ก.ศป.ลงมติ9ต่อ2 ตั้งกก.สอบ"หัสวุฒิ" คดีจม.น้อย ชี้ชะตาพ้นตำแหน่ง
ก.ศป.ลงมติ 9 ต่อ 2 เสียง เห็นว่าข้อกล่าวหาคดีจดหมายน้อยฝาก "ตร." มีมูลว่าอาจกระทำผิดวินัย ถึงขั้นให้ตุลาการศาลปกครองพ้นตำแหน่ง สั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามระเบียบ เผยชื่อ "วีรวิทย์-วรพจน์" เสียงข้างน้อย
จากกรณีคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง(ก.ศป.) มีนัดหมายประชุมในช่วงบ่ายวันที่ 18 ก.พ.58 ซึ่งมีวาระสำคัญ คือ การพิจารณาผลการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณี นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม เลขาธิการศาลปกครองได้ทำบันทึกส่วนตัวหรือ "จดหมายน้อย" 2 ฉบับถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) และรอง ผบ.ตร. 2 โดยอ้างว่า นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด มีความประสงค์สนับสนุนนายตำรวจยศ พ.ต.ท. ซึ่งเป็นเพื่อนกับหลานชายให้ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้กำกับการ ทั้งนี้คาดว่า ก.ศป.จะลงมติอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งผลต่อตำแหน่งหน้าที่ของนายหัสวุฒิ ในฐานะประมุขของศาลปกครอง นั้น
(อ่านประกอบ : ก.ศป.ชี้ชะตา "หัสวุฒิ" คดี จม.น้อย "รอด-ถูกพักราชการ"?)
ในช่วงหัวค่ำวันที่ 18 ก.พ.58 แหล่งข่าวจากสำนักงานศาลปกครอง เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงผลการประชุม ก.ศป. ว่า ในการประชุม ก.ศป.ครั้งนี้ กรรมการ ก.ศป. เข้าร่วมประชุมครบจำนวน 13 คน เมื่อถึงวาระการพิจารณากรณีจดหมายน้อย นายหัสวุฒิ ประธานได้ออกจากห้องประชุมไป ทำให้เหลือกรรมการ 12 ราย
แหล่งข่าวกล่าวว่า ที่ประชุมได้มีการถกเถียงกันถึงผลสอบข้อเท็จจริงเรื่องจดหมายน้อย ก่อนจะมีมติ 9 ต่อ 2 เสียง เห็นว่าข้อกล่าวหามีมูลว่าอาจจะกระทำผิดวินัย ถึงขั้นที่จะให้ตุลาการศาลปกครองพ้นตำแหน่ง จึงเห็นสมควรให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อดำเนินการเรื่องนี้ (เทียบเท่ากับการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยของข้าราชการ) ตามระเบียบ ก.ศป.ว่าด้วยวิธีการสอบสวนและสิทธิของตุลาการศาลปกครองซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีเหตุให้ต้องพ้นจากตำแหน่ง พ.ศ.2544 ข้อ 6 ( 4) จำนวน 5 คน ประกอบไปด้วย ตุลาการศาลปกครองสูงสุดซึ่งมีตำแหน่งไม่ต่ำกว่ากว่าหัวหน้าคณะ เป็นประธานกรรมการ ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุดที่ จำนวน 3 คน และกรรมการข้าราชการพลเรือนตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนซึ่งได้รับแต่งตั้งจาก คณะกรรมการพลเรือน 1 คน เป็นกรรมการ
สำหรับ ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด ที่สามารถทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการสอบสวนได้ ประกอบไปด้วย นายวรพจน์ วิศรุตพิชญ์ นายไพบูลย์ เสียงก้อง นายวิษณุ วรัญญู นายชาญชัย แสวงศักดิ์ นายเกษม คมสัตย์ธรรม และนายนพดล เฮงเจริญ
แต่นายนพดล เฮงเจริญ ทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงไปแล้ว จึงไม่สามารถทำหน้าเป็นประธานได้
ส่วนกรรมการ ก.ศป.จำนวน 2 เสียง ที่เห็นสมควรให้ยุติเรื่อง คือ นายวีรวิทย์ วิวัฒนวานิช อดีตผู้ว่าราชการ จ.น่าน และนายวรพจน์ วิศรุตพิชญ์ ตุลาการศาลปกครอง
ส่วนนายนพดล เฮงเจริญ ในฐานะประธานคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงคดีนี้งดออกเสียง
กรรมการ ก.ศป. 9 เสียง ที่เห็นว่าข้อกล่าวหามีมูลว่าอาจจะกระทำผิดวินัย ถึงขั้นที่จะให้ตุลาการศาลปกครองพ้นตำแหน่ง ประกอบไปด้วย นายอุดม รัฐอมฤต รองอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ นาย มนูญ ปุญญกริยากร ตุลาการศาลปกครองสูงสุด นายวิษณุ วรัญญู ตุลาการหัวหน้าคณะในศาลปกครองสูงสุด นายกู้เกียรติ สุนทรบุระ ก.ศป.ผู้ทรงคุณวุฒิ (ครม.เสนอชื่อ) นายชาญชัย แสวงศักดิ์ นายสมชาย งามวงศ์ชน นายพัลลภ รัตนจันทรา นางสิริกาญจน์ พานพิทักษ์ และนายเกียรติภูมิ แสงศศิธร
แหล่งข่าวกล่าวว่า นอกจากนั้น ที่ประชุม ยังได้มีการถกเถียงเรื่องการสั่งพักราชการของนายหัสวุฒิ ระหว่างถูกสอบสวน แต่ยังไม่ได้ข้อยุติ เนื่องจากตามระเบียบ ก.ศป.ว่าด้วยวิธีการสอบสวนและสิทธิของตุลาการศาลปกครองซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีเหตุให้ต้องพ้นจากตำแหน่ง พ.ศ.2544 ข้อ 12 ระบุว่า ก่อนการสอบสวน ให้คณะกรรมการสอบสวนประชุมกำหนดแนวทางการสอบสวน และให้เสนอความเห็นต่อ ก.ศป. ว่า สมควรจะสั่งพักราชการตุลาการศาลปกครองผู้ถูกล่าวหาเพื่อมิให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการต่อไปอันจะเป็นการเสียหายแก่ราชการหรือไม่
ถ้า ก.ศป.เห็นว่าสมควรสั่งพักราชการตุลาการศาลปกครองผู้ถูกกล่าวหา ก็ให้สั่งให้พักตลอดเวลาที่คณะกรรมการสอบสวนทำการสอบสวน หรือจนกว่า ก.ศป.จะพิจารณากรณีที่ตุลาการศาลปกครองถูกกล่าวหาแล้วเสร็จ
ส่วนการสอบสวนนั้น ข้อ 11 ให้คณะกรรมการสอบสวนดำเนินการสอบสวนให้เสร็จโดยเร็ว แต่ต้องไม่เกินสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งจาก ก.ศป. ถ้ามีความจำเป็นไม่อาจสอบสวนได้ทันภายในกำหนดเวลานั้น ให้ขยายเวลาออกไปได้ไม่เกินสองครั้ง ครั้งละไม่เกินสิบห้าวัน รวมระยะเวลาทั้งหมด 2 เดือน
รายงานข่าวแจ้งว่า ส่วนการประเมินผลการทำงานของ นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม เลขาธิการศาลปกครอง ก.ศป.ยังไม่ได้มีการพิจารณา เนื่องจากมีเวลาไม่พอ
ก่อนหน้านี้ แหล่งข่าวจากสำนักงานศาลปกครอง เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา ว่า ในการประชุม ก.ศป. ครั้งนี้ นายหัสวุฒิ ได้บรรจุวาระการพิจารณาเรื่องต่างๆ จำนวนมากกว่า 20-30 เรื่อง เข้ามาการพิจารณาของ ก.ศป.ครั้งนี้ด้วย จึงไม่ทราบว่าระยะเวลาในการพิจารณาเรื่องต่างๆ จะกระทบกับการพิจารณาวาระผลการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีจดหมายน้อยดังกล่าวหรือไม่
แหล่งข่าวกล่าวว่า นอกเหนือจากการพิจารณาวาระเรื่องจดหมายน้อยแล้ว ก.ศป.มีวาระพิจารณาเรื่องการประเมินผลการทำงานของ นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม เลขาธิการศาลปกครอง ด้วย อย่างไรก็ตาม นายดิเรกฤทธิ์ ได้จัดทำเอกสารชี้แจงต่อ ก.ศป.ยืนยันว่า อำนาจในการประเมินผลการทำงานของตนเอง เป็นอำนาจเป็นประธานศาลปกครองสูงสุด ไม่ใช่อำนาจของ ก.ศป.
แหล่งข่าว ยังระบุด้วยว่า ส่วนกรณีที่ในช่วงเดือนม.ค.ที่ผ่านมา ตุลาการศาลชั้นต้นจำนวนกว่า 70 คน ได้ลงชื่อทำหนังสือร้องเรียนต่อ ก.ศป.ว่า นายหัสวุฒิ มีพฤติการณ์การกระทำที่ส่อว่าจะทำผิดจริยธรรมและวินัยหลายเรื่อง และ ก.ศป. ได้พิจารณาข้อร้องเรียนดังกล่าว ก่อนจะมีมติให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนข้อเท็จจริง โดยมีองค์คณะตุลาการศาลปกครองสูงสุด จำนวน 3 คน ประกอบไปด้วย นายสมชาย งามวงศ์ชน นายวราวุธ ศิริยุทธ์วัฒนา และ นายสุเมธ รอยกุลเจริญ ปรากฎว่ามีเรื่องหนึ่งไปพาดพิงถึงข้าราชการสตรีรายหนึ่ง ที่ทำงานใกล้ชิดกับนายหัสวุฒิ ทำให้ข้าราชการสตรีรายนี้ ไปยื่นฟ้องคดีอาญากับ ก.ศป. จำนวน 8 ราย ในข้อหาหมิ่นประมาท
อย่างไรก็ตาม ศาลอาญาได้พิจารณาคำฟ้องและเห็นสมควรให้ยกฟ้องคดีนี้ไปแล้ว