“อภิสิทธิ์” แนะยุทธศาสตร์พลังงาน : ประสิทธิภาพ มั่นคง และเป็นธรรม
"เมื่อมีแหล่งสัมปทานที่มีแหล่งสำรองที่รู้อยู่แล้ว สามารถมีข้อมูลนำมาใช้ในการจัดการ หลายประเทศใช้วิธีจ้างการผลิต เหตุผลอะไรที่เราจะต้องกลับไปให้เป็นรูปแบบสัมปทาน เป็นที่มาที่เป็นข้อเสนอและเป็นคำถามที่เราประสงค์จะได้คำตอบ"
บนเวทีสัมมนารับฟังความคิดเห็น “เดินหน้าประเทศไทย เพื่อความมั่นคงทางพลังงานที่ยั่งยืน” ที่ทำเนียบรัฐบาล “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อดีตนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับเกียรติจากรัฐบาลคสช. ร่วมแสดงข้อคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาพลังงานในฐานะตัวแทนภาคประชาชน สำนักข่าวอิศรา ถอดความประเด็นสาระสำคัญ มานำเสนอดังนี้
............
... ประเด็นพลังงานได้กลายเป็นปมความขัดแย้งในสังคม จนกระทั่งมีเสียงเรียกร้องว่าเรื่องพลังงานจำเป็นจะต้องปฏิรูปในกรอบของการปฏิรูปประเทศ ผมจึงตั้งประเด็นและให้ข้อคิดหาทางออกกับเรื่องพลังงาน
ประการแรก อยากให้ตระหนักถึงลักษณะของธุรกิจพลังงาน 3 ประการ ประการแรก ธุรกิจพลังงานเป็นธุรกิจที่มีการผูกขาดโดยธรรมชาติสูงมาก ดังนั้นรัฐจึงมีบทบาทสำคัญในการดูแลการทำงานของกลไกตลาดและการทำงานภาคเอกชน มีการกำกับดูแลเพื่อรักษาผลประโยชน์ส่วนรวม รักษาผลประโยชน์ผู้บริโภค และรักษาผลประโยชน์ประชาชนในฐานะเจ้าของทรัพยากร ที่เพียงอนุญาตให้ภาคเอกชนมาดำเนินการในการบริหารจัดการ
ประการที่สอง ธุรกิจพลังงานเป็นธุรกิจที่มีกระบวนการผลิตส่งผลกระทบต่อประชาชน ชุมชน และสิ่งแวดล้อมมาก ประสบการณ์ในอดีตมีประชาชนหลายชุมชนประสบปัญหากับการประกอบกิจการธุรกิจพลังงาน
วันนี้เราประสงค์ที่จะเห็นสิทธิของประชาชน สิทธิของชุมชน ในการจะได้รับการดูแลคุ้มครองจากผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรม และมีกลไกที่มีประสิทธิภาพในการจัดการ
ประการที่สาม ธุรกิจพลังงานเป็นธุรกิจที่ส่งผลกระทบกับการครองชีพของประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ค่าใช้จ่ายของประชาชนตั้งแต่การขนส่งซึ่งเป็นต้นทุนของสินค้าทุกตัว ตลอดจนการครองชีพ แม้กระทั่งการประกอบอาหาร ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน
กล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า แรงกระตุ้นหนึ่งซึ่งทำให้คนหันมาสนใจเรื่องพลังงานมากขึ้น คือ สถานการณ์ปัจจุบันที่เป็นเรื่องไม่น่าเชื่อว่า ราคาพลังงานในโลกลดลงครึ่งหนึ่ง แต่คนไทยต้องใช้รถเมล์แพงขึ้น คนไทยต้องใช้แท็กซี่แพลงขึ้น คนไทยซื้อข้าวแกงแพงขึ้น
เศรษฐกิจฝืดเคืองซบเซา แต่ดัชนีราคาหรือเงินเฟ้อในหมวดเหล่านี้กลับเพิ่มขึ้น จึงเกิดคำถามว่า หลักการที่ปรากฏอยู่ในกฎหมายไทยและเป็นหลักการสากลว่า ทรัพยากรด้านพลังงานซึ่งบัญญัติไว้ว่าเป็นของประชาชน ยังคงเป็นของประชาชนอยู่จริงหรือ
ด้วยเหตุผลนี้ จึงอยากให้มีเวทีเพื่อมากำหนดยุทธศาสตร์ แนวทางการบริหารจัดการเรื่องพลังงานที่ตอบโจทย์ 3 ข้อ 1.ประสิทธิภาพ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ายังหมายถึงการเปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจเอกชนเข้ามาเกี่ยวข้องในการบริหารจัดการ 2 เราต้องการความมั่นคง 3 เราต้องการประสงค์ที่จะเห็นความเป็นธรรมเกิดขึ้นในการบริหารจัดการพลังงาน
ผมย้ำว่าเวทีวันนี้ ไม่ใช่เวทีมาถกเถียงกันว่า ระบบสัมปทานที่แบ่งเงินกับระบบสัมปทานที่แบ่งปันผลผลิต ระบบใดดีกว่ากัน ไม่ใช่เวทีที่เถียงกันว่าควรจะเก็บน้ำมันและแก๊สไว้ใต้ผืนดิน ใต้ทะเล หรือจะเอาออกมาให้เร็วที่สุด
แต่เวทีวันนี้ต้องตอบโจทย์ว่า มีหลักคิดการบริหารจัดการ ตามเป้าหมายประสิทธิภาพ ความมั่นคง และความเป็นธรรม อย่างไร ที่เกี่ยวข้องกับการเปิดสัมปทานในรอบนี้ก็เพราะว่า การดำเนินการเปิดสัมปทานโดยมีความมุ่งหมายที่จะแบ่งรายได้ อยู่ภายใต้กฎกติกาที่สำคัญคือ กฎหมายปิโตรเลียม ซึ่งร่างขึ้นมาและบังคับใช้เมื่อ 44 ปีที่แล้ว
ทำขึ้นมาในสถานการณ์ที่ประเทศไทยในวันนั้น ไม่มีทั้งประสบการณ์ ขาดความรู้ ขาดกำลัง ในการดำเนินการเรื่องการสำรวจด้านการผลิตปิโตรเลียม จึงจำเป็นต้องให้ภาคเอกชน เข้ามาดำเนินการทั้งหมด ทั้งรับความเสี่ยง ลงทุน แล้วต้องอาศัยความรู้ของเขาและเชื่อเขา โดยหวังผลในเรื่องรายได้คืนกลับมาให้ประเทศ
แต่เวลา 44 ปีผ่านไป สถานการณ์เรื่องพลังงานและเรื่องอื่นๆ ได้เปลี่ยนแปลงโดยสิ้นเชิง วันนี้ประเทศไทยมีประสบการณ์ มีความรู้ ทั้งในเรื่องการสำรวจ แหล่งสำรอง การผลิต จึงเป็นเหตุผลง่ายๆ ว่าเราควรจะมีอำนาจในการต่อรองมากขึ้น จึงควรมีวิธีการที่จะหาทางจัดสรรผลประโยชน์ให้เกิดกับส่วนรวมและประชาชนมากขึ้น
… 44 ปีที่แล้ว วิสาหกิจที่มาจัดการเรื่องของพลังงานในภาครัฐเป็นของภาครัฐจริงๆ คือ รัฐเป็นเจ้าของ 100 % แต่วันนี้ไม่ใช่
วันนี้วิสาหกิจที่เราเรียกว่ารัฐวิสาหกิจ เป็นของภาคเอกชน ผู้ถือหุ้นประมาณครึ่งหนึ่ง แม้กระทั่งบริษัทที่ทำหน้าที่ในการสำรวจและผลิต เข้าไปอยู่ในตลาดหลักทรัพย์เรียบร้อยแล้ว
จึงเกิดคำถามว่า เราให้เอกชนบริหารพลังงานแล้วเก็บรายได้ รายได้ดังกล่าวจะกลับคืนสู่ประชาชนผู้เป็นเจ้าของทรัพยากรโดยตรงได้อย่างไร
นอกจากนั้น ในสถานการณ์ปัจจุบัน ทราบดีว่าเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว โดยเฉพาะเรื่องพลังงาน ส่งผลให้เกิดความผันผวนต่อราคาพลังงาน
กล่าวโดยเฉพาะในสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยก็จะมีเรื่องใหม่เกิดขึ้นคือ เราจะมีแปลงสัมปทานที่หมดอายุสัมปทานในเร็วๆนี้ แต่แหล่งสำรองในแปลงเหล่านั้นยังคงมีอยู่ กฎหมายในอดีตไม่ได้เตรียมเรื่องนี้ไว้
ไม่ได้เตรียมว่า เมื่อมีแหล่งสัมปทานที่มีแหล่งสำรองที่รู้อยู่แล้ว สามารถมีข้อมูลนำมาใช้ในการจัดการหลายประเทศ ใช้วิธีจ้างการผลิต แต่เหตุผลอะไรที่เราจะต้องกลับไปให้เป็นรูปแบบสัมปทาน ให้เอกชน ไปดำเนินการแบบที่ทำมา
...ความเปลี่ยนแปลงทั้งหลายเหล่านี้ เป็นที่มาที่เป็นข้อเสนอและเป็นคำถามที่เราประสงค์จะได้คำตอบ เรามีเหตุผลอะไร ที่จะไม่แก้ไขกฎหมายในประเด็นดังต่อไปนี้
หนึ่ง แก้ไขกฎหมายเพื่อเพิ่มสิทธิให้กับประชาชนและชุมชน ทั้งในการมีส่วนร่วม ทั้งในการเป็นเจ้าของ ทั้งในการได้รับความคุ้มครองจากผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเขา
ผมคิดว่า เราไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่า ประสบการณ์ในอดีตที่ผ่านมาเป็นบ่อเกิดของความไม่ไว้วางใจของประชาชนในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจพลังงาน การแก้กฎหมายในประเด็นนี้จะช่วยลดความขัดแย้ง ลดความตึงเครียด และให้ความมั่นใจกับประชาชนในการดำเนินการต่อไป
สอง เรามีเหตุผลอะไรที่จะไม่แก้ไขกฎหมายให้รัฐบาลไทยมีทางเลือกมากขึ้น วันนี้เมื่อสอบถามว่าเราจะใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต ระบบการจ้างผลิต ทำได้หรือไม่ คำตอบที่ได้รับจากหลายฝ่ายคือทำไม่ได้ เพราะกฎหมายไม่อนุญาตให้ทำ
เรามีทางเลือกแก้กฎหมายให้รัฐบาลของเรา ทำให้มีทางเลือกเป็นหนึ่ง สอง สาม ไม่มีทางเป็นผลเสียกับส่วนรวมเลยครับ ส่วนจะเลือกทางที่หนึ่งเหมือนเดิม หรือสอง สาม เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายมาร่วมกันพิจารณา เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด แต่ไม่มีเหตุผลที่จะไม่แก้ไขกฎหมายเพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับรัฐ
สาม เรามีเหตุผลอะไรที่จะไม่แก้ไขกฎหมาย กติกา เพื่อเอื้อให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น เพราะระบบที่ทำอยู่นั้น อาจจะบอกว่าคนที่สำรวจและผลิตนั้นเขารับความเสี่ยง แต่กติกาที่เป็นอยู่ ทำให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ก็ดี หรือผู้ประกอบการเดิมก็ดี ย่อมอยู่ในฐานะที่ได้เปรียบ
ทำให้การแข่งขัน ลดน้อยลงโดยธรรมชาติ เมื่อการแข่งขันลดน้อยลง เงื่อนไขหรือประโยชน์ตอบแทนที่รัฐพึงจะได้รับ ย่อมลดลงไปในตัวด้วย
สี่ เรามีเหตุผลอะไรที่จะไม่แก้ไขกฎหมายที่อุดช่องว่าง ช่องโหว่ หรือจุดอ่อน ของกฎหมายเดิม ยกตัวอย่าง ในหลายประเทศการที่เข้ามาประกอบธุรกิจสำรวจหรือผลิตในแหล่งพลังงานต่างๆ ถ้ามีหนึ่งบริษัทหรือหนึ่งนิติบุคคล แต่ได้สัมปทานไปหลายสัมปทาน เขาจะไม่อนุญาตให้เอาค่าใช้จ่ายของแหล่งหนึ่งไปหักออกจากอีกแห่งหนึ่ง
แต่ของเราไม่ได้ห้ามไว้ ทำให้เกิดความเสียเปรียบได้เปรียบระหว่างผู้ประกอบการด้วยกัน และเท่ากับว่า ที่เราโยกความเสี่ยงไปให้กับเอกชน เวลาเขาสำรวจและมีค่าใช้จ่ายนั้นไม่ใช่ เพราะเขาอาจสามารถเอาค่าใช้จ่ายนั้นมาหักออก และเท่ากับว่ารัฐเองก็ต้องแบกรับความเสี่ยงและภาระไปด้วยในรูปแบบของภาษีที่ไม่สามารถจัดเก็บได้
ประเด็นสุดท้าย ต้องแก้ไขปัญหาเรื่องความขัดกันของผลประโยชน์ ทำให้เห็นความโปร่งใสของข้อมูลต่างๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการเพิ่มการแข่งขันและทำให้เกิดความไว้วางใจมากขึ้น
เพราะฉะนั้น ข้อมูลต่างๆที่จะแสดงออกมาเกี่ยวกับประโยชน์ที่ได้รับในระบบเดิม ตลอดจนการศึกษาต่างๆที่บ่งบอกถึงโอกาสที่เราจะปรับปรุงได้ เป็นสิ่งที่จำเป็น
… สำหรับประเด็นเกี่ยวข้องกับความมั่นคง การแก้ไขกฎหมาย ผมเชื่อว่าในยุคนี้ ไม่ได้ใช้เวลานาน ถึงแม้เราจะยื่นในหนังสือว่าไม่เกิน 2 ปี แต่ผมเชื่อว่าไม่เกินครึ่งปี การแก้กฎหมายก็เสร็จ ที่สำคัญก็คือ นอกจากการแก้กฎหมายแล้วจะต้องมีการทบทวนด้วยว่า การจัดสรรพลังงานนั้นควรจะเป็นอย่างไร
เพราะในเรื่องการจัดสรรและความมั่นคง ต้องบอกว่าการเลื่อนเวลาไปประมาณ 6 เดือน 1 ปี หรือ 2 ปี จะกระทบต่อความมั่นคงก็ต่อเมื่อระยะเวลาเพียง 2 ปี สามารถเปลี่ยนของที่มีค่าอยู่ใต้ดินหรือใต้ทะเลให้เป็นของที่ไม่มีค่าได้
แต่เกี่ยวข้องในประเด็นว่า ถ้าเราต้องการความมั่นคงด้านพลังงาน นั่นหมายความว่าเราควรมีสิทธิในการควบคุมพลังงานมากขึ้น ไม่ใช่ควบคุมตัวเงิน
…ตัวอย่างนโยบายพลังงานที่บ่งบอกว่า ทำไมประเด็นความมั่นคงมาเกี่ยวข้องกับความเป็นธรรมและการจัดสรร นั่นคือนโยบายเรื่องก๊าซหุงต้ม
สังคมถูกบอกว่า คนไทยใช้ก๊าซเยอะจนต้องนำเข้า แล้วจ่ายแพงขึ้น ต้องขึ้นราคา แต่สังคมไม่ทราบว่า หากมองย้อนกลับไปถึงปี 2551 ประชาชนใช้ก๊าซหุงต้มครัวเรือนเพิ่มขึ้นปีละประมาณร้อยละ 5 ตามสัดส่วนที่ควรจะเป็นและก๊าซที่ใช้ในการหุงต้มในประเทศทั้งหมด เราจัดหาได้เพียงพออีกนาน
แต่ที่ไม่พอ เพราะมีการไปใช้ในเรื่องวัตถุประสงค์อื่น โดยเฉพาะปิโตรเคมีเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 68 นับแต่ปี 2551 ถามว่าใครควรจะรับต้นทุนที่เกิดขึ้น ในการนำเข้าพลังงาน คนที่หุงข้าวหรืออุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งเอาไปใช้ในการทำกำไรและสามารถขายผลิตภัณฑ์ได้
ผมเรียนว่า เคยได้รับคำตอบ สั้นๆว่า การจุดไฟหุงข้าวไม่สร้างมูลค่า แต่จุดไฟหรือเอาไปใช้ผสมปิโตรเคมีสร้างมูลค่า แต่ผมต้องถามว่า มูลค่าที่เพิ่มขึ้นตกอยู่กับใคร คืนให้กับประชาชนได้อย่างไร
…สุดท้าย ขออนุญาตแปลซึ่งอาจจะไม่ตรงนักหรือปรับคำของท่านมหาตมะ คานธี ทรัพยากรมีพอ สำหรับความจำเป็นของมนุษย์ทุกคน แต่ไม่พอสำหรับความโลภของมนุษย์
ขอบคุณภาพจาก: http://www.tnamcot.com