กมธ.ยกร่างฯ ยัน กม.5 ฉบับ ปฏิรูปสื่อฯ เขียนไว้หมวดสิทธิเสรีภาพแล้ว
ปฏิรูปสื่อมวลชน กมธ.ยกร่างฯ ไม่เห็นด้วย เขียนไว้ในส่วนปฏิรูป ระบุเขียนไว้ชัดเจนแล้วในส่วนเสรีภาพสื่อฯ มาตรา 49, 50, 51 นำไปออก กม.ได้เลย
เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2558 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ วาระพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา เป็นวันที่ 18 โดยยังคงอยู่ในภาค 4 ว่าด้วยการปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง หมวด2 ว่าด้วยการปฏิรูปด้านต่าง ๆ
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาในส่วนที่ 8 ว่าด้วยการปฏิรูปการสื่อสารมวลชน ซึ่งข้อเท็จจริง คือ กมธ.ปฏิรูปสื่อสารมวลชนได้รับเรื่องกลับไปหารือจะบรรจุกฎหมายใดบ้างในส่วนการปฏิรูป และได้เสนอไปทั้งหมด 5 ฉบับ ตามที่มีการนำเสนอข่าว เพราะต้องการชี้ให้เห็นถึงเจตนารมณ์ที่ชัดเจนในการปฏิรูปสื่อฯ ครั้งนี้
อย่างไรก็ตาม เมื่อ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญพิจารณา กลับเห็นว่า กฎหมายที่เสนอมาไม่จำเป็นต้องเขียนไว้ใน ส่วนปฏิรูปอีกแล้ว เพราะได้เขียนไว้ชัดเจนในส่วนเสรีภาพสื่อมวลชน ร่าง รธน. มาตรา 49, 50 และ 51 ซึ่งสามารถนำไปออกกฎหมายได้เลย
สำหรับ ร่างรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชน ซึ่งปรากฏไว้ในรัฐธรรมนูญ มีดังต่อไปนี้
1.มาตรา 49 วรรค 5 เจ้าของกิจการสื่อมวลชนต้องเป็นพลเมือง และพลเมืองไม่อาจเป็นเจ้าของกิจการสื่อมวลชนหรือผู้ถือหุ้น ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม หลายกิจการ ในลักษณะที่อาจมีผลเป็นการครอบงำ ผูกขาดการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร หรือความคิดเห็น ต่อสังคม หรือมีผลเป็นการขัดขวางเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร หรือปิดกั้นการได้รับข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายของประชาชน ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
2.มาตรา 51 วรรค4 เจ้าของกิจการตามาตรานี้ ต้องเป็นพลเมือง และต้องไม่ดำเนินการในลักษณะที่อาจมีผลตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 49 ด้วย ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
3. ร่างมาตรา 49 วรรค7 รัฐจะให้เงินหรือทรัพย์สินอื่นหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดเพื่ออุดหนุนกิจการสื่อมวลชนของเอกชนมิได้ การซื้อโฆษณาหรือบริการอื่นจากสื่อมวลชนโดยรัฐ จะกระทำได้ก็แต่เฉพาะโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่กำหนดขึ้นเพื่อการนั้น
4.ร่างมาตรา 50 วรรค4 ให้มีกฎหมายจัดตั้งองค์การวิชาชีพสื่อมวลชนซึ่งประกอบด้วยบุคคลในวิชาชีพ เพื่อคุ้มครองสวัสดิการของบุคคลตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ปกป้องเสรีภาพและความเป็นอิสระของสื่อมวลชนตามาตรา 49 ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานแห่งวิชาชีพ และพิจารณาคำร้องขอความเป็นธรรมของผู้ซึ่งได้รับผลกระทบจากการใช้เสรีภาพตามมาตรา 49 แต่ไม่ตัดสิทธิผู้นั้นที่จะฟ้องคดีต่อศาล
5. ร่างมาตรา 51วรรค2 ให้มีองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระองค์กรหนึ่งทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ตามวรรคหนึ่งและกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม โดยต้องคำนึงถึงความมั่นคงของรัฐประโยชน์สูงสุดของประชาชนในระดับชาติและระดับท้องถิ่น คำนึงถึงบุคคลด้อยโอกาส ทั้งในด้านการศึกษา วัฒนธรรม และ ประโยชน์สาธารณะอื่น รวมทั้งต้องจัดให้ภาคประชาชนและชุมชนท้องถิ่นสามารถเข้าถึงและมีส่วนร่วมในการดำเนินการสื่อมวลชนสาธารณะ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ .