"ไฟใต้" กับภาพลวงตา
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุคาร์บอมบ์ในเขตเทศบาลเมืองนราธิวาส ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นที่ประชาชนคนไทยมีต่อรัฐบาลในการจัดการปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ลดลงอย่างฮวบฮาบ
ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา ได้วิเคราะห์ 6 ปัจจัยที่ทำให้คาร์บอมบ์ลูกแรกของปี 58 ลูกนี้ ส่งผลทางจิตวิทยาอย่างสูงเอาไว้ทันทีหลังเกิดเหตุ
6 ปัจจัยก็มีทั้งการเลือกพื้นที่ก่อเหตุในเขตเมือง การเลือกจังหวะเวลาช่วงเทศกาลตรุษจีน ระหว่างที่มีกิจกรรมเดินสานใจสู่สันติ หลังปฏิบัติการค้นปอเนาะในพื้นที่ และยังเป็นช่วงตั้งไข่กระบวนการพูดคุยสันติสุข รวมถึงการเลือกรูปแบบระเบิดเป็น "คาร์บอมบ์" ซึ่งเป็นรูปแบบที่ร้ายแรงที่สุดที่เคยเกิด เพราะยังไม่มีระเบิดพลีชีพ
ขณะที่ก่อนหน้านี้ ศูนย์ข่าวภาคใต้ ได้นำเสนอบทวิเคราะห์ไว้เช่นกันว่า สถานการณ์ภาพรวมที่ดูดีขึ้น สถิติเหตุรุนแรงลดลงอย่างเห็นได้ชัดถึงขั้นหน่วยงานที่รับผิดชอบการแก้ไขปัญหาแสดงความมั่นใจด้วยการจัดกิจกรรมที่กรุงเทพฯเพื่อสื่อสารว่า "ภาคใต้บ้านเรา วันนี้ดีขึ้นแล้ว" นั้น แท้ที่จริงแล้วอาจเป็นเพียง "ภาพลวงตา"
เพราะปัญหาพื้นฐานที่สุดอย่าง "ความไม่เป็นธรรม" และ "ความรู้สึกไม่ดี" ที่ประชาชนในพื้นที่มีต่อรัฐ จนถึงขั้นเกลียดชังรัฐไทย (ทั้งรู้สึกเองและถูกปลุกระดม) นั้น ยังแทบไม่ได้รับการแก้ไขเลย
ต้องทำความเข้าใจให้ชัดว่า หลายๆ เรื่องที่รัฐทำดี หรือแม้แต่ภาคประชาสังคมจัดกิจกรรมดีๆ บางทีก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้สถานการณ์ชายแดนใต้ดีขึ้นได้ เพราะประชาชนที่ได้รับประโยชน์จากเรื่องดีๆ เหล่านั้น เป็นคนละกลุ่มกับผู้ที่เกลียดชังรัฐและเลือกใช้ความรุนแรง ซึ่งมีอยู่จำนวนไม่น้อยเช่นกัน
อย่างกิจกรรม "เดินสานใจสู่สันติชายแดนใต้" ที่คนจากภาคประชาสังคมบางกลุ่มออกเดินเท้ารณรงค์เพรียกหาสันติภาพ สันติสุขทั่วสามจังหวัด เริ่มจากยะลา ผ่านปัตตานี สู่ปลายทางนราธิวาส ใช้เวลาถึง 7 วัน และเพิ่งเดินถึงจุดหมายปลายทางที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส กันไปเมื่อวันเสาร์ที่ 21 ก.พ.58 แม้จะเป็นกิจกรรมที่ดี แต่ก็ไม่มีพลังพอที่จะสร้างกระแสเชิงสัญลักษณ์ได้ว่าคนส่วนใหญ่ในพื้นที่นี้ปฏิเสธหรือต่อต้านความรุนแรง
ผู้ร่วมขบวนมีแค่หลักสิบหรือหลักร้อย ไม่ใช่ว่าพอเริ่มเดินก็มีประชาชนแห่กันออกมาหลักหมื่นหรือหลักแสน หากเป็นเช่นนั้นจะแปรเป็นกระแสกดดันให้กลุ่มผู้ใช้ความรุนแรงยุติการกระทำได้ เพราะชัดเจนว่าคนพื้นที่ไม่เอาด้วย แต่ความจริงก็หาเป็นเช่นนั้นไม่
หนำซ้ำยังมีข่าวกระซิบกระซาบกันว่า ภาคประชาสังคมบางองค์กรในพื้นที่ยังแตกคอกัน ไม่ได้เป็นเอกภาพ ทำให้บางส่วนพยายามขัดขวางไม่ให้กิจกรรมเดินสานใจฯ ประสบความสำเร็จด้วย
นี่คือความซับซ้อนของปัญหาความขัดแย้งที่ชายแดนใต้ มันไม่ได้มีแค่กลุ่มที่เลือกใช้ความรุนแรงเปิดฉากต่อสู้กับรัฐเท่านั้น แต่ในทุกๆ องคาพยพกลับเต็มไปด้วยความขัดแย้ง แก่งแย่ง ชิงดีชิงเด่นกัน เตะตัดขากัน บ้างก็อ้างว่าบางคนบางองค์กรมาจากนอกพื้นที่ บ้างก็ขยายวงไปถึงการแย่งงบสนับสนุนจากรัฐหรือต่างประเทศ
เช่นเดียวกับเวลาเกิดเหตุรุนแรงที่กระทำต่อทหาร ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่รัฐหน่วยอื่น กลับไม่มีการประณามอย่างจริงจังและทรงพลังจากองค์กรภาคประชาสังคมและประชาชนในพื้นที่เลย แม้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าจะพยายามกระตุ้นเรียกร้องมากเท่าใดก็ตาม
สะท้อนว่าปัญหาชายแดนใต้ไม่ใช่การต่อสู้กันระหว่างความดีกับความชั่ว ความถูกกับความผิด ดังที่ฝ่ายรัฐเข้าใจ (ว่าตัวเองเป็นฝ่ายดีและถูกต้อง) เนื้อแท้ของปัญหาจึงย่อมมีอะไรที่ซับซ้อนกว่านั้น แต่ดูเหมือนภาครัฐไม่ค่อยให้ความสำคัญ ยังคงมุ่งแต่การคุมพื้นที่ทางกายภาพ สกัดกั้นการก่อเหตุยิง ระเบิด หรือเผา ซึ่งทั้งหมดเป็นแค่ปลายเหตุ เป็นเพียงอาการของปัญหา ไม่ใช่ต้นตอของปัญหา
คล้ายคลึงกับกระบวนการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่กำลังผลักดันโดยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม้จะตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยขึ้นมาแล้ว โดยมี พล.อ.อักษรา เกิดผล เป็นประธาน แต่กลับมีความคืบหน้าน้อยมาก
เหตุเพราะรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ แสดงท่าที "อยู่เหนือกว่า" อีกฝ่ายที่ต้องการให้มาพูดคุย ซึ่งแม้อาจจะถูกต้องในแง่ของจิตวิทยาความเป็นรัฐ แต่ในแง่ของการสานต่อการพูดคุยให้ประสบความสำเร็จ ต้องบอกว่า "ยาก" หากยังมีท่าทีเช่นนี้
ข้อมูลวงในเท่าที่ทราบ จนป่านนี้ "ข้อตกลง" ที่เป็นกรอบการพูดคุย หรือที่เรียกกันว่า "ทีโออาร์" ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลมาเลเซียในฐานะผู้อำนวยความสะดวก ก็ยังไม่เสร็จสิ้น สิ่งที่ฝ่ายไทยทำอยู่อย่างขะมักเขม้น คือ การส่งรายชื่อบุคคลที่อยู่ในทำเนียบขบวนการแบ่งแยกดินแดนตามข้อมูลการข่าวของไทยไปให้มาเลเซีย เพื่อขอให้จัดคนเหล่านี้มาคุย โดยเฉพาะคนที่ทางการไทยเชื่อว่าเป็นแกนนำหลักอย่าง สะแปอิง บาซอ, มะแซ อุเซ็ง, ดุลเลาะ แวมะนอ
คำถามคือ เหตุใดจึงไม่ "ทำจากเล็กไปใหญ่" ดังเช่นที่บรรพบุรุษของเราก็เคยทำสำเร็จมาแล้วในการรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทยหลังกรุงศรีอยุธยาแตกเมื่อปี พ.ศ.2310
หากคนเหล่านี้หาตัวกันง่ายๆ เรียกมาคุยกันได้ง่ายๆ หรือคิดว่าคุยกับ 2-3 คนที่เชื่อว่าเป็นแกนนำแล้วสถานการณ์จะสงบ ก็ต้องบอกว่ารัฐบาลไทยไม่ได้เข้าใจการต่อสู้ของขบวนการปลดปล่อยปัตตานีเลย
หนำซ้ำยังไม่เข้าใจการแตกตัวเป็น "เซลล์อิสระ" ในการเคลื่อนไหวและปฏิบัติการ อันเป็นหัวใจสำคัญของการก่อการร้ายในโลกยุคปัจจุบันด้วย
ทั้งหมดนี้แหละที่ทำให้การแก้ปัญหาความไม่สงบที่ชายแดนใต้ยังไปไม่ถึงไหน ทำได้แค่เพียงดีขึ้นชั่วคราวเพื่อรอวันแย่ลงหรือไม่ก็อยู่ในสภาพเดิมๆ
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ : บางส่วนของบทความชิ้นนี้ ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์แกะรอย ประจำวันจันทร์ที่ 23 ก.พ.58 ด้วย