"ปรีชา สุวรรณทัต" กาง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ มติมหาเถรฯขัดพระธรรมวินัย?
มติมหาเถรสมาคม (มส.) นั้น แม้จะถือเป็นที่สุดในการปกครองคณะสงฆ์ แต่มติเมื่อวันที่ 20 ก.พ.ที่ให้ พระเทพญาณมหามุนี หรือ พระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย พ้นมลทิน ไม่ต้องอาบัติปาราชิกจากข้อกล่าวหายักยอกทรัพย์ของวัดมาเป็นของตน และฝ่าฝืนพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราชฯ ต้องบอกว่าคงถึงที่สุดยาก และเรื่องนี้คงไม่จบง่าย
ตลอดหลายวันที่ผ่านมา ด้านหนึ่งมีความเคลื่อนไหวจากหลวงปู่พุทธอิสระ ผู้ก่อตั้งวัดอ้อน้อย ที่เดินสายคัดค้านมติ มส. ขณะที่อีกด้านหนึ่งก็มีผู้เชี่ยวชาญออกมาตั้งข้อสังเกตหลายประการต่อมติขององค์กรปกครองคณะสงฆ์สูงสุดของประเทศแห่งนี้
ปรีชา สุวรรณทัต อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า เรื่องนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2542 เมื่อ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงมีหนังสือทีเรียกว่า "พระลิขิต" ออกมาถึง 3 ฉบับต่อเนื่องกัน หนึ่งในสามฉบับนั้น ลงวันที่ 26 เม.ย.2542 ชี้ชัดว่า หลวงพ่อธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ต้องอาบัติปาราชิก พ้นจากความเป็นสมณะโดยอัตโนมัติ
ความตอนหนึ่งในพระลิขิต ระบุว่า "แต่เมื่อถึงอย่างไรก็ไม่ยอมมอบคืนสมบัติทั้งหมดที่เกิดขึ้นในขณะเป็นพระให้แก่วัด ก็แสดงชัดแจ้งว่าต้องอาบัติปาราชิก ต้องพ้นจากความเป็นสมณะโดยอัตโนมัติ ต้องถูกจัดการอย่างเด็ดขาด เช่นเดียวกับผู้ไม่ใช่พระปลอมเป็นพระ ด้วยการนำผ้ากาสาวพัสตร์ไปครอง ทำความเศร้าหมองเสื่อมเสียให้เกิดแก่สงฆ์ในพระพุทธศาสนา"
อาจารย์ปรีชา สรุปว่า การที่พระไม่ยอมคืนทรัพย์ของวัดให้กับวัด ถือเป็นการยักยอกทรัพย์ของวัดเป็นของตนเอง ผิดพระธรรมวินัยว่าด้วยการลักทรัพย์ ยักยอกทรัพย์ ต้องอาบัติปาราชิก เมื่อมีเจตนายักยอก เถยจิตเป็นโจร เท่ากับเจตนาทุจริต ขาดจากความเป็นพระทันที เป็นไปโดยอัตโนมัติตั้งแต่วินาทีนั้นเลย ไม่ต้องมีการสึกใดๆ ทั้งสิ้น นี่คือหลักใหญ่ของพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราช
อย่างไรก็ดี ตลอดมามีกระบวนการไม่ปฏิบัติตามพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราช ขณะเดียวกันก็มีการดำเนินคดีพระธัมมชโยตามประมวลกฎหมายอาญา โดยอัยการในสมัยนั้นยื่นฟ้องต่อศาลในข้อหายักยอกทรัพย์วัดพระธรรมกาย คดีก็ดำเนินมาเรื่อยๆ กระทั่งใกล้วันที่ศาลตัดสิน ในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จู่ๆ อัยการก็ถอนฟ้องคดีนี้ โดยอ้างว่าพระธัมมชโย คืนทรัพย์สินซึ่งส่วนใหญ่เป็นที่ดินให้กับวัดแล้ว ทำให้คดีอาญายุติ
จากนั้นเรื่องก็เงียบหายไป กระทั่งมีการรื้อฟื้นขึ้นมาเมื่อเร็วๆ นี้ และเรื่องก็ถูกเสนอเข้าที่ประชุม มส. ปรากฏว่า มส.ได้มีมติออกมาว่าเมื่อพระธัมมชโยได้คืนทรัพย์ให้กับวัดแล้ว และอัยการได้ถอนฟ้องคดีแล้ว จึงเป็นเหตุไม่ปาราชิก
"ทั้งหมดคือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมา ส่วนข้อกฎหมาย เหตุปาราชิกนั้นเป็นตามพระธรรมวินัย เป็นไปตามที่พระพุทธองค์ได้ทรงบัญญัติไว้เป็นวินัยของสมณะ จึงถือว่าสูงสุด มีศักดิ์สูงกว่ากฎหมายทั่วๆ ไป แม้แต่รัฐธรรมนูญ พระธรรมวินัยก็มีศักดิ์สูงกว่า"
"ฉะนั้นการเป็นเหตุให้อาบัติปาราชิก จึงเป็นไปตามพระธรรมวินัย ไม่เกี่ยวกับกฎหมายของบ้านเมือง เป็นคนละเหตุกัน ไม่ใช่นำคดีอาญาที่ยุติแล้วมาอ้าง แม้จะคืนทรัพย์สมบัติให้กับวัด อัยการถอนฟ้อง ก็เป็นเพียงคดีอาญาในทางโลก ไม่มีผลลบล้างเหตุปาราชิก เพราะปาราชิกเป็นไปตามพระธรรมวินัย เป็น 'อกาลิโก' ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ บัญญัติไว้อย่างไรก็เป็นไปอย่างนั้น กฎหมายของบ้านเมืองจะมาบัญญัติให้เลิกปาราชิกก็ทำไม่ได้"
อาจารย์ปรีชา กล่าวต่อว่า ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 15 ตรี บัญญัติเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ มส. ใน (4) ระบุว่า มส.มีหน้าที่รักษาพระธรรมวินัยของพระพุทธศาสนา ขณะที่วรรค 2 ของมาตราเดียวกันบัญญัติว่า มติของ มส.ต้องไม่ขัดกับกฎหมายและพระธรรมวินัย
"ฉะนั้นจึงแสดงให้เห็นว่าพระธรรมวินัยสูงกว่ากฎหมาย มส.ที่มีมติข้างมากว่าพระธัมมชโยไม่ปาราชิก จึงขัดกับพระธรรมวินัย เพราะพระธัมมชโยปาราชิกไปแล้วเมื่อปี 2542 การมีมติว่าไม่ปาราชิก เท่ากับขัดแย้งบิดเบือนพระธรรมวินัย"
อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มธ. กล่าวอีกว่า ยังมีข้อกฎหมายที่น่าสนใจและเกี่ยวข้องกับกรณีนี้อีกประเด็นหนึ่ง คือ เจ้าอาวาสทุกวัดและกรรมการ มส.ถือเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา (ป.อาญา) ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ มาตรา 45 ที่บัญญัติว่า ให้ถือว่าพระภิกษุซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์และไวยาวัจกร (ผู้ดูแลรักษาทรัพย์สมบัติของวัด) เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
ด้วยเหตุนี้เมื่อเจ้าอาวาส เจ้าคณะทุกระดับ และกรรมการ มส. เป็นเจ้าพนักงานตาม ป.อาญา ย่อมมีฐานะพิเศษตาม ป.อาญาด้วย กล่าวคือหากกระทำผิดอาญา จะมีโทษหนักกว่าบุคคลธรรมดา สมมติบุคคลธรรมดายักยอกทรัพย์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี แต่ถ้าเป็นเจ้าพนักงานยักยอกจะมีโทษหนักขึ้น ฉะนั้นพระธัมมชโย และ มส.ที่ได้มีการละเมิดพระธรรมวินัย มีมติให้พระธัมมชโยไม่ขาดจากการเป็นพระ จึงถือว่าผิดกฎหมายอาญา อาจเข้าข่ายเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ได้ด้วยเหมือนกัน
"เป็นที่น่าสังเกตว่ามติ มส.ไม่มีการระบุว่าเสียงข้างมากมีกี่เสียง และเสียงข้างน้อยมีกี่เสียง ซึ่งหากเปิดเผยจะได้ทราบว่าพระรูปใดลงมติให้พระธัมมชโยพ้นมลทินบ้าง เนื่องจากมีพระหลายรูปที่เป็นพระผู้ใหญ่ มีส่วนได้เสียในวัดพระธรรมกาย" อาจารย์ปรีชา ระบุ
ส่วนกรณีที่มีบางฝ่ายอ้างว่า มติ มส.ถือเป็นที่สุด ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้แล้วนั้น อาจารย์ปรีชา บอกว่า มติ มส.เป็นไปตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ฉะนั้นมติ มส.จึงถือเป็นคำสั่งทางปกครองอย่างหนึ่ง เพราะไม่ใช่พระธรรมวินัย แต่เป็นคำสั่งตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นคำสั่งทางปกครอง สามารถนำคำสั่งไปฟ้องต่อศาลปกครองได้
"ผมได้หารือกับนักกฎหมายอาวุโสหลายท่าน ได้รับการยืนยันว่าเรื่องนี้ไปศาลปกครองได้"
ในประเด็นที่มีผู้โต้แย้งว่า ใครเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยว่าพระรูปใดต้องอาบัติปาราชิก ถือเป็นอำนาจของสมเด็จพระสังฆราชหรือไม่ ประเด็นนี้ อาจารย์ปรีชา อธิบายว่า พระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชมีการอ้างว่าปลอมบ้าง และบ้างก็อ้างว่าสมเด็จพระสังฆราชสั่งไม่ได้เรื่องเหตุปาราชิก แท้จริงแล้วในพระลิขิตทั้ง 3 ฉบับ สมเด็จพระสังฆราชทรงอ้างหลักพระธรรมวินัยว่าพระธัมมชโยมีเหตุปาราชิก ท่านไม่ได้สั่งเอง
"เมื่อปาราชิกแล้ว พระรูปนั้นก็ถูกสึกโดยอัตโนมัติ ไม่สามารถครองจีวรเป็นพระได้ การที่ยังครองจีวรอยู่ นำพระไปเดินธุดงค์ เข้าข่ายผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 208 ผู้ใดแต่งกายหรือใช้เครื่องหมายที่แสดงว่าเป็นภิกษุในศาสนาโดยมิชอบ เพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนเป็นบุคคลเช่นว่านั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"
เรื่องนี้จึงต้องรอฝ่ายบ้านเมืองว่าจะดำเนินการหรือไม่ อย่างไร...โปรดติดตาม!