่าถ้ามีการปฏิรูปและพัฒนาการบริหารงานใน มส.ได้ มส.จะเป็นกลไกสำคัญในการแก้ไขปัญหาและบริหารงานตามที่บัญญัติอำนาจหน้าที่เอาไว้ได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะการปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปโดยเรียบร้อยดีงาม และรักษาหลักพระธรรมวินัยของพระพุทธศาสนา เพื่อให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติอย่างยั่งยืน