ชาวบ้าน 5 จังหวัด จี้ ‘บิ๊กตู่’ สั่งสถาบันนิติฯ-ม.รังสิต หาสาเหตุคนป่วยรอบเหมืองทอง
ชาวบ้าน 5 จังหวัด จี้นายกฯ เร่งคำสั่งตั้งสถาบันนิติวิทยาศาสตร์- ม.รังสิต เป็นหน่วยงานกลางตรวจหาสาเหตุคนป่วยรอบเหมืองทอง ค้านควบรวม กสม.เข้ากับผู้ตรวจการฯ ระบุ ปชช.เสียประโยชน์
วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2558 ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ตัวแทนชาวบ้าน 40 คน จาก 5 จังหวัด ได้แก่ พิจิตร สระบุรี ลพบุรี เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก นำโดยนางวันเพ็ญ พรมรังสรรค์ เข้ายื่นหนังสือถึง พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องให้มีคำสั่งด่วนที่สุดแต่งตั้งให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์และมหาวิทยาลัยรังสิต ลงตรวจประชาชน 3 จังหวัดรอบเหมืองทองคำ ราว 6,000คน ในฐานะหน่วยงานกลาง ตามที่เคยยื่นหนังสือมาก่อนหน้านี้
นางวันเพ็ญ พรมรังสรรค์ เเกนนำชาวบ้าน กล่าวว่า ผลตรวจเลือดที่ผ่านมาพบว่า เกิดความเสียหายของดีเอ็นเอ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และชาวบ้านต้องใช้ชีวิตรวมอยู่กับสารโลหะหนักเหล่านั้น โดยที่ยังไม่มีการแก้ไข จึงขอความเห็นใจให้นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งอย่างเร่งด่วนตั้งหน่วยงานกลางเข้าไปตรวจสอบ เพราะมิฉะนั้นชาวบ้านจะต้องเอาชีวิตไปเสี่ยงกับสารโลหะหนัก ซึ่งการลงพื้นที่ของเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขยังไม่มีข้อสรุปใด ๆ ทั้งนี้ ได้มีการดำเนินการในขั้นพื้นฐานเเล้ว
สำหรับข้อเรียกร้องมี 4 ข้อ ดังนี้
1.ขอให้มีคำสั่งด่วนที่สุด สั่งการให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และมหาวิทยาลัยรังสิต ทำการตรวจพิสูจน์ประชาชนราว6,000 คน และพื้นที่ทั้งหมดรอบเหมืองแร่ทองคำในจังหวัด พิจิตร เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก ตามที่เคยร้องมาแล้วในฐานะหน่วยงานกลาง อ้างถึงหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 19 มกราคม 2558
2.ขอคัดค้านการยุบรวมสำนักงานการยุบควบรวมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กับสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เนื่องจาก 2 องค์กรนี้มีวิธีการดำเนินงาน และปฏิบัติงานแตกต่างกัน อันจะนำมาซึ่งการกระทบต่อประสิทธิภาพขององค์กร สุดท้ายจะเป็นการเสียประโยชน์ของประชาชน
3.ขอให้ตรวจสอบทบทวนการเอาที่ดินคืนจากประชาชน อ้างว่าเพื่ออนุรักษ์เป็นทรัพยากรของประเทศ แต่พบว่า มีการไปมอบให้บริษัทฯ เข้าสำรวจขุดเจาะแร่ทองคำ และเป็นการครอบครองสิทธิ ภายใต้สิทธิคำขออาชญาบัตรพิเศษ เพื่อเตรียมสัมปทานอันเป็นผิดวัตถุประสงค์ และเป็นการหลอกลวงประชาชนให้ออกจากที่ดินตัวเอง เพราะอยู่อาศัยทำกินมาก่อนหน้าแล้วหลายสิบปี
4.ขอให้พิจารณาชะลอการอนุมัติสัมปทานทรัพยากรแร่ทองคำ แร่โพแทช และแร่ต่าง ๆ ทุกชนิด เนื่องจากทรัพยากรทุกชนิดเป็นสิทธิของประชาชน การนำสิทธิสัมปทานตามพระราชบัญญัติแร่ เพื่อนำมาพัฒนาประเทศ เป็นการละเมิดสิทธิของประชาชนอย่างร้ายแรงในการบริหารจัดการเพราะสิทธิในที่ดินและสิทธิในทรัพยากรเป็นสิทธิของประชาชน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน ตัวแทนชาวบ้าน ทั้ง 5 จังหวัด จะเข้ายื่นหนังสือต่อ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ณ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และเข้าให้กำลังใจต่อนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ณ สำนักงาน กสม. ด้วย .