มูลนิธิโกมล คีมทอง เชิดชู 3 บุคคลเกียรติยศ
เชิดชู ‘ครูวัชระ เกตุชู-เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์-กลุ่มละครมะขามป้อม’ บุคคลเกียรติยศ มูลนิธิโกมล คีมทอง ‘เลิศศักดิ์’ ชี้ ปชช.ถูกเลี้ยงเป็นแมวเชื่องของการปฏิรูปจาก คสช. ‘สุวิทย์ กุหลาบวงษ์’ หนุนจับตาผ่านร่าง กม.แร่ หวั่นอีสานพรุน วิกฤติถึงขั้นหายนะ
วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2558 มูลนิธิโกมล คีมทอง จัดพิธีประกาศบุคคลเกียรติยศ ประจำปี 2558 ครั้งที่ 41 โดยได้รับเกียรติจาก นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานมูลนิธิโกมล คีมทอง พร้อมด้วย พระไพศาล วิสาโล นายเดชา ศิริภัทร อ.ประสาท มีแต้ม นายบรรจง นะแส เข้าร่วมงาน ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ทั้งนี้ มีบุคคลที่ได้รับการเชิดชูเกียรติ ได้แก่ นายวัชระ เกตุชู ครูอาสาโรงเรียนวัดท่าสะท้อน จ.นครศรีธรรมราช ด้านการศึกษา, นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานกลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา ด้านสิ่งแวดล้อม และกลุ่มละครมะขามป้อม มูลนิธิสื่อชาวบ้าน ด้านศิลปวัฒนธรรม
นายเลิศศักดิ์ กล่าวว่า มีโอกาสได้อ่านผลงานของบุคคลต้นแบบหลายคน หนึ่งในนั้น คือ ครูโกมล คีมทอง ทำให้มีส่วนเข้ามาทำงานสัมผัสคลุกคลีกับชาวบ้านที่ประสบปัญหาในพื้นที่ต่าง ๆ ของไทย เกี่ยวกับการคัดค้านก่อสร้างโครงการพัฒนาขนาดใหญ่
สำหรับสถานการณ์บ้านเมืองปัจจุบัน ผู้ประสานงานกลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา พบว่า ขบวนการประชาชนมิได้สร้างกระแสการปฏิรูปที่ก้าวหน้ามานานมากก่อนรัฐประหาร และก้าวหน้ากว่าโครงสร้างอำนาจรัฐยุคใด ๆ โดยเฉพาะก้าวหน้ากว่าการปฏิรูปตามโครงสร้างและกลไกที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จัดวางและออกแบบไว้ ด้วยเหตุนี้ประชาชนจึงเป็นได้แค่ ‘แมว’ เชื่อง ๆ ของการปฏิรูปจาก คสช.
จึงขอบันทึกไว้ว่า ความอ่อนแอในขบวนการประชาชนที่ปฏิรูปโดย คสช. นั้น ไม่สามารถทำให้อ่อนแอได้เพียงฝ่ายเดียว ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากปัญญาชนสาธารณะที่สนับสนุนรัฐประหาร กวาดต้อนประชาชนให้เข้าร่วมปฏิรูป แทนที่จะสร้างพลังของปัจเจกชนและขบวนการประชาชน เพื่อต่อต้านตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของทหาร
“ตลอด 9 เดือน ของรัฐประหารครั้งนี้ และเริ่มปฏิรูปกันมา เราจึงเห็นได้ว่า “ยิ่งปฏิรูปมากเท่าไหร่ ประชาชนยิ่งอ่อนแอมากยิ่งขึ้น” ดังนั้น สิ่งที่สำคัญมากกว่า คือ การต่อต้านเผด็จการทหาร” นายเลิศศักดิ์ กล่าว และว่า ขอให้รางวัลโกมล คีมทอง ในทุก ๆ ปี กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับประชาชน คนเล็กคนน้อยในสังคม ลุกขึ้นมาต่อต้านให้มากยิ่งขึ้น เพื่อปักหลักลงให้ชัดว่า ‘รัฐประหาร’ คือ ‘ความสามานย์’ ของชนชั้นนำ ที่กดหัวประชาชนไว้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในงานยังมีการแสดงปาฐกถามูลนิธิโกมล คีมทอง โดยนายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ภาคอีสาน หัวข้อ ‘เมื่อคนจนถูกบังคับให้ยอมรับการพัฒนา’
นายสุวิทย์ กล่าวตอนหนึ่งว่า กระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนเกิดขึ้นบนพื้นที่ที่รัฐปักธงไว้แล้วว่า ต้องมีโครงการ ฉะนั้นกระบวนการดังกล่าวจึงเป็นเพียงพิธีกรรมเท่านั้น แต่ไม่ได้สร้างปัญญาให้คนตัดสินใจ ในอนาคตจะเป็นอย่างไร หากชาวบ้านต้องลุกขึ้นมาปกป้องพื้นที่จริง ๆ
สิ่งสำคัญ ขณะนี้ภาคอีสานมีการสำรวจเหมืองแร่โพแทชกว่า 10 จังหวัด เพื่อขอใบประทานบัตร มีโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จ.กาฬสินธุ์ มีโครงการผันน้ำโขง ชี มูล ทั่วภาค ซึ่งจะทำให้ภาคอีสานมีโอกาสพรุน แล้วคนในพื้นที่จะทำอย่างไร หรือนักกิจกรรมทางสังคมจะทำอย่างไร แน่นอน คงไปหวังกับกระบวนการปฏิรูปไม่ได้
“การปฏิรูปปัจจุบันไม่ควรตั้งอยู่บนฐานพึ่งพิงรัฐ แต่ต้องให้คุณค่าการรวมตัวขนาดเล็ก ด้านมิติทางวัฒนธรรม” เลขาธิการ กป.อพช.อีสาน กล่าว
เมื่อถามถึงกรณีกระทรวงอุตสาหกรรมเดินหน้าโครงการเหมืองแร่โพแทชอาเซียน นายสุวิทย์ ระบุว่า รัฐบาลไทยกำลังส่งสัญญาณให้กลุ่มทุนจากประเทศจีน เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า เหมืองแร่โพแทชเดินหน้าเกือบทุกพื้นที่ ซึ่งใน จ.ชัยภูมิ สิ่งที่ต้องการมากกว่าแร่ คือ เกลือ จำนวนมาก เพื่อนำไปสร้าง ‘เคมิคอล คอมเพล็กซ์’
“การทำเหมืองแร่โพแทชไม่ช่วยให้ปุ๋ยมีราคาถูกลง เพราะราคาย่อมขึ้นกับกลไกตลาด เหมือนกับไทยผลิตน้ำตาลได้ แต่กลับพบราคาไม่ถูกลง” เลขาธิการ กป.อพช.อีสาน กล่าว และว่า ภาคอีสานมีโอกาสหายนะ และจะเกิดกรณีแบบนี้เรื่อย ๆ
นายสุวิทย์ กล่าวอีกว่า ให้ติดตามร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แร่ ฉบับใหม่ ที่มีข้อบกพร่องในหลายมาตรา โดยขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา คาดว่าจะเสร็จสิ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 และเข้าสู่การพิจารณาของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป หากประกาศใช้จะถือเป็นกฎหมายที่แย่มาก
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า มูลนิธิโกมลคีมทอง จัดตั้งขึ้นภายหลังจากการเสียชีวิตของ ‘นายโกมล คีมทอง’บัณฑิตหนุ่มจากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือครูโกมล โรงเรียนเหมืองห้วยในเขา ต.บ้านส้อง กิ่ง อ.เวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อปี 2514 ซึ่งเป็นครูผู้เป็นแบบอย่างนำมาสู่การสร้างความศรัทธาให้กับผู้อยู่ข้างหลัง
ทั้งนี้ นอกจากตั้งมูลนิธิขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แล้ว ยังต้องการสานต่อและสนับสนุนผู้มีอุดมคติให้แพร่หลายเป็นจริงในสังคม โดยให้มีความเสียสละเพื่อสังคม และมีอุดมคติเป็นผู้นำในทางที่ถูกต้อง .