ควันหลงข่าว"พัลลภ"คุม กอ.รมน. กับเสียงที่ทดท้อของญาติเหยื่อกรือเซะ
แม้ท่าทีล่าสุดของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี ที่ปรึกษานายกฯ จะส่งผลให้ข่าวความพยายามผลักดัน พล.อ.พัลลภ เข้าไปนั่งในโครงสร้างกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ยากที่จะเป็นจริงได้ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลไม่เคยมีความคิดเช่นนี้
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้สัมภาษณ์เมื่อวันอังคารที่ 20 ก.ย.2554 อ้างว่าไม่รู้เรื่องตามที่เป็นข่าวเลย ทั้งๆ ที่มีหนังสือจากรัฐบาลหารือข้อกฎหมายไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาว่านายกฯสามารถมอบอำนาจในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (ผอ.รมน.) ให้ที่ปรึกษาของตนได้หรือไม่ ขณะที่ พล.อ.พัลลภ ก็เปิดแถลงข่าวในวันถัดมา ปกป้องนายกฯว่าไม่ทราบเรื่องจริงๆ เนื่องจากทีมงานไม่ได้รายงานให้ทราบ แต่ก็ยอมรับว่าตัวเขาอยากเข้าไปทำงานใน กอ.รมน.มาก เพราะมีความถนัด และทีมที่ปรึกษานายกฯเห็นว่าเหมาะสมที่จะเข้าไปสะสางปัญหาภาคใต้
ทั้งยังเห็นว่าข้อท้วงติงจากหลายฝ่ายเรื่องความไม่เหมาะสม เพราะเคยใช้ความรุนแรงสั่งยิงเข้าไปในมัสยิดกรือเซะ ในเหตุการณ์วันที่ 28 เมษายน 2547 นั้น ไม่เป็นธรรมกับตัวเขา เป็นเพียงการหยิบยกประเด็นขึ้นมาจ้องทำลาย
แต่ความเคลื่อนไหวทั้งหมดได้ทำให้ผู้คนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เสียความรู้สึกที่มีต่อรัฐบาลไปไม่น้อย โดยเฉพาะญาติผู้สูญเสียในเหตุการณ์กรือเซะเอง และก็ทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาล “ติดลบ” ทั้งๆ ที่เพิ่งทำงานมาแค่เดือนเศษ
คอลีเยาะ หะหลี อนุกรรมการสิทธิมนุษยชนภาคใต้ และหนึ่งในผู้สูญเสียบิดาในเหตุการณ์กรือเซะ กระทั่งเคยถูกมองเป็น “ลูกกบฏ” กล่าวว่า ถ้ามีความพยายามผลักดัน พล.อ.พัลลภ เข้าไปดำรงตำแหน่งใน กอ.รมน.จริง ก็ถือว่าคิดผิดอย่างแรง ที่พูดอย่างนี้ไม่ได้มองด้วยอคติ แต่ประเมินจากความรู้สึกของคนสามจังหวัดที่มีต่อ พล.อ.พัลลภ แล้วพบว่าผู้คนจำนวนมากยังค้างคาใจบทบาทของ พล.อ.พัลลภ ในหลายเรื่อง และไม่เคยมีคำตอบจากภาครัฐ
“ถ้า พล.อ.พัลลภ ได้ทำหน้าที่ใน กอ.รมน. ฉันถือเป็นการหยามศักดิ์ศรี ดูหมิ่นคนในสามจังหวัดอย่างมาก เพราะในรัฐบาลมีผู้ทรงคุณวุฒิคนอื่นอีกมากมาย แต่กลับไม่ตั้ง และนายกฯน่าจะพิจารณาเอาคนใหม่ๆ เข้ามาทำหน้าที่แทนอดีตนายทหารคนนี้”
คอลีเยาะ ยังเห็นว่า การกลับมามีบทบาทใหม่อีกครั้งของ พล.อ.พัลลภ จะก่อผลกระทบทางความรู้สึกของคนในพื้นที่แน่นอน เนื่องจาก 7-8 ปีที่ผ่านมา คนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์กรือเซะยังไม่ได้ความเป็นธรรมอะไรเลย ตอนนี้ทุกคนยังรู้สึกไม่ดี หาก พล.อ.พัลลภ กลับมาจะถูกต่อต้านแน่ และอุณหภูมิความขัดแย้งก็จะสูงขึ้น
“คนในพื้นที่สามจังหวัดอยากเห็นสิ่งดีๆ สิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นบ้าง อย่างน้อยก็ควรคัดเลือกบุคคลที่ไม่เคยสร้างปัญหามาทำงาน ทุกวันนี้ชายแดนใต้มีปัญหามากมายที่รอการแก้ไข และคนในพื้นที่ก็ล้วนคาดหวังกับนายกฯหญิงว่าจะทำให้เกิดสิ่งดีๆ ขึ้นได้ ฉะนั้นนายกฯควรคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมเข้ามาทำงาน ไม่ใช่เอาคนที่เคยสร้างปัญหามาซ้ำเติมสถานการณ์”
คอลีเยาะ ยังเล่าถึงชีวิตในวันนี้ของครอบครัวผู้สูญเสียจากเหตุการณ์กรือเซะกว่า 100 ชีวิตว่า แม้เหตุการณ์จะผ่านมาเกือบ 8 ปีแล้ว แต่ทุกคนก็ยังลำบากเหมือนเดิม ไม่เคยได้รับสิ่งที่เรียกร้อง หลายคนจึงรู้สึกท้อและเลือกหันหลังให้กับหน่วยงานรัฐ ใช้ชีวิตไปตามอัตภาพ ลำบากอย่างไรก็ต้องทน
“เท่าที่ทราบทุกคนเริ่มเบื่อกับสิ่งที่เรียกร้องมาหลายปี แต่ไม่บังเกิดผลใดๆ หลายคนจึงเลือกหันหลังให้กับกระบวนการยุติธรรม และใช้ชีวิตไปตามอัตภาพ ฉันเองก็เหมือนกัน เราเป็นแค่ผู้หญิงธรรมดาที่ต้องการเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับครอบครัวและพ่อที่ต้องจบชีวิตลง” คอลีเยาะ กล่าว
ขณะที่ แอเสาะ สารี จากบ้านแม่กัง ต.ควนโนรี อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ผู้สูญเสียสามีจากเหตุการณ์กรือเซะ กล่าวว่า ถ้า พ.อ.พัลลภ ได้เข้าไปมีตำแหน่งใน กอ.รมน.จริง คงรู้สึกเศร้ากว่าเดิม เพราะอดีตนายทหารรายนี้กระทำความผิดเอาไว้ แต่กลับสามารถรับตำแหน่งสำคัญดูแลพื้นที่ชายแดนใต้ได้อีก ไม่รู้ว่ารัฐบาลคิดอะไรอยู่ หรือม่สนใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับผู้สูญเสีย
“การส่งคนแบบนี้ลงมาทำงานเป็นการตอกย้ำฝันร้ายของชาวบ้านทั้งๆ ที่อยากจะลืม คนของเราไม่ได้ทำความผิดแต่กลับต้องตาย ส่วนคนที่สั่งการกลับได้ดี มันไม่ยุติธรรมเลย คดีความก็ยังกำกวมไม่มีความชัดเจน เรายังไม่ได้รับความกระจ่างและรู้สึกไม่ดีกับข้อกล่าวหาที่ว่าเป็นผู้ก่อการ” แอเสาะ กล่าว
ด้าน แยนะ สะแลแม ผู้ที่ลูกชายถูกจับกุมดำเนินคดีในเหตุการณ์ตากใบ (เหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส และเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุม ทำให้มีผู้เสียชีวิต 85 ราย) บอกว่า ไม่ได้คาดหวังอะไรกับรัฐบาลชุดนี้ เพราะไม่มีความจริงใจ และไม่ได้หวังว่าจะเข้ามาแก้ปัญหา
“เรื่องที่เขาจะเอาคนที่เคยสร้างปัญหาในพื้นที่เข้ามาทำงาน ก็เป็นสิทธิ์ของรัฐบาลที่จะทำ เราเป็นแค่ชาวบ้านจะทำอะไรได้ เงียบดีกว่า” แยนะ กล่าว
อังคณา นีละไพจิตร ประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ มองว่า ท่าทีของ พล.อ.พัลลภ เป็นการทวงบุญคุณ ขณะที่พรรคเพื่อไทยก็ต้องตอบแทน แต่มันจะกลายเป็นการสร้างเงื่อนไขในพื้นที่อีก เพราะปัญหาที่ทำมาในอดีตยังไม่ได้สะสาง แล้วจะตอบพี่น้องประชาชนได้อย่างไร
“เหตุการณ์กรือเซะเกิดขึ้นมานานกว่า 7 ปีแต่ก็ยังหาคนรับผิดชอบไม่ได้ แทนที่จะส่งคนที่ชาวบ้านไว้วางใจมาทำงาน แต่กลับพยายามเลือกเอาคนที่ชาวบ้านมีความรู้สึกว่าคนนี้แหละที่ทำให้เกิดปัญหาเข้ามาทำงาน และส่งมาครบเลย ไม่ใช่แค่คนนี้คนเดียว รัฐบาลไม่ได้คิดเลยว่าชาวบ้านจะคิดอย่างไร หาคนที่ดีกว่านี้ไม่ได้แล้วหรือ”
อังคณา ยังแสดงความผิดหวังกับนโยบายดับไฟใต้ของรัฐบาลที่มีเพียงไม่กี่บรรทัด ทั้งๆ ที่เป็นนโยบายที่ใช้งบประมาณจำนวนมหาศาล แล้วอย่างนี้จะให้ชาวบ้านมีความหวังได้อย่างไร
“นโยบายที่รัฐบาลแถลงก็ไม่เป็นรูปธรรม หาความจริงใจไม่ได้เลย ทั้งๆ ที่ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่เกิดขึ้นร้ายแรงที่สุดในสมัยที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี วันนี้พรรคเพื่อไทยหรืออดีตพรรคไทยรักไทยกลับมาเป็นรัฐบาล นายกฯก็เป็นน้องสาวของ พ.ต.ท. ทักษิณ ควรกลับมาสร้างความปรองดองและความสามัคคีมากกว่า ซึ่งความปรองดองจะเกิดไม่ได้ถ้าไม่ได้สร้างความเป็นธรรมก่อน และควรมีการเยียวยาทางความรู้สึกอย่างจริงจัง อย่างน้อยก็ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าได้รับความยุติธรรม ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุด” อังคณา กล่าว
แต่ดูเหมือนรัฐบาลจะยังไม่ได้เริ่มต้นในสิ่งที่ชาวบ้านเรียกร้องต้องการเลยด้วยซ้ำ...
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
- รัฐจะดับไฟใต้ด้วยการตั้ง พล.อ.พัลลภ คุม กอ.รมน.หรือ?
- Government's insensivity towards unrest problem in deep South