เลิกดอง กองทุนเงินออมฯ ภาคประชาชน ชี้รบ.จริงใจรีบผลักดัน
ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยจี้รัฐบาลเลิกดองกองทุนการออมแห่งชาติ ชี้หากปฏิรูปด้วยความจริงใจต้องผลักดันกฎหมายภาคประชาชน
หลังมีกระแสข่าว วันอังคารที่ 18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จะมีการนำเรื่องกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เข้าประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่ปรากฎว่า ที่ประชุมครม.ไม่มีการพิจารณาเรื่องดังกล่าว หลังร่างพระราชบัญญัติกองทุนเงินออมแห่งชาติ ได้ประกาศใช้เป็นกฎหมายไปแล้วตั้งแต่ปี 2554 แต่ยังไม่มีการนำไปปฏิบัติ และเปิดรับสมาชิกนั้น
นางวิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (ครสท.) กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา ถึงความยืดเยื้อเรื่องการผลักดันเดินหน้ากองทุนการออมแห่งชาติเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า ทางเครือข่ายต่อสู้เรื่องนี้มาจนกฎหมายผ่านในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และก็หวังเสมอว่า กฎหมายฉบับนี้จะถูกขับเคลื่อนออกมาเร็ว โดยเฉพาะในรัฐบาลที่อยู่ในสถานการณ์เปลี่ยนผ่าน
"เข้าใจว่าช่วงนี้คือช่วงของการปฏิรูปในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกฎหมาย กอช.คือกฎหมาย และเป็นกองทุนที่จะมาสร้างหลักประกันให้กับกลุ่มแรงงานนอกระบบทำให้ประชาชนที่อยากออมเงินได้มีเงินออม หากรัฐบาลเห็นความสำคัญมีความจริงใจและตั้งใจที่จะผลักดันกฎหมายนี้ก็จะต้องรีบทำให้เกิดขึ้น" นางวิไลวรรณ กล่าว และตั้งความหวังว่ากฎหมายดีๆที่เกิดจากภาคประชาชนจะเกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลที่มีการเปลี่ยนผ่าน มีความหวังกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีความหวังกับรองนายกรัฐมนตรี มีความหวังกับท่านรัฐมนตรีที่จะสนับสนุนกฎหมายของภาคประชาชน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากฎหมายฉบับนี้จะได้รับการสนับสนุนในที่สุด
นางวิไลวรรณ กล่าวด้วยว่า หากรัฐบาลชุดนี้สนับสนุนและรีบผลักดัน กอช. ก็จะเป็นผลงานของรัฐบาลชุดนี้ ที่ผ่านมาทางเครือข่ายพยายามยื่นหนังสืออยู่ตลอดเวลา เพื่อติดตามและเคลื่อนไหวให้กองทุนกอช.เดินหน้า ปัจจุบันนี้ที่ยังไม่ได้ออกมาเรียกร้องเพราะข้อจำกัดในเรื่องกฎอัยการศึก อีกทั้งรัฐบาลอยากให้ใช้วิธีการเจรจามากกว่า
"ภาคประชาชนอยากให้รัฐบาลและผู้มีอำนาจตัดสินใจให้ความสำคัญหากตั้งใจจะเปลี่ยนแปลงและปฏิรูปประเทศ เพราะกองทุน กอช.นี้จะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนมีผลต่อส่วนรวมและสร้างให้คนในชาติมีหลักประกันในอนาคต"
ด้านนายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (ครสท.) กล่าวถึงการรอลุ้น กองทุนการออมแห่งชาติว่า จะเข้าครม.เมื่อไหร่นั้น สาเหตุอาจจะมาจากตัวเรื่องของกฎหมายที่ยังมีความไม่แน่ใจ หรือหากเรื่องดังกล่าวยังไม่ได้รับการผลักดันเข้าครม.อาจเป็นเพราะมุมมองของผู้มีอำนาจตัดสินใจซึ่งคงมองมุมที่แตกต่างกัน หากผู้มีอำนาจในการตัดสินใจเห็นว่ากองทุนการออมแห่งชาติเป็นประโยชน์กับประชาชนเขาก็จะต้องเร่งผลักดัน แต่หากมองในมุมที่ไม่มีประโยชน์ เรื่องนี้ก็คงจะแช่ต่อไป
“อย่างไรก็ตามพวกเรายังติดตามเรื่องนี้และทวงถามถึงการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ไม่มีทางจะนิ่งเฉยหรือปล่อยให้เรื่องนี้เงียบอย่างแน่นอน ถ้ายังไม่มีการนำเข้าครม.คงจะต้องมีการเข้าไปทวงถามอย่างแน่นอน”
ขอบคุณภาพจากwww.hfocus.org