หวั่นขัดแย้งบานปลาย กสม.ขอปตท.หยุดขุดวางท่อก๊าซชั่วคราว
หวั่นบานปลายเหตุโคลนเทียมผุดหลังปตท.เจาะวางท่อก๊าซ กรรมการสิทธิมนุษยชนชี้ปตท.ต้องหยุดดำเนินการชั่วคราว จนกว่าจะเจรจาแล้วเสร็จ ย้ำไม่มีการแก้ปัญหาใดแก้ได้บนความขัดแย้ง
สืบเนื่องจากชาวจังหวัดปราจีนบุรีและพระนครศรีอยุธยารวมตัวกันร้องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ขอความเป็นธรรมกรณีการขุดเจาะวางท่อก๊าซของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จึงเชิญทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ ปตท. กัลฟ์ และผู้เสียหาย เข้ามาทำการชี้แจงรายละเอียด
โดยวันที่17 กุมภาพันธ์ 2558 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านจังหวัดปราจีนบุรีและพระนครศรีอยุธยาเข้าชี้แจงต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพื่อขอความเป็นธรรมกรณีการขุดเจาะวางท่อก๊าซของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ณ ห้อง 709 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ
นางสุพิชญา กลิ่นภู่ เจ้าของสวนกล้วยไม้ อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวถึงการขุดเจาะท่อก๊าซของปตท.ทำให้พื้นที่สวนกล้วยไม้จำนวน 23 ไร่ ได้รับผลกระทบจากการที่โคลนเทียมทะลักและทำให้เกิดความเสียหายเป็นมูลค่า 40 ล้านบาท ที่สำคัญไปกว่านั้นนโยบายในการวางท่อก๊าซยังดำเนินการผิดเส้นทาง คือ วางท่อผิดเกินเข้ามาในพื้นที่ที่ไม่ได้เป็นที่รอนสิทธิ์ประมาณ 10 เมตร และมีการรื้อท่อออกแล้วใส่สารเบนโทไนต์อัดเข้าไป ซึ่งไม่ทราบว่า นโยบายระดับชาติทำไมดำเนินการผิดพลาดและไม่แจ้งว่าผลกระทบจะเกิดขึ้นได้อย่างไร
“สิ่งที่ต้องการคืออยากให้มีคนรับผิดชอบ ปตท.ก็ต้องรับผิดชอบในส่วนที่ทำให้กล้วยไม้เสียหาย ทำให้เราไม่สามารถส่งกล้วยไม้ออกไปต่างประเทศได้เป็นจำนวนเงิน 40 ล้านบาท ที่ผ่านมาไม่เคยมีการพูดคุยไม่เคยเข้ามาดูแล เมื่อมีปัญหาชาวบ้านแทบไม่รู้ว่าจะต้องไปร้องเรียนที่ไหนใครที่จะช่วยเราได้”
ขณะที่ตัวแทนชาวบ้านตำบลดงขี้เหล็ก อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี กล่าวว่า ค่าชดเชยที่ได้รับมาก่อนหน้านี้นั้นไม่คุ้มค่ากับการสูญเสียโอกาสในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา พื้นที่รอนสิทธิ์ไม่สามารถนำไปทำธุรกรรมจำนองกับทางธนาคารได้ เรามีที่ดินแต่ที่ดินไม่สามารถทำอะไรได้ แล้วพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่การเกษตรที่ใช้ทำมาหากินทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก
"ที่ผ่านมาไม่เคยทราบเลยว่า ถ้าไม่เห็นด้วยกับปตท.ในข้อเสนอให้ร้องศาลได้ภายใน 30 วัน ข้อมูลตรงนี้ไม่เคยทราบ ดังนั้นเราอยากได้รับความเป็นธรรมในส่วนค่าชดเชยที่เหมาะสม"
ด้านนพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนได้ทำหนังสือให้ปตท.ยุติการขุดเจาะท่อก๊าซ เพราะตระหนักดีถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ที่เกิดจากความไม่เข้าใจกัน ความเดือนร้อนของชาวบ้านจากโครงการวางท่อก๊าซ เมื่อเป็นเช่นนั้น ทางกสม.มีความระมัดระวังและเอาใจใส่ เพื่อที่จะไม่ให้ความขัดแย้งขยายเป็นความรุนแรงในพื้นที่และเกิดการบานปลายจึงจำเป็นต้องขอให้ปตท.ยุติการขุดเจาะท่อก๊าซไปก่อน
"และขอบคุณที่ปตท.เปิดการเจรจากับชาวบ้านเพราะนี่เป็นวิธีการที่ถูกต้อง การทำอะไรแล้วมีความขัดแย้งหวังจะเอาชนะอย่างเดียวไม่มีทางสำเร็จในบ้านนี้เมืองนี้" นพ.นิรันดร์ กล่าว และฝากคำถามที่ปตท.ต้องเอามาตอบ คือ โครงการต่างๆไม่ว่าจะของรัฐหรือเอกชนจะต้องมีการศึกษาผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมสุขภาพก่อนที่จะมีการดำเนินโครงการ หากผลการศึกษาดังกล่าวที่ปตท.เคยศึกษาไปแล้วตอบไม่ได้ว่าโครงการนี้หากผ่านในพื้นที่ของชาวบ้านจะสร้างผลกระทบอย่างไร ส่งผลต่อการทำมาหากิน ความเป็นอยู่ หรือทรัพยากรอะไรบ้าง เพื่อที่ชาวบ้านจะได้รู้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น หากการศึกษาดังกล่าวบอกรายละเอียดแต่ผิดข้อมูล หรือบอกข้อมูลไม่ครบถ้วน นั่นถือว่าผลการศึกษาดังกล่าวใช้ไม่ได้ และที่สำคัญคืออาจจะต้องตั้งคณะกรรมการเข้าไปดูแลค่าชดเชยและฟื้นฟูพื้นที่ให้กับชาวบ้านด้วย