นักวิชาการย้ำชัดไม่ขอเป็นตรายางแผนบริหารจัดการน้ำฉบับคสช.
วสท.ยันไม่ขอเป็นตรายางแผนบริหารจัดการน้ำฉบับคสช. ชี้แผนงานนี้ไม่ใช่ยุทธศาสตร์เป็นเพียงกรอบแนวคิด ระบุไม่มีใครกำหนดกลยุทธ์จัดการน้ำได้ดีเท่าประชาชน ย้ำหากโครงการน้ำผ่านในรัฐบาลทหารปัญหาจะยิ่งทวีความรุนแรง
เมื่อเร็วๆ นี้ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.)จัดเสวนาเรื่อง "จุดยืนของนักวิชาการวสท.ต่อร่างแผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำฉบับคสช. (ฉบับละเลยความเห็นของประชาชน) ณ ห้องประชุม 1 ชั้น ชั้น 4 วสท.
รศ.ดร.สุวัฒนา จิตตลาดากร ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการสาขาวิศวกรรมแหล่งน้ำวสท. และที่ปรึกษาคณะกรรมการกำหนดนโยบายการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำคสช. กล่าวถึงปัญหาเรื่องน้ำท่วมที่ผ่านมาเกิดจากการบริหารที่ผิดพลาด เกิดจากการเปิดปิดประตูน้ำผิด การบริหารจัดการได้พื้นที่ และแผนยุทธศาสตร์ในการจัดการน้ำ ไม่ใช่แค่เรื่องการก่อสร้างเท่านั้น สิ่งที่เราคาดหวังมี 2 ส่วน คือส่วนที่ปรับเกณฑ์ของการบริหารมาตรการที่ไม่ใช่สิ่งก่อสร้าง เช่น ในพื้นที่ที่โดยปกติน้ำท่วมอยู่แล้วไปสร้างคันกั้นน้ำ แบบโครงการ 3.5 แสนล้านบาท แบบนั้นไม่ใช่ อีกอย่างคือการมีส่วนร่วมในการร่วมคิดของภาคประชาสังคม ซึ่งในแผนการบริหารจัดการน้ำฉบับล่าสุดก็ไม่มี
รศ.ดร.สุวัฒนา กล่าวว่า แผนงานฉบับนี้เป็นเพียงกรอบแนวคิดยังไม่ใช่ยุทธศาสตร์ทั้งหมดดังนั้นนักวิชาการส่วนใหญ่เห็นว่าการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำสามารถทำเป็นโครงการเล็กๆในชุมชนแล้วก็กระจายโครงการไปได้ จริงๆทำได้ในทางเทคนิค เพียงแต่เขาไม่ทำ เพราะว่าไม่ถูกใจโครงการเล็กงบฯ น้อย สิ่งที่เราจะทำคือพยายามดันยุทธศาสตร์ให้ไปที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)
“นักวิชาการต้องออกมามีบทบาท หากปล่อยให้แผนการบริหารจัดการน้ำครั้งนี้ออกมา ซึ่งในกรรมการแต่ละชุดที่ตั้งมีนักวิชาการของวิศวกรรมสถานเป็นกรรมการ ส่วนผมกับอาจารย์ปราโมทย์เป็นที่ปรึกษาของชุดใหญ่ ก็เหมือนว่าต้องไปเป็นตรายางให้กับโครงการนี้ ซึ่งยืนยันจุดยืนชัดเจนว่า เราคงไม่เป็นตรายางให้ใคร ในขณะที่เราวิพากษ์โครงการนี้มาตลอดระยะเวลา 9 เดือน นี่คือเหตุผลที่ออกมาค้านและหากปล่อยให้รัฐบาลทหารอนุมัติโครงการเหล่านี้ ผลกระทบจะยิ่งเลวร้ายไปกว่าเดิม"
ด้านนายปราโมทย์ ไม้กลัด ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการสาขาวิศวกรรมแหล่งน้ำวสท.และที่ปรึกษาคณะกรรมการกำหนดนโยบายการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำคสช. กล่าวถึงการที่นักวิชาการออกมาวิพากษ์โครงการนี้แบบนี้ เพราะเป็นโครงการที่คิดแบบยุทธศาสตร์ของ 2 องค์กร คิดเองแล้วก็นำไปปฏิบัติเอง ซึ่งวิธีการคิดแบบนี้ผิด ต้องมีการคิดนอกกรอบมีการปรับยุทธศาสตร์ ดังนั้นเมื่อพูดถึงการปฏิรูป การปฏิรูปก็คือการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะต้องยกเครื่องกันครั้งใหญ่ โดยจะต้องวางแผนการบริหารจัดการน้ำให้เป็นระบบ
สำหรับปัญหาขณะนี้มีอยู่ 6 ข้อใหญ่ๆ คือ 1.นโยบายไม่ชัดเจน 2.หน่วยงานมีภาระกิจซ้ำซ้อน 3.ทิศทางในการบริหารไม่เสมอภาค 4.การบริหารจัดการงบประมาณไม่มีประสิทธิภาพ 5.ข้อมูลต่างๆกระจัดกระจายและเข้าถึงยาก และ 6.แผนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เป็นไปได้ยาก
นายปราโมทย์ กล่าวด้วยว่า การปฏิรูปให้เกิดการขับเคลื่อนจำเป็นจะต้องออกมาในรูปแบบของพระราชบัญญัติการจัดการน้ำ แต่ในขณะนี้เรากำลังถูกสกัดกั้น เพราะถูกชะลอเรื่องพ.ร.บ.น้ำ ซึ่งเปรียบเสมือนกฎหมายแม่บท เพราะพ.ร.บ.ดังกล่าวจะสร้างเกณฑ์ในการบริหารจัดการน้ำไม่ให้เกิดการผิดเพี้ยน การคิดแผนบริหารจัดการน้ำไม่ใช่ว่า ไม่เห็นด้วย เพียงแต่จะคิดอย่างไรให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมและอยู่บนหลักการของการบริหารที่ถูกต้อง
"และที่สำคัญคือแผนการบริหารฉบับคสช.นั้น ไม่ใช่แผนยุทธศาสตร์ที่แท้จริง แต่นี่คือแผนการบริหารงานงบประมาณรายปี"
ขณะที่รศ.ดร.คมสัน มาลีสี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า นักวิชาการถูกหลอกเสมอในกระบวนการต่างๆ บางครั้งความหวังดีของนักวิชาการเหมือนจะประกอบไปด้วยความยุ่งยาก ดังนั้นการจะทำอะไรด้วยความรอบคอบหรือเป็นไปตามขั้นตอนต่างๆ ที่มีช่วงเวลาเข้ามาเกี่ยวข้อง ผู้บริหารหรือผู้มีอำนาจส่วนใหญ่มักจะไม่ชอบเรื่องแบบนี้ จึงทำให้ที่ผ่านมาส่วนหนึ่งของหนัก วิชาการกลายเป็นตรายางให้กับการบริหารงานต่างๆ มาโดยตลอด
“การบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน เราบอกว่าเป็นการจัดการที่ไม่ถูกทาง เมื่อคนที่มาดูแลประเทศตอนนี้คือ คสช. เราหวังว่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้นและมีความหวังกว่าที่ผ่านมา”
รศ.ดร.คมสัน กล่าวถึงยุทธศาสตร์การจัดการน้ำระดับชุมชน คือการให้ชาวบ้านจัดการดูแลชุมชนตนเองได้ แต่ที่ผ่านมางบประมาณมีไม่เพียงพอ ไม่ใช่แก้ปัญหายุทศาสตร์น้ำเพื่อชุมชนด้วยโครงการขนาดใหญ่แล้วตอบปัญหาเหล่านี้ด้วยโครงการสร้างเขื่อน หากวันนี้คิดแค่นี้บอกได้คำเดียวว่าคิดสั้นไป
"ส่วนสำคัญ คือ ภาคประชาสังคมที่ควรเอาความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นมาคิดร่วมกัน มาทำงานประสานกันในการแก้ปัญหาวิธีนี้น่าจะเป็นทางออกและไม่ก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง"
ส่วนผส.ดร.สิตางค์ุ พิลัยหล้า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า แผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำฉบับคสช.เป็นแผนที่ขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ไม่ได้สนใจเรื่องจากเวทีรับฟังความคิดเห็น แผนไม่เป็นไปตามการพัฒนาแบบเศรษฐกิจพอเพียงตามที่พยายามกล่าวอ้าง และที่สำคัญไปกว่านั้นโครงการนี้จะแย่ยิ่งกว่า 3.5 แสนล้านบาท เพราะใช้เงินมากกว่า เกลือหายมากกว่า
"สิ่งเหล่านี้พวกเรานักวิชาการปล่อยให้ออกไปไม่ได้ นักวิชาการศึกษาโครงการเหล่านี้มาตั้งแต่ต้น และยังยืนยันจุดเดิมว่าไม่ยอมเป็นตรายางให้สิ่งที่กำลังจะออกไปมาตราหน้าว่าวสท.เห็นชอบแล้ว ผ่านแล้ว บอกว่าดีทุกอย่างแล้ว"
ดร.สิตางค์ุ กล่าวด้วยว่า กฎหมายที่เป็นแม่บทอย่าง พ.ร.บ.น้ำ นักวิชาการพยายามผลักดันพ.ร.บ.น้ำ แต่ก็ถูกคณะรัฐมนตรี (ครม.) เลื่อนมาถึง 3 ครั้ง วันนี้จึงอยากฝากคำถามไปถึงผู้ที่รับผิดชอบว่า มีอะไรที่สำคัญกว่าเรื่องของน้ำ เพราะน้ำคือทรัพยากรที่ทุกคนต้องดื่มต้องใช้ และการกำหนดกลยุทธ์ของการบริหารจัดการน้ำก็ไม่มีใครทำได้ดีเท่าภาคประชาชน แต่ที่ผ่านมา 12 ปี เสียงของประชาชนคือสิ่งที่ไม่เคยมีใครฟัง ปัญหาจึงไม่ได้รับการแก้ไข และหากปล่อยให้แผนที่ไม่รับฟังความเห็นของประชาชนผ่านไปในรัฐบาลทหารปัญหาจะยิ่งรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม
ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า นักวิชาการวสท. ในฐานะที่ได้ร่วมแสดงความคิดเห็น ต่อร่างแผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำฉบับนี้ มาตลอดระยะเวลา 9 เดือน ในคณะกรรมการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และคณะทำงานเพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำ ตามคำสั่งแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 85/2557 นั้น มีประเด็นท้วงติงต่อแผนยุทธศาสตร์4 ประเด็นดังนี้
1.รายละเอียดที่ปรากฏในร่างแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำฉบับนี้ ตั้งแต่ร่างที่ 1 ถึงร่างที่ 3 ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์การจัดทำ
2.เนื้อหาหลายส่วนในร่างแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำฉบับนี้ แสดงให้เห็นถึงการขาดความเข้าใจของคณะทำงาน ในกระบวนการจัดทำแผนยุทธศาสตร์
3.ร่างแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำฉบับนี้ ยึดติดอยู่กับแผนการใช้งบประมาณแบบเดิม ๆ ที่ให้ความสำคัญกับการทำโครงการ แต่ขาดการพิจารณาความสำคัญและความเร่งด่วนของปัญหา
4.ร่างแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำฉบับนี้ ละเลยและไม่นำความคิดเห็นของภาคประชาชน ที่มาร่วมในเวทีรับฟังความคิดเห็นทั้ง 9 เวทีทั่วประเทศ