ถกเวทีพลังงานไร้ข้อสรุป ภาคปชช.ย้ำแก้กม.ก่อนเปิดสัมปทานปิโตรฯ-รัฐยันเดินหน้าต่อ
เวทีถกพลังงาน ทำเนียบฯ ไร้ข้อยุติ ภาคประชาชนย้ำรัฐต้องแก้กฏหมายก่อนเปิดสัมปทานปิโตรเลียม - ภาครัฐแจงจำเป็นต้องเปิดสัมปทาน หวั่นเสี่ยงกระทบความมั่นคงพลังงาน
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2558 รัฐบาลจัดเวทีสัมมนารับฟังความคิดเห็น “เดินหน้าประเทศไทย เพื่อความมั่นคงทางพลังงานที่ยั่งยืน” ณ ทำเนียบรัฐบาล โดยมีตัวแทนภาครัฐและภาคประชาชนที่เห็นด้วยและคัดค้านการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 เข้าร่วมให้ข้อมูลทั้ง 2 ฝ่าย
นายธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง ตัวแทนภาคประชาชน กล่าวว่า รัฐบาลควรจะการแก้ไขกฎหมายให้มีความชัดเจนก่อนเปิดสำรวจปิโตรเลียมโดยเฉพาะมาตรการด้านภาษีเพื่อประโยชน์ของประเทศ ส่วนข้อถกเถียงเรื่องระบบสัมปทานหรือระบบแบ่งปันผลผลิตมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน แต่การตัดสินสำคัญอยู่ที่กระบวนการทำงานและธรรมาภิบาลที่จะออกกติกาให้ภาคประชาชนเชื่อมั่นและได้ประโยชน์สูงสุด
ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี นักวิชาการด้านพลังงาน ระบุว่า ภาคประชาชนไม่ได้ต่อต้านการสำรวจปิโตรเลียม แต่ที่ติดใจคือกระบวนการในรูปแบบที่ใช้อยู่ เนื่องจากมีจุดอ่อนหลายเรื่องที่ต้องแก้ไข ดังนั้นควรเขียนกฏหมายเพื่อให้มีทางเลือกที่เหมาะสม
ดร.นพ สัตยาศัย ตัวแทนภาคประชาชน กล่าวว่า เห็นด้วยกับการให้สำรวจปิโตรเลียม แต่ขอให้แยกออกจากการขุดเจาะ เพราะที่ผ่านมาสัมปทานเหมารวมกับการขุดเจาะ ดังนั้นควรสำรวจเพื่อให้ได้ข้อมูลเต็มที่แล้วนำข้อมูลที่สมบูรณ์ไปใช้ในการประมูล
นางสาวรสนา โตสิตระกูล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ย้ำว่า จะต้องมีการแก้ไขกฎหมายก่อนเปิดเปิดให้สัมปทานปิโตรเลียมโดยเฉพาะเรื่องภาษีและอธิปไตย รวมทั้งต้องให้สิทธิประชาชนในการเข้ามามีส่วนร่วมการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างแท้จริง
ด้านนายมนูญ ศิริวรรณ สมาชิกสปช. ตัวแทนภาครัฐ ชี้แจงว่า การสำรวจปิโตรเลียมรอบที่ 21 มีความเร่งด่วน เพราะไม่เพียงแต่การค้นหาทรัพยากรธรรมชาติขึ้นมาใช้ประโยชน์ แต่ยังเป็นเรื่องการบริหารความเสี่ยงความมั่นคงด้านพลังงาน หากไม่สำรวจจะมีความเสี่ยงสูง ขณะเดียวกันต้องศึกษาระบบที่ดีและเหมาะสมสำหรับประเทศควบคู่ไปด้วย
นายมนูญ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ก๊าซฯจากแหล่งเยตากุนในพม่าลดลง 250 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ทำให้ เช่นเดียวกับแหล่งยาดานาที่ลดลง 250 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ส่วนแหล่งเจดีเอจากมาเลเซียก็จะลดลง 300 ล้านลูกบากศ์ฟุต/วันในเดือนเมษายนนี้ ส่งผลให้ให้ปริมาณก๊าซฯหายไปเกือบ 1 พันล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน
"นี่คือภัยคุกคามด้านพลังงานที่เกิดขึ้นจริง ไม่ใช่เรื่องมโน ต้องหาทางป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น กระทรวงพลังงานที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบด้านการบริหารความเสี่ยงความมั่นคงด้านพลังงาน คงรอไม่ได้ เพราะขณะนี้เราช้ามานานแล้ว และจะปล่อยให้ช้ากว่านี้ไม่ได้แล้ว" นายมนูญ กล่าว
ขณะที่ ดร.คุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ขณะนี้ปริมาณสำรองปิโตรเลียมของไทยลดลงทุกวัน แต่ปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงมีความจำเป็นที่จะต้องจัดหาพลังงานเพื่อความมั่นคงของประเทศ
ขอบคุณภาพจาก : www.tnnthailand.com